รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา
๑. ชื่อโครงการ การอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อส่งเสริมศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีให้มีความรู้ในการอนุรักษ์โบราณวัตถุ
ที่มาจากใต้ทะเล
๒.๒ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการสำรวจ การขุดค้นในอนาคต อันจะเอื้อต่อประโยชน์ของการ
อนุรักษ์โบราณวัตถุสูงสุด
๒.๓ สามารถรับผิดชอบงานการอนุรักษ์บางส่วนก่อนส่งสู่ส่วนกลางได้
๒.๔ เรียนรู้และแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่มาจาก
ใต้ทะเล
๓. กำหนดเวลา ๑๑ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐
๔. สถานที่ ศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเกาะเสด็จ จังหวัดเกาะกง ราชอาณาจักรกัมพูชา
๕. หน่วยงานผู้จัด กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร
๖. หน่วยงานสนับสนุน ศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเกาะเสด็จ จังหวัดเกาะกง
กระทรวงศิลปะและวัฒนธรรม ราชอาณาจักรกัมพูชา
นำโดย Mr. Tep Sokha นักโบราณคดีและนักอนุรักษ์โบราณวัตถุ
๗. กิจกรรม
๗.๑ เข้าชมและศึกษาโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเกาะเสด็จ จังหวัดเกาะกง
๗.๒ การฝึกปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ได้จากใต้ทะเล โดยเน้นที่โบราณวัตถุประเภท
ภาชนะดินเผา
๗.๓ ทัศนศึกษาแหล่งฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งอยู่ในชุมชน Chi Phat จังหวัดเกาะกง
๘. คณะผู้แทนไทย
๘.๑ นายอาภากร เกี้ยวมาศ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ
๘.๒ นายสิร พลอยมุกดา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
๘.๓ นางสาวพรนัชชา สังข์ประสิทธิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ
๘.๔ นายวงศกร ระโหฐาน นักโบราณคดีปฏิบัติการ
๘.๕ พันจ่าตรีเดชา พรไทย นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๖ จ่าเอกสมเกียรติ คุ้มรักษา นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๗ จ่าเอกบันดาล เพ็ชรขำ นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๘ นายวิศณุ หนูเลขา นายช่างโยธาชำนาญงาน
๘.๙ จ่าเอกประเสริฐ สอนสุภาพ นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๑๐ พันจ่าเอกอดุลย์ โคตรสีนวล นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๑๑ จ่าเอกอรรถพล เทียมเงิน นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๑๒ จ่าเอกศุภกฤษ สำโรงลุน นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๑๓ จ่าเอกเติมพงศ์ โอภาพ นายช่างสำรวจชำนาญงาน
๘.๑๔ นางกัลปังหา เกี้ยวมาศ ผู้ช่วยนักโบราณคดี
๘.๑๕ นางสาวชีวรัตน์ เชื่อดี เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
กิจกรรมแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่
๙.๑ การทัศนศึกษาที่แหล่งฝังศพครั้งที่สองที่อยู่ในชุมชน Chi Phat จังหวัดเกาะกง ซึ่งประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี O-Kei และ Phnom Pel ซึ่ง6อยู่บนภูเขา cardamom หรือ พนมกระวาน แหล่งโบราณคดีทั้งสองเป็นแหล่งที่ค้นพบการฝังศพครั้งที่สองภายในภาชนะดินเผาซึ่งตั้งอยู่บริเวณเพิงผาสูงจากพื้นดินประมาณ ๓ – ๕ เมตร โบราณวัตถุที่พบประกอบด้วย ไหจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ภาชนะดินเผาแบบเซลาดอนจากเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไหจากเตาสมัยเมืองพระนครและภาชนะดินเผาที่ใช้ในการหุงต้มประจำวัน นอกจากนี้ยังพบการฝังศพในโลงไม้พร้อมทั้งไหจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ภายในภาชนะบรรจุกระดูกมนุษย์ ลูกปัดแก้วและแหวนสำริดซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของอุทิศให้แก่ผู้ตาย จากการตรวจสอบทางลักษณะทางกายภาพของกระดูกมนุษย์พบว่าน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียเนื่องจากบริเวณกะโหลกมีรู ซึ่งเป็นผลกระทบจากโรคดังกล่าว แหล่งโบราณคดีนี้กำหนดอายุอยู่ในช่วงคริสตวรรษที่ ๑๕ -๑๘ และกำหนดอายุได้เก่าสุดคือ ค.ศ. ๑๔๕๖ ซึ่งตรงกับช่วงที่การค้าขายสังคโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยากำลังเจริญรุ่งเรือง การเดินทางติดต่อสื่อสารของผู้คนภาคพื้นทะเลและพื้นที่สูงน่าจะเดินทางผ่านแม่น้ำ An Daung Toeuk ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เชื่อมถึงชุนชน Chi Phat และสามารถออกสู่ทะเลได้ คนบนพื้นที่สูงน่าจะนำของป่ามาค้าขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่มาจากภายนอก การเลือกใช้ภาชนะดินเผาที่นำเข้า มาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทำให้สันนิษฐานได้ว่าผู้ตายน่าจะเป็นผู้มีฐานะทางสังคม ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่ประกอบพิธีกรรมเหล่านี้คือใครเนื่องจากเมื่อทำการสัมภาษณ์คนในชุมชนทราบว่าไม่มีการประกอบพิธีกรรมนี้เท่าที่สามารถสืบความได้
๙.๒ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำน้ำเกาะเสด็จ แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ห่างจากเกาะเสด็จไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แหล่งนี้ไม่มีการขุดค้น แต่เป็นการเก็บกู้โบราณวัตถุขึ้นมาให้ได้มากที่สุด เพราะเกรงว่าจะถูกลักลอบ จากนั้นจึงนำมารวบรวมไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเกาะเสด็จ จังหวัดเกาะกง กระทรวงศิลปะและวัฒนธรรม โดยมี Mr. Tep Sokha นักโบราณคดีและนักอนุรักษ์โบราณวัตถุ เป็นผู้ดำเนินงาน โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบคือไหจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ภาชนะจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีชิ้นส่วนไม้เรือ เครื่องถ้วยจีน ภาชนะดินเผาที่ใช้ประจำวัน งาช้าง ปืนใหญ่ขนาดเล็ก ดีบุก เป็นต้น รวมได้ทั้งหมดประมาณ ๘ ตัน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำการอนุรักษ์ได้เพียง ๔๐ %
๙.๓ ฝึกปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณวัตถุโดยเน้นที่โบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผา โดยเริ่มจากภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน (Earthenware) โดยครั้งนี้นำภาชนะดินเผาใหม่ มาทุบให้แตกจากนั้นจึงทดลองปฏิบัติการอนุรักษ์ดังนี้
๙.๓.๑ ขั้นตอนที่แรกเริ่มจากการบันทึกข้อมูลกายภาพของวัตถุ สภาพก่อนการอนุรักษ์ จากนั้นจึงเริ่มทำความสะอาดโบราณวัตถุโดยแบ่งออกเป็น การทำความสะอาดแบบแห้ง คือการใช้ฟองน้ำ แปรง หรือ ไม้ปลายแหลมพันสำลี และการทำความสะอาดแบบเปียก โดยการใช้น้ำ Acetone หรือ Ethanol ในการทำความสะอาดพื้นผิวหรือรอยต่อของโบราณวัตถุ
๙.๓.๒ จากนั้นจึงเตรียมสาร consolidation เพื่อทำให้พื้นผิวและรอยต่อของโบราณวัตถุแข็งแรงขึ้น โดยใช้สาร poraloid B-72 และ B-48
๙.๓.๓ การเตรียมกาว โดยใช้สารเคมี poraloid B-72 และ B-48 ละลายใน Acetone ในอัตราส่วน 1:1 จากนั้นจึงผสมสีฝุ่นลงไปให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับผิวโบราณวัตถุมากที่สุด
๙.๓.๔ ประกอบโบราณวัตถุเข้าด้วยกัน ใช้กาวในปริมาณน้อย ใช้ยางยืดประคองโบราณวัตถุให้เข้ารูป รอให้แห้ง และบันทึกข้อมูลหลังจากการอนุรักษ์
๙.๓.๕ ภาชนะแบบภาชนะดินเผาเนื้อกระเบื้อง (porcelain) ให้ใช้ กาวประเภท Epoxy
โดยจะผสม Part A และ Part B ลงในอัตราส่วน ๒:๑ ซึ่งหากจะทำการบูรณะในชิ้นส่วนที่หายไปจะใช้ Miliput
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
การเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ได้รับความรู้ด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุจากบุคลากรภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี จึงควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลการอนุรักษ์โบราณวัตถุระหว่างประเทศต่อไป
๑๑. ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
นางสาวชีวรัตน์ เชื่อดี เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1095 ครั้ง)