...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โครงการศึกษาด้านขยายศักยภาพเพื่อเป็น HUB การท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกในอาเซียน ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐

๑. ชื่อโครงการ

โครงการศึกษาด้านขยายศักยภาพเพื่อเป็น HUB การท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกในอาเซียน

๒. วัตถุประสงค์

          เพื่อผลักดันให้เกิดเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และต่อยอดวิสัยทัศน์ผู้เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงมรดกโลกสุโขทัยสู่มรดกโลกอาเซียน

๓. กำหนดเวลา

          ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐

๔. สถานที่

          ๔.๑ ราชอาณาจักรกัมพูชา

                   ประกอบด้วย ตลาดพื้นเมืองซาจ๊ะ ปราสาทบายนและเมืองนครธม ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันทายศรี ปราสาทนครวัด โตนเลสาบ และ Angkor National Museum

          ๔.๒ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

                    ประกอบด้วย เมืองมรดกโลกฮอยอัน มรดกโลกโบราณสถานมีเซิน และมรดกโลกพระราชวังเว้

๕. หน่วยงานผู้จัด

          สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.๔)

๖. หน่วยงานสนับสนุน -

๗. กิจกรรม

“การเดินทางหารือทวิภาคี ประชุมและ FAMTRIP เส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงมรดกโลกอาเซียน” โดยศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยว โบราณสถานและเมืองโบราณ กับเจ้าหน้าที่ของ APSARA Authority ราชอาณาจักรกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ของ Hoi An Department of Commerce and Tourism สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

๘. คณะผู้แทนไทย

          ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย ผู้แทนสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสุโขทัย ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่พักในจังหวัดสุโขทัย ผู้แทนตำรวจท่องเที่ยว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย และเจ้าหน้าที่จาก อพท.๔ รวมจำนวน ๓๐ คน

๙. สรุปสาระของกิจกรรม :

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐(อพท.๔-กรุงเทพฯ-เสียมราฐ-ตลาดซาจ๊ะ-ชมการแสดงระบำอัปสรา)

เวลา ๐๔.๐๐ น. คณะพร้อมกันออกเดินทางโดยรถบัสจากสำนักงานพื้นที่ อพท.๔ ถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

เวลา ๑๓.๓๐ น. ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ เที่ยวบินที่ FD๖๑๐  พร้อมรับประทานอาหารกลางวันบนเครื่องบิน

เวลา ๑๔.๓๐ น. เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ออกเดินทางสู่เมืองเสียมราฐ

          เวลา ๑๕.๓๐ น. เนื่องจากมีฝนตกหนักจึงได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางศึกษาดูงานจากเดิมซึ่งกำหนดการเดินทางไปยังโตนเลสาบ ล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวประมง เปลี่ยนไปทำบัตรเข้าชมเมืองมรดกโลกพระนคร และเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวเสียมราฐ บริเวณตลาดซาจ๊ะ ซึ่งเป็นตลาดพื้นเมืองมีชาวเสียมราฐออกมาจับจ่ายซื้อของกันเป็นจำนวนมากและมีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตและซื้อของที่ระลึกกลับไปจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าเป็นของพื้นเมืองและมีราคาถูก ตลาดซาจ๊ะเป็นตลาดเก่าแก่ อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกสร้างตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองอยู่ จึงสามารถเห็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปได้ในบริเวณนี้ ปัจจุบันตลาดซาจ๊ะเป็นตลาดขายของทั่วไปและของที่ระลึกที่เป็นสินค้าพื้นเมืองของประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของนักท่องเที่ยว

          เวลา ๑๙.๐๐ น. รับประทานอาหารค่ำ พร้อมกับชมการแสดงนาฏศิลป์ของกัมพูชา ซึ่งมีชุดรำที่เป็นเอกลักษณ์คือ ระบำอัปสรา เป็นการแสดงของประเทศกัมพูชาซึ่งประดิษฐ์ท่ารำจากภาพจำหลักนางอัปสรที่อยู่บนปราสาทหินในประเทศกัมพูชา และการแสดงโขนรามเกียรติ์ซึ่งมีลักษณะการแต่งกายและท่ารำคล้ายกับการแสดงโขนของไทย

          เวลา ๒๐.๐๐ น. เดินทางไปยังโรงแรมที่พัก Regency Angkor Hotel ในเมืองเสียมราฐ

วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๐(ศึกษาพื้นที่มรดกโลก ปราสาทบันทายศรี-ปราสาทบายน-ปราสาทนครวัด)

เวลา ๐๘.๐๐ น.  รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม

เวลา ๙.๐๐ น. เดินทางเยี่ยมชมปราสาทบายน วัดหลวงประจำรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปราสาทบายนเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นหลังสุดท้ายที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นบุญกุศลให้กับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เอง ในฐานะที่ทรงเป็นอวตารของพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน เนื่องด้วยพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ต่างจากกษัตริย์พระองค์ก่อนๆที่ล้วนแล้วแต่นับถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ที่สืบทอดมากกว่า ๔๐๐ ปี

ศาสนสถานที่สร้างในรัชสมัยนี้มีภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากการก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ ถึงแม้โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมยังคงเป็นเช่นเดียวกับปราสาทในรุ่นก่อนๆ แต่ได้มีการดัดแปลงรายละเอียดบางประการและมีการประดับตกแต่งตัวปราสาทด้วยประติมากรรมและลวดลายที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธแบบมหายาน จึงมีความงดงามแตกต่างและมีเอกลักษณ์เป็นแบบเฉพาะตัว ในการแบ่งยุคสมัยทางศิลปะจึงได้มีการเรียกศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ว่าศิลปะขอมแบบบายน ลักษณะเด่นของตัวปราสาทแบบบายน คือ การทำส่วนบนขององค์ปราสาทเป็นรูปหน้าบุคคลหันออกทั้งสี่ทิศ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ารูปหน้าบุคคลเหล่านี้หมายถึงผู้ใด บางท่านเห็นว่าอาจเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เอง แต่บางท่านเห็นว่าพระพักตร์ดังกล่าวอาจหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอันเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาในพุทธศาสนามหายาน บางท่านเห็นว่าอาจเป็นสนัตกุมารพรหมอันเป็นพระพรหมในพุทธศาสนามหายานก็ได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าพระพักตร์เหล่านี้ล้วนแต่มีการแสดงอารมณ์แบบเดียวกัน คือ ค่อนข้างลึกลับ ตาปิด ยิ้มมุมปากซึ่งเรียกกันโดยเฉพาะว่า ยิ้มแบบบายน ปราสาทบายนมีระเบียงคตล้อมรอบอยู่สองชั้น ผนังชั้นในมีภาพสลักเป็นเรื่องราวทางศาสนา ส่วนชั้นนอกสลักเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและสังคมในสมัยนั้น

 ออกจากปราสาทบายนเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทตาพรหม วิหารหลวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่มีภาพสลักตามคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๑๗๒๙ เพื่ออุทิศให้แก่พระราชมารดาของพระองค์ จากการสำรวจพบว่าตัวปราสาทมีสภาพพังทลายก้อนหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงสร้างตัวปราสาทถล่มลงมาทับถมกันหลายจุด แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นสะปุงแผ่รากและกิ่งก้านชอนไชเข้าไปโอบรัดก้อนหินของปราสาทจึงยังทำให้ตัวปราสาทคงรูปอยู่ได้ไม่พังทลายลงมา ต้นไม้เหล่านี้มีอายุยืนยาวนับร้อยปีและมีขนาดใหญ่โตมาก ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศแวดล้อมโบราณสถานให้ดูมีความเก่าแก่น่าเกรงขามยิ่งขึ้น

เวลา ๑๒.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคาร

เวลา ๑๓.๐๐ น. เดินทางไปยังปราสาทบันทายศรี เทวสถานขนาดเล็กแต่มีความงามเป็นเลิศทางด้านงานฝีมือการแกะสลักลวดลายที่ดูอ่อนช้อยสวยงามมาก ตั้งอยู่นอกเมืองพระนครทางด้านทิศเหนือ พิกัด ๑๓.๕๙๘๘๘๙,๑๐๓.๙๖๒๗๗๘ สร้างด้วยหินทรายสีชมพูเนื้อละเอียด จัดอยู่ในศิลปะขอมแบบบันทายศรี ในราว พ.ศ.๑๕๑๐-๑๕๕๐ พราหมณ์ยัชญวราหะ ราชครูในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ให้สร้างปราสาทบันทายสรีนี้ขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระศิวะ ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยขุนนาง แตกต่างไปจากปราสาทแห่งอื่นๆที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์เพื่ออุทิศให้กับกษัตริย์หรือบรรพบุรุษในฐานะเทพเจ้า

ปราสาทบันทายสรีเป็นปราสาทบนพื้นราบที่เรียงกันสามหลัง หลังกลางอุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนหลังข้างนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ใคร แต่มีผู้สันนิษฐานว่าอาจอุทิศให้กับพระเทวีสององค์ของพระศิวะ คือพระอุมากับพระคงคา เนื่องจากทวารบาลของปราสาททั้งสองหลังล้วนแต่เป็นนางอัปสรทั้งสิ้น

ปราสาททั้งสามหลังมีลักษณะตามแบบศิลปะพระนครตอนปลายโดยทั่วไปที่สร้างด้วยหิน อย่างไรก็ตามปราสาทยังคงเว้นประตูสามด้านไว้เป็นประตูหลอก ด้านบนของชั้นวิมานยังคงประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งแตกต่างไปจากปราสาทในศิลปะนครวัดที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นกลีบขนุน

เวลา ๑๖.๐๐ น. ชมปราสาทนครวัด  โบราณสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในเมืองมรดกโลกพระนคร  ตั้งอยู่กลางเมืองพระนคร ๑๓.๔๑๒๒๒๒,๑๐๓.๘๖๖๓๘๙ เป็นปราสาทที่มีปราสาทประธาน ๕ ยอด ก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายสร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๖๙๓ โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เพื่ออุทิศถวายแก่พระวิษณุเทพในศาสนาฮินดู และยังเชื่อกันว่าเป็นสุสานหลวงที่เก็บพระบรมศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วย ปราสาทนครวัดหันทิศทางต่างไปจากปราสาทแห่งอื่นๆ โดยถูกสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตรงข้ามกับปราสาทส่วนใหญ่ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นตามคติของศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด การก่อสร้างหมายเอาตัวปราสาทประธานเป็นเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของโลกและจักรวาล โดยมีปราสาทบริวาร โคปุระ และคูน้ำกว้างใหญ่ที่ล้อมรอบเปรียบเสมือนภูเขา แผ่นดิน และมหานทีที่ล้อมรอบศูนย์กลางจักรวาล ปราสาทนครวัดมีพื้นที่ทั้งหมดเกือบ ๒ ตารางกิโลเมตร บริเวณรอบนอกปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ ยาว ๑.๕ กิโลเมตร กว้าง ๑.๓ กิโลเมตร

เวลา ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารค่ำ ณ โรงแรมที่พัก Regency Angkor Hotel โดยมีการพบปะหารือการทำงานในการบริหารจัดการเมืองมรดกโลกระหว่าง ผู้บริหารของ อพท. ผู้บริหารในจังหวัดสุโขทัย กับเจ้าหน้าที่ APSARA Authority ซึ่งเป็นผู้แทน ๒ ท่านจากในส่วนของการท่องเที่ยวจังหวัดเสียมราฐ

APSARA Authority เป็นองค์กรทางด้านการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกเมืองพระนครของกัมพูชา มีขอบเขตในการดูแลในเขตเมืองพระนครและกลุ่มโบราณสถานใกล้เคียงอันเกี่ยวเนื่องกับเมืองพระนคร และแหล่งโบราณสถานในเขตจังหวัดเสียมราฐ APSARA ทำงานแบบเดียวกับกรมศิลปากร แต่โครงสร้างแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ในกัมพูชามีกระทรวงวัฒนธรรมที่คอยดูแลเรื่องการศึกษา วิจัย และจัดการแหล่งโบราณคดี เช่นเดียวกับกรมศิลปากรของไทย แต่ APSARA ไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงวัฒนธรรม หากขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรี เงินในการบริหารจัดการทั้งการขุดค้น วิจัย อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตุ มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของ APSARA การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาะในอำนาจความดูแลของ APSARA ยังรวมทั้งการวางแผนเพื่อพัฒนาการจัดการและการท่องเที่ยว การกำหนดทิศทางการพัฒนา บูรณะ และอนุรักษ์โบราณสถานให้กับทีมงานที่หลากหลาย รวมไปถึงข้อกำหนดในการประชุมเสนอความก้าวหน้าของแต่ละทีม จังหวัดเสียมราฐตั้งเป้าหมายทางการท่องเที่ยวไว้ว่าต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว จากปีละ ๕ ล้านคน เป็น ๗ ล้านคน การท่องเที่ยวมีความสําคัญมากในจังหวัดเสียมราฐ เนื่องจากเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างงานให้แก่ประชาชน เช่น ในเรื่องการบริการ และหัตถกรรม เป็นต้น

วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๐(โตนเลสาบ–Angkor National Museum - สนามบินเสียมราฐ)

        เวลา ๐๗.๐๐ น.  รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม

เวลา ๐๘.๐๐ น.  คณะศึกษาดูงานเดินทางไปโตนเลสาบเพื่อล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวประมง ศึกษาแลกเปลี่ยนเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยวกับคนในพื้นที่ โดยพบว่าบริเวณทะเลสาบเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านยาว ๕๐๐ กิโลเมตร จากนั้นไหลเข้าสู่เวียดนามลงสู่ทะเลจีนใต้ จึงนับเป็นแม่น้ำนานาชาติ และเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ คนในพื้นที่มีวิถีชีวิตแบบชาวประมง ทำมาหากินด้วยการทอดแหหาปลาขาย ที่อยู่อาศัยเป็นเรือนแพและเรือ มีร้านค้า ร้านอาหาร โบสถ์คริสต์ มัสยิด และโรงเรียนเช่นเดียวกับวิถีชีวิตบนบก นักท่องเที่ยวจึงนิยมมาเที่ยวชมเพื่อที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวโตนเลสาบที่มีความแปลกแตกต่างออกไป เศรษฐกิจในพื้นที่นี้จึงค่อนข้างคึกคักเพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก

เวลา ๑๐.๓๐ น.  เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อังกอร์ (Angkor National Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของภาคเอกชน มีบริษัทของคนไทยคือ บริษัท ไทย วิไลลักษณ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯเป็นผู้ร่วมในการก่อตั้งและดำเนินการ ทั้งในเรื่องการก่อสร้างและออกแบบในการจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในจังหวัดเสียมราฐ ที่มีความสมบูรณ์ในด้านการจัดแสดงที่ทันสมัย มีการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียภาพและเสียง และมีโบราณวัตถุล้ำค่าที่จัดแสดงจำนวนมาก โบราณวัตถุที่จัดแสดงเป็นของที่พบในเมืองพระนครและใกล้เคียงซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ขอยืมมาจากรัฐบาล โบราณวัตถุเหล่านี้เคยจัดเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กัมพูชา ในกรุงพนมเปญ

พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ ใน Vithei Charles de Gaulle เลขที่ ๙๖๘ , เสียมราฐ , กัมพูชา ทางระหว่างเมือง เสียมราฐไปทางตอนเหนือของเมืองพระนคร

พิพิธภัณฑ์เปิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ภายในเป็นอาคาร ๒ ชั้น ด้านในมีการจัดแสดงศิลปวัตถุอันล้ำค่าของอาณาจักรขอมโบราณที่บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ วัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนาที่มีอายุกว่าพันปี ห้องจัดแสดงได้รับการออกแบบเป็น ๗ ห้องและอีก ๑ ห้องเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการพิเศษ

การจัดแสดงนิทรรศการ มีคำแนะนำภาษาเขมร , อังกฤษ, ฝรั่งเศส , เยอรมัน, ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี และ ภาษาไทย

ห้องบรรยาย: ก่อนที่จะเข้าชมห้องจัดแสดง ผู้เข้าชมจะได้รับเชิญให้นั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ 80 ที่นั่ง สำหรับชมวีดีทัศน์แนะนำห้องจัดแสดงและสิ่งอำนวยความสะดวก การฉายวีดีทัศน์มีทุก 15 นาที มี 7 ภาษา ได้แก่ เขมร , เกาหลี, ญี่ปุ่น , จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และภาษาไทย ห้องจัดแสดงมี อาทิ

ห้อง ๑,๐๐๐ พระพุทธเจ้า วิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาในอาณาจักรเขมรโบราณ : ภายในห้องนี้จัดแสดงพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ ที่มีวิวัฒนาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย

ห้องอารยธรรมเขมร ความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรเขมรโบราณ : ห้องนี้อธิบายเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรโบราณ ทั้งในด้านสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ความเชื่อในพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาและ ประวัติความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้

ห้องร่องรอยแห่งความเชื่อและศาสนา : ภายในห้องจัดแสดงเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของอารยธรรมเขมร รวมทั้งผลงานวรรณกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและการ ใช้ชีวิตประจำวัน

ห้องพระมหากษัตริย์ นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ : ห้องนี้แสดง ประวัติความเป็นมา เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ ที่มีชื่อเสียงของเขมร เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ อาณาจักรเจนละปี ๘๐๒-๘๕๐ กษัตริย์ยโสวรมันที่ ๑  ผู้ก่อตั้งเมืองพระนครเป็นเมืองหลวง ระหว่างปี ๘๘๙-๙๐๐ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒  ที่สร้าง นครวัด ประมาณ ๑๑๑๖-๑๑๔๕ และ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่สร้างนครธม ประมาณ ๑๑๘๑-๑๒๐๑

ห้องนครวัด สวรรค์แห่งแดนดิน : จัดแสดง ประวัติความเป็นมา แนวคิด จิตวิญญาณ และเทคนิคทางสถาปัตยกรรม การสร้างโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ของนครวัด นอกจากนี้ยังอธิบายปรากฏการณ์ วิษุวัต นครวัด และมีการจำลองเหตุการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรงยอดปรางค์ของนครวัดที่จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้งหรือที่เรียกว่า Equinox Sun Rise ร่วมด้วยภาพยนตร์สั้นแนะนำการเดินชมปราสาทนครวัดที่จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นหากนักท่องเที่ยวได้ชมภาพยนตร์ชุดนี้ก่อนที่จะได้ไปชมปราสาทนครวัด

ห้องนครธม แหล่งรวมวิหารแห่งจิตวิญญาณ  : จัดแสดงเกี่ยวกับเมืองนครธม เมืองที่มีชื่อแปลว่านครอันยิ่งใหญ่ มีเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างและการขยายตัวของนครธม การเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางศาสนา แบบแผนการวิศวกรรมโบราณ สาธารณูปโภค ถนน การชลประทาน

ห้องเรื่องเล่าจากศิลา บทบันทึกทางวัฒนธรรม : ภายในห้องจัดแสดงศิลาจารึกที่พบในเมืองพระนครที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ห้องเครื่องแต่งกาย พัสตราภรณ์โบราณ : แสดงเครื่องแต่งกายโบราณที่พบบนรูปปั้นของเทพเจ้า , เทพธิดา อัปสรา และนักเต้น

เวลา ๑๒.๐๐ น.  รับประทานอาหารเที่ยง ณ ร้านอาหารในเมืองเสียมราฐ

เวลา ๑๓.๐๐ น. เดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ

เวลา ๑๕.๔๕ น. ออกเดินทางสู่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดยสายการบินแคมโบเดียอังกอร์แอร์         เวลา ๑๗.๓๕ น. เดินทางถึงสนามบินเมืองดานัง(Danang International Airport) หลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เดินทางผ่านเมืองดานังซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ของเวียดนาม ตั้งอยู่ระหว่างชายฝั่งทะเลและที่ราบสูงตอนกลาง

เดินทางสู่เมืองฮอยอันซึ่งห่างจากตัวเมืองดานังระยะทางประมาณ ๓๐ กม. ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำทูโบน ใกล้ชายฝั่งทะเลและเป็นท่าเรือเก่าที่เจริญรุ่งเรืองมากในชื่อไฟโฟ ฮอยอันเป็นศูนย์กลางสำคัญของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ฮอยอันในปัจจุบันสงบเงียบมีสภาพบ้านเรือนที่สวยงาม สร้างด้วยไม้มีประตูแกะสลักและห้องโปร่งๆ จนองค์การยูเนสโกและรัฐบาลโปแลนด์ได้ริเริ่มให้ทุนทำโครงการบูรณะเพื่อปกป้องเขตเมืองเก่าและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่า

เวลา ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารค่ำ ณ ภัตตาคารเมืองฮอยอัน

เวลา ๑๙.๐๐ น.เข้าสู่ที่พักโรงแรม Little Hoian Boutique Hotel and Spa และร่วมประชุมภาคีเครือข่ายครั้งที่ ๑ ในการสรุปผลการศึกษาดูงานเมืองมรดกโลกพระนคร ณ ห้องประชุมของโรงแรม เนื้อหาที่ประชุมเกี่ยวกับความพร้อมต่างๆ เมื่อเปรียบเที่ยบกันระหว่างมรดกโลกสุโขทัย กับมรดกโลกเมืองพระนคร และความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ

 

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๖๐(โบราณสถานหมี่เซิน–เมืองมรดกโลกฮอยอัน)

เวลา ๐๗.๐๐ น.  รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม   

เวลา ๐๘.๐๐ น.  เดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาโบราณสถานหมี่เซิน ซึ่งเป็นแหล่งศาสนสถานของชาวจามที่มีอายุมากกว่า ๑๖๐๐ ปี เป็นปูชนียสถานที่ใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญที่สุดของอาณาจักรจามปา ถือว่าเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจาม หมี่เซินยังมีความเกี่ยวพันกับนครวัดของกัมพูชา เพราะหลังจากที่ชาวจามสร้างแหล่งศาสนสถานแห่งนี้เสร็จแล้วก็พากันเดินทางไปสร้างนครวัดต่อ ดังนั้นหมี่เซินจึงมีความเก่าแก่มากกว่านครวัด

ปราสาทหมี่เซิน เป็นโบราณสถานในจังหวัดกว๋างนาม ภาคกลางของประเทศเวียดนาม สร้างด้วยศิลปะจามโบราณในสมัยศตวรรษที่ ๔ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานสำหรับบูชาพระศิวะ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู หมีเซินเคยเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของอาณาจักรจามปาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๔ - ศตวรรษที่ ๑๕ ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่า ๙๐๐ ปี ทำให้โบราณสถานแห่งนี้เป็นที่รวบรวมลักษณะทางด้านศิลปกรรมที่หลากหลาย จัดเป็นกลุ่มโบราณสถานในศาสนาฮินดูที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดในอินโดจีน กลุ่มปราสาทหมีเซินตั้งอยู่บริเวณที่ราบต่ำ มีภูเขาโอบล้อม เนื้อที่ประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยปราสาททั้งหมด ๗๓หลัง แต่ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารเวียดนามได้ใช้ปราสาทหมีเซินเป็นกองบัญชาการ ฝ่ายอเมริกันจึงได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดบริเวณนี้ โบราณสถานจำนวนมากถูกทำลาย ทำให้ปัจจุบันเหลือปราสาทเพียง ๒๒ หลัง

โบราณสถานหมี่เซินเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ และทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้รับรองให้หมีเซินเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.๑๙๙๙ พร้อม ๆ กับเมืองมรดกโลกฮอยอัน จากหลักเกณฑ์ที่ว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นเสมือนหลักฐานทางวัฒนธรรม และอารยธรรมที่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว

เวลา ๑๒.๐๐ น.  รับประทานอาหารเที่ยง ณ ร้านอาหารในเมืองฮอยอัน

เวลา ๑๓.๐๐ น. ศึกษาเมืองมรดกโลกฮอยอัน(Hoi An Ancient Town) เมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทูโบน บริเวณริมทะเลจีนใต้ทางตอนกลางของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในเขตจังหวัดกว่างนาม ห่างจากเมืองดานังมาทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร

เมืองฮอยอันเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีตและเป็นศูนย์กลางการค้าของชาวซาหวิ่น (Sa Huynh) บนปากแม่น้ำทูโบน ตั้งแต่ ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ฮอยอันเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ จึงขยับฐานะขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาณาจักรจามปา มีชื่อเรียกว่า ไดเจี๋ยน (Dai Chien) แต่ชาวเวียดนามและชาวต่างชาติต่างเรียกเมืองท่าแห่งนี้ว่า ไฟโฟ (Fai Fo) หรือ ไฮโป (Hai Po)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ มีชาวต่างชาติมาตั้งถิ่นฐานและค้าขายในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น ดัตช์ และอินเดีย เดิมทีเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีคลองสายหนึ่งคั่นอยู่กลางเมือง มีสะพานญี่ปุ่นทอดข้ามคลองเพื่อกั้นแบ่งเขตชุมชนของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของคลอง ตัวสะพานสร้างโดยชาวญี่ปุ่น มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นรูปทรงโค้ง มีหลังคาเหนือสะพานมุงกระเบื้องสีเขียวและเหลือง นอกจากนี้ยังมีวัดญี่ปุ่นตั้งอยู่ด้านขวามือของตัวสะพาน ทำให้สะพานดังกล่าว มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าสะพานวัด หรือ Pagoda Bridge  มีนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ทุกวันนี้ฮอยอันยังคงเป็นเมืองขนาดเล็กเช่นเดิม แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก โดยผู้มาเยือนมักมาเยี่ยมชมร้านค้าขายผลงานทางศิลปะหัตถกรรมซึ่งวางจำหน่ายในบ้านเรือนสองข้างทาง และเที่ยวชมบ้านเรือนเก่าๆ

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ฮอยอัน ได้ถูกขึ้นทะเบียนจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (หรือองค์การยูเนสโก) ให้เป็นเมืองมรดกโลก เนื่องจากเป็นตัวอย่างของเมืองท่าในอนุภูมิภาคที่มีการผสมผสานศิลปะ และสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตกกับท้องถิ่นเวียดนามได้อย่างมีเอกลักษณ์ อาคารต่าง ๆ ภายในเมืองได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะผ่านอุทกภัยและสงครามต่าง ๆ ในช่วงกว่า ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา

จากการเดินสำรวจเมืองฮอยอันพบว่าบรรยากาศส่วนใหญ่ภายในเมืองฮอยอัน มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ถนนแคบ มีบ้านไม้ทรงเตี้ยเรียงเป็นแถวสองฝั่งทาง ด้านในบ้านมักประดับคำสั่งสอนและบทกลอนจีน ทั้งนี้เนื่องจากสมัยก่อน มีพ่อค้าชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งและฟู๋เจี้ยนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แทบทุกบ้านมีรายได้จากการขายของที่ระลึก ผลงานทางศิลปะ หัตถกรรม อาหารและเครื่องดื่มให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งให้บริการทางการท่องเที่ยว เช่น รถลาก เป็นต้น

จั่วฟุกเกี๋ยนบ้านประจำตระกูลที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๓๓๕ อยู่บนถนนตรันฝูเป็นที่พบปะของผู้คนที่อพยพมาจากฟุกเกี๋ยนที่มีแซ่เดียวกัน

บ้านเลขที่ ๑๐๑ ถนนเหวียนไทฮ็อก เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามแบบเฉพาะของฮอยอันสร้างด้วยไม้ ๒ ชั้นด้วยความประณีต ด้านหน้าทำเป็นร้านบูติกด้านหลังเป็นที่เก็บสินค้า ภายในเป็นที่อยู่อาศัยมีลานเปิดโล่งเห็นท้องฟ้าและมีเฉลียงเชื่อมต่อส่วนที่พักอาศัยหลายส่วน รูปแบบของหลังคาทรงกระดองปู

เวลา ๑๘.๐๐ น.  รับประทานอาหารค่ำ ณ ภัตตาคาร เมืองฮอยอัน โดยมีการหารือการทำงานในการบริหารจัดการเมืองมรดกโลกระหว่าง ผู้บริหารของ อพท. ผู้บริหารในจังหวัดสุโขทัย ตัวแทนจากผู้ประกอบการในจังหวัดสุโขทัย กับเจ้าหน้าที่ Hoi An Department of Commerce and Tourism ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ชั้นนำของเมืองฮอยอัน ซึ่งมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยด้วย มีการหารือในการเชื่อมโยงเส้นทางจากเมืองมรดกโลกฮอยอันสู่เมืองมรดกโลกสุโขทัย โดยปกติเส้นทางหลักที่คนเวียดนามเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จะเป็น กรุงเทพมหานครฯ พัทยา ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก จากการพูดคุยกันและได้แนะนำเมืองมรดกโลกสุโขทัยให้กับผู้ประกอบการจากฮอยอันได้ทราบถึงรายละเอียดและความสำคัญ ก็มีความสนใจเป็นอย่างมาก และจะมีการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเพิ่มเติมเชื่อมโยงจากเมืองมรดกโลกฮอยอันสู่เมืองสุโขทัย 

เวลา ๒๐.๐๐ น. เดินทางเข้าที่พัก Little Hoian Boutique Hotel and Spa

วันจันทร์ที่ ๒๕ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๖๐(ศึกษามรดกโลกพระราชวังเว้-ชมวิถีชีวิตบริเวณตลาดดองบา-วัดเทียนมู่)

          เวลา ๐๖.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม

          เวลา ๐๗.๐๐ น.  เดินทางสู่เมืองเว้ ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศ จากฮอยอันใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล ๑๒ กิโลเมตร เดินทางผ่านเส้นทางหายเวินซึ่งก่อสร้างโดยเอกชนจากญี่ปุ่นและรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ลงทุนด้านงบประมาณ ระยะทาง ๑๐๘ กม.เลียบชายฝั่งทะเล ผ่านภูเขา ท้องทุ่งและชนบท และลอดอุโมงค์ที่ขุดลอดใต้ภูเขาที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความยาว ๖.๒๘ กม.เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองดานังกับเมืองเว้ เมืองเว้เป็นเมืองของกษัตริย์ในราชวงศ์เหวียนซึ่งได้ปกครองต่อกันมาเพียง ๓๓ ปีฝรั่งเศสก็บุกเข้าโจมตีเมืองเว้ มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นก็เข้ามายึดครอง บังคับให้พระเจ้าเบาได๋สละราชสมบัติต่อมาเมืองเว้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามใต้ ตามการแบ่งประเทศออกเป็น ๒ ส่วน และได้เสื่อมสลายลงภายใต้การปกครองของโงดินห์เยียม เมืองเว้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพราะมีแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เสน่ห์ที่ไร้กาลเวลาของสถาปัตยกรรมที่ล้ำค่า มีแบบฉบับของตนเอง และยังมีความงามตามธรรมชาติบนฝั่งแม่น้ำหอมด้วย

          เวลา ๑๐.๐๐ น.  เดินทางถึงพื้นที่มรดกโลกพระราชวังเว้ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายาลองใช้เป็นที่รับรองเชื้อพระวงศ์ระดับสูงและนักการทูตต่างประเทศ สถานที่จัดงานฉลองสำคัญๆ ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม เพดาน เสา คาน ผนัง ตกแต่งด้วยน้ำมันครั่งสีแดงและลวดลายสีทองมีตำหนักหลายหลัง อุทยาน วัดและศาลเจ้าของจักรพรรดิราชวงศ์เหวียน

          เวลา ๑๒.๐๐ น.  รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหาร

          เวลา ๑๓.๐๐ น.  ชมโบราณสถานวัดเทียนมู่ นมัสการพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ๗ ชั้น แต่ละชั้นหมายถึงชาติภพต่างๆของพระพุทธเจ้า มีรูปปั้นเทพเจ้า ๖ องค์คอยปกป้องเจดีย์แห่งนี้ ภายในเจดีย์มีพระสังกัจจายน์ปิดทองพระพักตร์อิ่มเอิบกับพระพุทธเจ้าอีกสามองค์อยู่ในตู้กระจก

          จากนั้นเดินทางไปที่ตลาดดองบา เพื่อศึกษาสินค้าท้องถิ่นของเมืองเว้ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้กับคนในพื้นที่ ตลาดดองบานี้เป็นตลาดในร่มแห่งเมืองเว้ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำหอม มี ๒ ชั้น มีร้านขายทั้งสินค้าท้องถิ่นและของที่ระลึกต่างๆ รวมทั้งของใช้ประจำวันซึ่งจะเห็นชาวเวียดนามมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคับคั่ง

          เวลา ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารค่ำ ณ ภัตตาคาร

          เวลา ๑๙.๐๐ น. เข้าที่พักโรงแรม Alba Spa Hotel Hue หรือ Eldora Hotel จัดประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายครั้งที่ ๒ ในการสรุปผลการศึกษาดูงานเมืองมรดกโลกฮอยอัน โบราณสถานหมี่เซิน เมืองเว้และพระราชวังเว้ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมของโรงแรม โดยประเด็นในการประชุมเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ศักยภาพของเมืองมรดกโลก และนำมาเปรียบเทียบกับเมืองมรดกโลกสุโขทัย ข้อดี ข้อด้อย ข้อที่ควรพัฒนา และมุมมองจากภาคส่วนต่างๆในการร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนเรื่องของการท่องเที่ยวในเมืองมรดกโลกสุโขทัยต่อไปในอนาคต

วันอังคารที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐(เมืองเว้ - สนามบินดานัง – กรุงเทพฯ)

          เวลา ๐๖.๐๐ น.  รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม

          เวลา ๐๗.๐๐ น.  เดินทางสู่สนามบินดานัง ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง

          เวลา ๑๐.๐๐ น.  เช็คอินสายการบินแอร์เอเชีย

          เวลา ๑๒.๐๐ น.  ออกเดินทางจากสนามบินดานังสู่สนามบินดอนเมืองโดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD ๖๓๗

          เวลา ๑๓.๒๐ น.  เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง

          เวลา ๑๕.๐๐ น.  เดินทางสู่ พื้นที่ อพท.๔

          เวลา ๒๐.๐๐ น.  เดินทางถึงพื้นที่ อพท.๔ โดยสวัสดิภาพ

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

          ๑.จากการศึกษาดูงานพื้นที่มรดกโลกกัมพูชาพบว่าแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานหลายแห่งมีการนำวงดนตรีพื้นถิ่นแบบโบราณมาบรรเลงให้นักท่องเที่ยวฟังในแหล่งโบราณสถาน โดยนักดนตรีเป็นผู้พิการจากภัยสงคราม การบรรเลงดนตรีเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศทางการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเพลิดเพลินในขณะเดินเที่ยวชมโบราณสถาน ทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอีกแขนงหนึ่งให้เป็นที่รู้จักและมีการสืบทอด รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีรายได้จากการบริจาคของนักท่องเที่ยวจนพอเลี้ยงชีพได้ ซึ่งในแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานของไทย เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ หากจะจัดบรรยากาศการท่องเที่ยวแบบนี้ก็สามารถทำได้ โดยอาจจัดพื้นที่สำหรับผู้พิการที่มีความสามารถทางดนตรีไทยหรือดนตรีพื้นถิ่นที่เหมาะสม หรือนำนักเรียนหรือผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการหารายได้พิเศษเข้ามาบรรเลงดนตรีในแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถาน ก็จะเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศทางการท่องเที่ยวให้มีสีสันเพิ่มมากขึ้น

          ๒.ในพื้นที่โบราณสถานเมืองพระนครหลายแห่ง มีการนำรถขายอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ที่มีการตกแต่งสีสันฉูดฉาดแบบสมัยใหม่เข้ามาขายอาหารและเครื่องดื่มโดยเปิดเพลงและใช้เสียงโฆษณาที่ไม่เข้ากับบรรยากาศความเป็นโบราณสถาน และก่อให้เกิดความรำคาญ จึงควรใช้ตัวอย่างนี้เป็นข้อพึงระวังสำหรับแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานของไทยที่จะไม่ให้มีภาพเช่นนี้เกิดขึ้น

          ๓.โบราณสถานเมืองพระนครมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดปัญหาความแออัด ก่อให้เกิดความรำคาญและขาดความสุขความสบายในขณะเที่ยวชม แม้จะมีความพยายามในการจัดระเบียบเส้นทางการเดินชมและการจำกัดจำนวนของนักท่องเที่ยวแต่ละรอบแล้วก็ยังมีการฝ่าฝืนย้อนเส้นทางการเข้าชม ทำให้เกิดความติดขัดมากขึ้นกว่าเดิม โบราณสถานของเราก็ควรจะมีการวางแผนเส้นทางการเข้าชมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตและมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบและเห็นความสำคัญโดยทั่วถึงกัน

          ๔.ปัญหาที่ตามมาจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแหล่งท่องเที่ยวของเมืองพระนครคือปัญหาขยะ เท่าที่สังเกตดูน่าจะมีการเก็บขยะตามตารางเวลา หรือเมื่อถังขยะเต็ม แต่ไม่มีการจัดคนลาดตระเวนเก็บขยะที่นักท่องเที่ยวบางคนทิ้งเรี่ยราดไว้ตามที่ต่างๆนอกถังขยะ จึงยังมีขยะเลอะเทอะบนพื้นหรือตามซอกมุมต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความไม่เหมาะสมต่อโบราณสถานซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เราจึงควรต้องระมัดระวังแหล่งโบราณสถานไม่ให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ด้วยการจัดคนลาดตระเวนเก็บขยะตามรายทางนอกเหนือไปจากการเก็บขยะตามวงรอบปรกติ และปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่อื่นๆที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เก็บขยะช่วยกันเก็บขยะทันทีที่เห็นโดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะมาเก็บ

          ๕.การจัดทำบันไดไม้สำหรับขึ้นสู่ชั้นบนโบราณสถานที่ปราสาทนครวัดเป็นตัวอย่างที่ดีในการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวที่มีเป็นจำนวนมากเหยียบไปบนพื้นบันไดเดิมซึ่งเป็นหินและอาจผุกร่อนแตกหักได้หากมีการเหยียบย่ำบ่อยครั้ง อีกทั้งการทำราวบันไดให้นักท่องเที่ยวจับก็เป็นการป้องกันมิให้เกิดอันตรายจากการพลัดตกจากที่สูง ซึ่งโบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความเสี่ยงและอาจแก้ปัญหาหรือป้องกันได้เช่นเดียวกับปราสาทนครวัดคือเจดีย์ประธานที่วัดช้างรอบซึ่งมีบันไดทางขึ้นสี่ด้านสู่ลานประทักษิณด้านบน โดยการทำบันไดพร้อมราวจับสามารถทำได้ในบริเวณด้านหลังขององค์เจดีย์ซึ่งมีปูนปั้นน้อยและอยู่ในจุดที่ลับตา แต่ก็มีข้อพึงระวังคือการทำบันไดขึ้นองค์เจดีย์อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นบนองค์เจดีย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการในการป้องกันและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้รอบคอบ

          ๖.แหล่งโบราณสถานมีเซินที่เวียดนามเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งที่เป็นป่า มีจุดนั่งพักคอยและมีรถไฟฟ้าไว้ให้บริการในการเข้าถึง โบราณสถานแห่งนี้มีความสำคัญที่นักวิชาการต้องการไปศึกษาและดูรายละเอียด แต่ในตัวโบราณสถานเองกลับมีหญ้าขึ้นปกคลุมจนไม่สามารถดูรายละเอียดได้ จึงเป็นข้อพึงระวังที่เราควรจะทำให้ภายในโบราณสถานของเราดูสะอาดเรียบร้อยสวยงามอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสภาพที่รกร้าง แม้จะเป็นแหล่งที่ตั้งอยู่ในป่าก็ตาม ที่พระราชวังเว้ก็เช่นเดียวกันคือในบริเวณที่เป็นสนามหญ้าขาดการดูแลเอาใจใส่มีหญ้าขึ้นรกทำให้ขาดความสวยงาม ถ้ามีการดูแลเอาใจใส่ในส่วนนี้ก็จะช่วยเสริมค่าความสำคัญให้แก่ตัวพระราชวังซึ่งมีความสวยงามอยู่แล้วให้มีความสวยงามเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งเราควรจะนำข้อบกพร่องเหล่านี้มาเป็นข้อพึงระวังในการดูแลรักษาพื้นที่โบราณสถานในบ้านเรา

          ๗.การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่น หรือแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ เช่น โตนเลสาบ หมู่บ้านวัฒนธรรม หรือตลาดสินค้าพื้นเมือง เป็นเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวที่สร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมมากขึ้น จึงควรที่จะส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวโบราณสถานด้วย ซึ่งหากประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้หรือได้รับประโยชน์จากการมีแหล่งโบราณสถานอยู่ในพื้นที่ เขาก็จะรักและหวงแหนและช่วยกันดูแลรักษา       

         

 

 

นางธาดา สังข์ทอง  ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ  

(จำนวนผู้เข้าชม 1455 ครั้ง)


Messenger