รายงานการเดินทางไปราชการประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา
สมเดช ลีลามโนธรรม
นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา ดำเนินการโครงการจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเสมา จังหวัดนครราชสีมา โดยว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ศึกษา ซึ่งแนวทางการศึกษาได้กำหนดให้มีการศึกษาดูงานโบราณสถานในต่างประเทศ ๑ ครั้ง และในประเทศ ๑ ครั้ง เพื่อให้คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้และเข้าใจการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานและเมืองโบราณของประเทศใกล้เคียงและภายในประเทศ
คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
๑. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา และสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
๒. คณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
๓. ข้าราชการจากหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมา
๔. ผู้แทนชุมชนเมืองโบราณเสมา
การศึกษาดูงานโบราณสถานในต่างประเทศ กำหนดให้มีการศึกษาโบราณสถานในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๕ – ๗ มีนาคม ๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. จัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเสมา จังหวัดนครราชสีมา
๒. ศึกษาโบราณสถานปราสาทวัดพูและเมืองโบราณเศรษฐปุระ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO)
๓. ศึกษาการอนุรักษ์และการบริหารจัดการโบราณสถานปราสาทวัดพูและเมืองโบราณเศรษฐปุระในฐานะของแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
กิจกรรมหลักของการปฏิบัติราชการ
๑. ศึกษาดูงานการอนุรักษ์และบริหารจัดการโบราณสถานปราสาทวัดพูและเมืองโบราณเศรษฐปุระ แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของประเทศลาว โดยคณะได้เข้าพบและฟังการบรรยายประวัติ ที่มา แนวคิด การอนุรักษ์และการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก จากนายบุนลับ แก้วกันยา(Bonlap Keokangna) ผู้อำนวยการห้องการคุ้มครองมรดกโลกจำปาสักวัดพู กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
๒. ศึกษาดูงานโบราณสถานวัดพู เมืองโบราณเศรษฐปุระ เมืองจำปาสักเก่า ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ โบราณสถานประเภทวัด เช่น วัดเชียงทอง พระธาตุภูศรี วัดวิชุนราช วัดใหม่สุวรรณภูมาราม เป็นต้น และโบราณสถานประเภทอาคารที่พักอาศัยซึ่งเป็นอาคารเก่าสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสปกครองประเทศลาว ชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง
๓. ศึกษาภูมิประเทศและสภาพทางธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผี
๔. สัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเสมา จากการศึกษาเปรียบเทียบกับการอนุรักษ์และบริการจัดการโบราณสถานของรัฐบาลลาวที่ปราสาทวัดพูและเมืองโบราณเศรษฐปุระ
สาระสำคัญของการศึกษาดูงาน สรุปได้ดังนี้
๑. การศึกษาโบราณสถานโบราณสถานวัดพู เมืองโบราณเศรษฐปุระ เมืองจำปาสักเก่า ประเทศลาว ทำให้คณะทำงานได้รับความรู้ใหม่ๆ เข้าใจและเห็นภาพของชุมชนและโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรโบราณในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จากร่องรอยหลักฐานและรูปแบบของโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ การใช้พื้นที่ และการใช้งานที่ยังคงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หลักและแนวความคิดในการอนุรักษ์โบราณสถานของรัฐบาลลาว ยังคงรักษารูปแบบความเป็นของแท้ดั้งเดิม การให้ความเคารพศรัทธาในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งสำคัญทางจิตใจของประชาชนที่มีส่วนช่วยในการดูแลรักษาโบราณสถาน
๒. โบราณสถานวัดพู เมืองโบราณเศรษฐปุระ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี ค.ศ.๒๐๐๑(พ.ศ.๒๕๔๔) โดยรัฐบาลลาวได้เสนอความสำคัญตามหลักเกณฑ์ ๕ ข้อ ดังนี้
ข้อ ๑ แสดงถึงอัจฉริยะภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
ปราสาทวัดพูมีการวางผังที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนากับภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นเลิศ เป็นหลักฐานที่ที่สมบูรณ์ที่แสดงให้เห็นการตั้งถิ่นฐานในรูปแบบของเมืองยุคแรกๆของภูมิภาค
ข้อ ๒ นำเสนอจุดเปลี่ยนที่สำคัญของคุณค่าของมนุษย์ผ่านกาลเวลาหรือในพื้นที่วัฒนธรรมของโลก บนพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี, อนุสรณ์สถาน, การวางผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์
ภูมิทัศน์ของที่ราบจำปาสักแสดงให้เห็นถึงการวางผังเมืองโบราณ, เทคนิคทางวิศวกรรม, การใช้พื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อทางศาสนา การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม การดำรงชีวิตของชาวเมือง สถาบันทางสาสนาและชนชั้นสูงของสังคม หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวและการวางผังเมืองเพื่อตอบสนองการใช้สอย โดยเมืองโบราณเศรษฐปุระเป็นเมืองโบราณที่ยังสามารถใช้ศึกษาในฐานะตัวแทนของเมืองที่การตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในสมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร จึงจัดเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญอย่างสูง นอกจากนี้การวางผังของเมืองยังแสดงให้เห็นการผสมผสานแนวความคิดทางศาสนาฮินดูและศรัทธาของพื้นที่เกี่ยวกับการนับถือน้ำและภูเขา
ข้อ ๓ เป็นหลักฐานแสดงความเป็นเอกลักษณ์อย่างน้อยในความไม่เหมือนใครถึงประเพณีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว
วัฒนธรรมเขมรเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่จำปาสักเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นภาพรวมของทุกองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ศรัทาในศาสนา และแนวคิดทางวัฒนธรรมการปกครองที่สุญหายไปแล้ว
ข้อ ๔ เป็นตัวแทนที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรม รูปแบบอาคาร เทคโนโลยี ภูมิทัศน์ ซึ่งมีคุณค่าของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ข้อ ๕ สามารถสัมผัสได้ของความสัมพันธ์ของเหตุการณ์สำคัญ ประเพณี แนวความคิด ความศรัทธา สุนทรีย์ และวรรณคดีที่มีคุณค่าโดดเด่น
พื้นที่จำปาสักแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางศาสนาฮินดูที่ส่งผลต่อแนวความคิด เทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อการสร้างศาสนสถานให้สมบูรณ์ตามคติจักรวาล ซึ่งแนวความคิดได้ถูกนำเสนอในรูปของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีการประยุกต์เอาลักษณะทางกายภาพของธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา แรงบันดาลใจของคนดั้งเดิมในพื้นที่ วิทยาการ จนกลายเป็นมาตรฐานทางศิลปกรรมแห่งศตวรรษและพัฒนาคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์
นอกจากนี้ ในปัจจุบันปราสาทวัดพูเป็นพุทธสถานที่สำคัญของชาวจำปาสักและลาวตอนใต้ ตลอดจนแนวความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทิ์ก็ยังปรากฏร่วมกันในพื้นที่ วัดพูเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด
ซึ่งความสำคัญของวัดพูได้รับการพิจารณาและประเมินคุณค่าเข้าเกณฑ์ของมรดกโลก ๓ ข้อ ได้แก่
ข้อ ๓ เป็นเอกลักษณ์หรือเป็นหลักฐานสำคัญทางด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม หรือทางด้านวิวัฒนาการของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่กำลังจะหมดไป
ข้อ ๔ เป็นตัวอย่างลักษณะหรือรูปแบบของสิ่งก่อสร้าง การตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคนิควิทยาการหรือเป็นภูมิทัศน์ซึ่งแสดงให้เห็นสถานภาพที่โดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ข้อ ๕ เป็นตัวอย่างลักษณะที่เด่นชัด ที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมที่มีความเปราะบางหรือเสื่อมสลายได้ง่าย ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนะรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้
๓. การกำหนดเขตในการอนุรักษ์มรดกโลกวัดพู จำปาสัก กำหนดไว้ดังนี้
๑.เขตปกป้องรักษาวัดพู จำปาสัก มีเนื้อที่ ๓๙๐ ตารางกิโลเมตร
๒.เขตรักษาสภาพแวดล้อมทางศาสนา มีเนื้อที่ ๙๒ ตารางกิโลเมตร
๓.เขตอนุรักษ์เพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดี มีเนื้อที่ ๒๑ ตารางกิโลเมตร
๔.เขตอนุรักษ์คุ้มครองอย่างเข้มข้น มีเนื้อที่ ๒.๘๕ ตารางกิโลเมตร
๔. แนวทางการบริหารจัดการโบราณสถานของรัฐบาลลาว
๔.๑ การดำเนินการต่างๆ เช่น การเสนอชื่อเพื่อขึ้นเป็นมรดกโลก แผนปฏิบัติการ ทางรัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา สร้างความร่วมมือกับประชาชน มีการประชุมร่วมกัน โดยรัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการโบราณสถาน และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในด้านการบริการ เช่น ร้านค้า ห้องน้ำ
๔.๒ การอนุรักษ์เมืองโบราณเศรษฐปุระและปราสาทวัดพู
เมืองโบราณเศรษฐปุระเป็นเมืองในวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่เรียกกันว่า เจนละ สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ตัวเมืองมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑.๘ x ๒.๔ กิโลเมตร มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดิน ๒ ชั้น เมืองโบราณแห่งนี้ ในปัจจุบันมีการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมอยู่ด้วย การอยู่อาศัยของชุมชนที่ซ้อนทับกับเมืองโบราณ ทางรัฐบาลจึงการกำหนดระเบียบการใช้พื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองโบราณสถาน โดยคำนึงถึงประชาชนที่อยู่อาศัย และการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลก่อน ปัจจุบันมีการสร้างถนนสายใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและลดจำนวนรถจากถนนสายเดิมที่ผ่านเข้าไปในตัวเมืองโบราณ
ถัดจากเมืองเศรษฐปุระไปทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของปราสาทวัดพูซึ่งตั้งอยู่ที่ลาดเชิงเขาภูเก้า นักวิชาการสันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ และมีการสร้างต่อเนื่องมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อย่างไรก็ตามบริเวณวัดพู อาจมีการใช้พื้นที่หรือให้ความสำคัญเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา
๔.๓ สร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีใต้ ในการศึกษาทางโบราณคดี การวางแผนในการคุ้มครองและพัฒนาโบราณสถาน การบูรณะโบราณสถาน รวมทั้งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการบูรณะโบราณสถาน
๔.๔ การบูรณะโบราณสถานใช้เทคนิคเดิมผสมผสาน เช่น ใช้สิ่วสกัดหินทรายเพื่อให้ปรากฏร่องรอยเหมือนในอดีต
๕. การจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากปราสาทวัดพูในอาคารสำนักงานมรดกโลก มีความเรียบง่าย คำบรรยายไม่มาก แต่โบราณวัตถุและที่จัดแสดง เช่น ประติมากรรม ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ก็ให้ข้อมูลด้านโบราณคดีและวัฒนธรรมเขมรเป็นอย่างมาก และมีข้อปฏิบัติห้ามถ่ายภาพโบราณวัตถุ และมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า บริเวณอาคารสำนักงานและโบราณสถานวัดพูจะไม่ปรากฏตราสัญลักษณ์มรดกโลกมากนัก
๖. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ได้มีการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น มุมมอง และประสบการณ์ของคณะทำงานจากทั้งหน่วยงานของกรมศิลปากร สถาบันการศึกษา หน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาและท้องถิ่น ในด้านการอนุรักษ์ การบริหารจัดการโบราณสถานประเภทชุมชนและเมืองโบราณ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดทำแผนแม่บทที่กำลังดำเนินการ
ข้อเสนอแนะ
การศึกษาโบราณสถานในพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโบราณสถานเมืองเสมา เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เนื่องจากคณะทำงานจะได้เข้าใจลักษณะ รูปแบบของโบราณสถาน การอนุรักษ์ การพัฒนาโบราณสถานที่มีรูปแบบและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งวิธีการอนุรักษ์และบริหารจัดการโบราณสถานที่มีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน
(จำนวนผู้เข้าชม 926 ครั้ง)