รายงานการเดินทางไปราชการ โครงการศึกษาดูงานมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน
ตามพันธกรณีกับ UNESCO
ชื่อโครงการ
โครงการศึกษาดูงานมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามพันธกรณีกับ UNESCO
๑. วัตถุประสงค์
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารซึ่งประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๔ พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญนี้และได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในหลายๆประเทศได้ริเริ่มให้มีโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ย่านเมืองเก่ามาเก๊าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกและมีการพัฒนาโครงการอบรมมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกขึ้นเป็นแห่งแรก มีการดำเนินการอบรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี เปิดการเรียนการสอนมากถึง ๑๙ รุ่นนับถึงปัจจุบัน หลักสูตรดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะเดียวกันในหลายๆประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรโดยมีพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชรเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และมหาวิทยาลัยนเรศวร
การเดินทางเพื่อปรึกษาหารือกับตัวแทนจาก Institute for Tourism Studies (IFT), Macao ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการอบรมมาอย่างต่อเนื่อง และการได้เข้าสังเกตุการณ์นำชมโดยมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรในประเทศไทยต่อไปในอนาคตเป็นอย่างมาก
๒. กำหนดเวลา
ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘
๓. สถานที่
เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน
๔. หน่วยงานผู้จัด
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
๕. หน่วยงานสนับสนุน
-
๗. กิจกรรม
วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘
๑๒.๓๐ – ๑๔.๓๐ น. เดินทางถึงสนามบินแห่งเมืองมาเก๊าและรับประทานอาหารกลางวัน
๑๔.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. รับฟังการบรรยายสรุปและการถาม - ตอบเกี่ยวกับหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกที่ดำเนินการอบรมโดยสถาบัน IFT (Macau) และเยี่ยมชม facilities ต่างๆภายในสถาบัน
๑๖.๓๐ – ๑๘.๐๐ น. ประชุมหารือและซักถามเกี่ยวกับรายละเอียดของหลักสูตรและการดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับหลักสูตรและผู้ที่ได้รับการอบรมในสภาพการณ์จริงในหลายๆประเทศ
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๘
๑๐.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. เยี่ยมชมย่านมรดกโลกเมืองมาเก๊า นำชมโดยมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกของสถาบัน IFT (Macau) - Calista Chen
วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘
๐๙.๐๐ – ๑๐.๓๐ น. ประชุมสัมมนาบทสรุปและการนำบทเรียนที่ได้จากการปรึกษาหารือกับสถาบัน IFT และจากการดูงานเพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกฯในประเทศไทย
๑๐.๓๐ น. ออกเดินทางสู่สนามบินเพื่อเดินทางกลับ
๘. คณะผู้แทนไทย
จำนวนผู้ร่วมเดินทางศึกษาดูงานและประชุมหารือในโครงการฯ รวมทั้งสิ้น ๑๕ คน ประกอบด้วย
๑) ตัวแทนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) จำนวน ๕ คน ประกอบด้วย
- นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการอพท. และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.๔)
- นางสาวดวงกมล ทองมั่ง หัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์ สำนักบริหารยุทธศาสตร์
- นางสาวอมรรัตน์ โพธิ์นรินทร์ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.๔
- นางสาวภวรัตน์ คุณความดี เจ้าหน้าที่บริหารยุทธศาสตร์ สำนักบริหารยุทธศาสตร์
- นายนิรุตต์ บ่อเกิด เจ้าหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน
๒) ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จำนวน ๓ คน ประกอบด้วย
- นางนงคราญ สุขสม ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน นักโบราณคดีชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าอุทยาน ประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
- นางธาดา สังข์ทอง หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
๓) ตัวแทนจากชุมชนในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และผู้ผ่านการอบรมผู้ฝึกสอนมัคคุเทศก์ในโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกในเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จำนวนรวม ๔ คน ประกอบด้วย
- นางสร้อยนภา พันธุ์คง
- นายสมชาย เดือนเพ็ญ
- นายอนุวัติ เชื้อเย็น
- นางคณารัตน์ เนตรทิพย์
๔) ตัวแทนจากคณะทำงานโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกในเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จำนวน ๓ คน ประกอบด้วย
- นางสาวลินินา พุทธิธาร ตัวแทนคณะทำงานจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
- ผศ.ดร.สุวรรณา รองวิริยะพานิช ผู้จัดการโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกฯ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร
- ดร.จารุวรรณ แดงบุปผา ตัวแทนคณะทำงานโครงการพัฒนามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกฯ จากภาควิชาการท่องเที่ยว ม.นเรศวร
๙ ผู้เข้าร่วมประชุมหารือในส่วนของสถาบัน IFT
- IFT President: Dr. Vong Chuk Kwan, Fanny (fanny@ift.edu.mo)
- CHSG Lecturer+CHSG course initiator: Dr. Sharif Shams Imon (imon@ift.edu.mo)
- CHSG Lecturer: Dr. Wong Un In, Cora (cora@ift.edu.mo)
- Admin Assistant: U Hio Tong, Sandi (sandiu@ift.edu.mo)
- Specialist Guide in Macau: Calista Chen (uchengchan@gmail.com) | Tel: 65579832/62219799
๑๐. สรุปสาระของกิจกรรม
๑) จากการเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปและการถาม - ตอบเกี่ยวกับหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกที่ดำเนินการอบรมโดยสถาบัน IFT
- การอบรมมัคคุเทศก์และบุคลากรที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการภาคการท่องเที่ยวต่างๆที่นี่ขึ้นตรงกับสถาบัน IFT โดยมีส่วนสำหรับการฝึกการโรงแรมรวมอยู่ในสถาบันด้วย ซึ่งแตกต่างจากระบบในประเทศไทยที่หลักสูตรเหล่านี้ถูกจัดอบรมโดยสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันเอกชนที่หลากหลาย ซึ่งมีการกำกับดูแลหลักสูตรโดยหน่วยงานรัฐแต่เพียงในภาพกว้างๆเท่านั้น
- สถาบัน IFT เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
- ผู้ที่จะเข้าอบรมในหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก (CHSG) นั้น ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ทั่วไปโดยสถาบัน IFT เสียก่อน ซึ่งหลักสูตรมัคคุเทศก์ทั่วไปมีจำนวนชั่วโมงรวม ๑๘๐ ชั่วโมง ส่วนหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกมีจำนวนชั่วโมงรวม ๖๐ ชั่วโมง ประกอบด้วย Cultural Heritage Interpretation for World Heritage Sites (Core Module) จำนวน ๒๔ ชั่วโมง และ Macao Heritage Tour Guide Course (Site Module) จำนวน ๓๖ ชั่วโมง
- ค่าใช้จ่ายในการอบรมอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก (สำหรับหลักสูตรทั่วไปอยู่ในหลักประมาณ ๓,๐๐๐ บาทต่อภาคการศึกษา) นอกจากนี้นักเรียนยังได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาลอีกประมาณครึ่งหนึ่งของค่าลงทะเบียน
- ในหลักสูตรมีการเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้พัฒนาทักษะในการค้นคว้าและสร้าง Thematic route ใหม่ๆที่น่าสนใจ โดยใช้เวลาในช่วงพักระหว่างหลักสูตรจัดทำ
- ผู้ผ่านการอบรมบางส่วนได้มีการสร้างเครือข่ายกันเองหลังจากจบจากการอบรม และร่วมพัฒนาเส้นทางใหม่ๆที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
- สำหรับระบบการตรวจสอบมาตรฐานหลังการอบรมนั้นยังไม่มีระบบที่ชัดเจน แต่มีกฎระเบียบให้มัคคุเทศก์ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วต้องมีการเข้ามารับการอบรมเพื่อ update ความรู้ทุกๆ ๓ ปีกับทางสถาบันฯ จึงจะได้รับการต่อใบอนุญาต
- ทางสถาบันฯได้จัดให้มีเวปไซต์ที่มีรายชื่อและสถานที่ติดต่อให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้บริการมัคคุเทศก์เหล่านี้ในโอกาสพิเศษต่างๆที่มีความต้องการการนำชมที่มีความต้องการเฉพาะ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวยังเป็นไปในระดับที่จำกัดอยู่ในวงไม่กว้างมากนัก
- ยังไม่มีกฎระเบียบพิเศษสำหรับอัตราค่าตอบแทนมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกโดยเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว (จากการสอบถามผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรและไปประกอบอาชีพจริงๆ) พบว่ามัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกได้ค่าตอบแทนสูงกว่ามัคคุเทศก์ทั่วไปถึง ๓ - ๔ เท่า ขึ้นอยู่กับการตกลงกับผู้จ้าง
- ปัจจุบันมีมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกเกินกว่าความต้องการของตลาด เนื่องจากผู้เข้าอบรมเล็งเห็นแนวโน้มที่รัฐอาจประกาศระเบียบให้มัคคุเทศก์ทุกคนที่นำชมในพื้นที่มาเก๊าต้องผ่านการอบรมนี้ในอนาคต
- ทางสถาบันฯยังไม่มีแนวทางหรือกลไกที่ชัดเจนในการส่งเสริมความต้องการตลาดต่อมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรให้เกิดความยั่งยืน
๒) จากการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์นำชมโดยมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกของสถาบัน IFT
- แม้ค่าตอบแทนสำหรับมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกจะสูงกว่ามาก แต่ความต้องการจากมัคคุเทศก์เฉพาะในลักษณะนี้ยังมีจำกัดอยู่มาก ในกรณีของมัคคุเทศก์ที่มานำชมให้กับทางคณะดูงานฯนั้น ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เป็นเพียงอาชีพเสริม จึงไม่เป็นปัญหามากนัก
- เนื่องจากมัคคุเทศก์ที่มานำชมประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เป็นเพียงอาชีพเสริม มีการปฏิบัติหน้าที่เพียงประมาณเดือนละ ๑ ครั้ง ทำให้ประสบการณ์ในการให้บริการยังไม่สมบูรณ์มากนักแม้จะผ่านชั่วโมงการอบรมตามที่หลักสูตรกำหนดแล้วก็ตาม แต่ในเชิงของทัศนคติและความรู้ต่อการนำชมแหล่งมรดกโลกนั้นสามารถทำได้อย่างดีมาก
- มัคคุเทศก์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมัคคุเทศก์และนักท่องเที่ยวนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในแหล่งมรดกโลกที่ต่อยอดเพิ่มขึ้นได้ทั้งต่อนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์เอง
๑๑. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
- การจัดให้มีองค์กรหลักที่ให้การอบรมและควบคุมมาตรฐานเพียงองค์กรเดียว เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการหลักสูตรมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ชัดเจน รวมทั้งช่วยให้บุคลากรที่จบจากสถาบันได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นหากองค์กรมีมาตรฐานที่ดีและเป็นที่ยอมรับ
- หลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์ในประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งมัคคุเทศก์ทั่วไป และมัคคุเทศก์เฉพาะหลายประเภท รูปแบบการเพิ่มองค์ความรู้ด้านมรดกโลกให้กับมัคคุเทศก์ประเภทต่างๆจึงมีความซับซ้อนที่ต้องพิจารณาให้รอบด้านมากกว่ากรณีของมาเก๊า ซึ่งในปัจจุบันหลักสูตรเน้นการอบรมให้กับคนในท้องถิ่นเพื่อเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะ (วัฒนธรรมท้องถิ่น) เป็นหลัก และมีส่วนหนึ่ง (ประมาณ ๑๕ - ๒๐%) ที่เป็นการอบรมมัคคุเทศก์ทั่วไปเพื่อให้การทำงานร่วมกับคนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิผล โดยตัวแทนจากกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนที่ผ่านมาที่ใช้ระบบแบบผสมผสานกลุ่มคนดังกล่าวนี้ให้ความเห็นว่ารูปแบบนี้มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้กลุ่มคนต่างๆได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทักษะและองค์ความรู้ที่ตนอาจจะมีน้อยกว่าคนที่มากจากกลุ่มคนอื่นได้อย่างดีมาก
- ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและระเบียบของมัคคุเทศก์เฉพาะวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่กำหนดโดยกรมการท่องเที่ยว ทำให้โครงการนำร่องการอบรมมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกในเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับหลักสูตรของสถาบัน IFT การขยายระยะเวลาการอบรมในหลักสูตรจึงเป็นข้อพิจารณาสำคัญสำหรับการนำหลักสูตรไปปฏิบัติต่อไปในอนาคต เพื่อให้ความเข้มข้นของเนื้อหาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจมากขึ้นหากผู้ที่เข้าร่วมมิได้มีพื้นฐานเท่ากับกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องพิจารณากลุ่มผู้เข้าอบรมที่แตกต่างหลากหลายดังระบุในข้อข้างต้นด้วย
- การมีเวลาพักระหว่างช่วงเวลาการอบรมเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ไปศึกษาค้นคว้าและพัฒนาองค์ความรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากและได้ถูกนำมาพัฒนาในหลักสูตรที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วยเช่นกัน รวมทั้งการมีการพักระหว่างกลางช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้มีเวลาในการตกผลึกมากขึ้น และมีข้อแนะนำเห็นควรให้มีการประเมินผลเป็นช่วงๆระหว่างการอบรมเมื่อจบเนื้อหาของแต่ละส่วนหลัก
- จากการสังเกตการณ์การนำชมจะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่การพัฒนาหลักสูตรควรให้มีส่วนที่มัคคุเทศก์ทั่วไปได้ฝึกทำงานร่วมกับมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญฯ ทั้งนี้เนื่องจากงานทั้ง ๒ ส่วนต้องการทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีไม่ครบถ้วนในคนคนเดียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหลักสูตรที่ทางคณะทำงานฯได้พัฒนาขึ้น ข้อผิดพลาดหลายประการจากการนำชมที่มาเก๊าช่วยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น
- การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการอบรมโดยรัฐและแนวนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยสนับสนุนให้คนสนใจเข้าพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ตนและพัฒนาคุณภาพของการนำชมให้ดียิ่งขึ้น
- การเข้าอบรมเพื่อ update ความรู้เพื่อต่อใบอนุญาตเป็นกลไกที่เคยมีในประเทศไทยแต่ยกเลิกไป และควรผลักดันให้เกิดขึ้นอีกเพื่อการควบคุมมาตรฐานของการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ที่เหมาะสม
- การสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่เข้ารับการอบรมนับเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาองค์ความรู้และโครงข่ายทางธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างดี
- ความจำเป็นในการสร้างการเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่ผ่านการอบรมที่ควรมีเจ้าภาพดูแลรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาติดต่อเมื่อมาถึง site แล้วด้วย (นอกเหนือไปจากกลุ่มที่ติดต่อมาล่วงหน้า) ซึ่งอาจเป็นการจัดให้มีการติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานฯ โดยจัดให้มีการเข้าถึงรายชื่อได้จากเวปไซต์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เวปไซต์อุทยานฯ, สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ, เวปไซต์อพท. เป็นต้น
- นอกจากการพัฒนา supply side แล้ว การพัฒนาด้าน demand ด้านการท่องเที่ยวเฉพาะทางนี้และการเข้าถึงข้อมูลของมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก นับเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง และเป็นเรื่องที่องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเข้าช่วยเหลือ เพื่อให้มัคคุเทศก์เหล่านี้มีงานรองรับอย่างเพียงพอและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวในแหล่งมรดกโลกให้เกิดความยั่งยืน
- ทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมัคคุเทศก์และนักท่องเที่ยวนับเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจัดให้มีในหลักสูตร เพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ในแหล่งมรดกโลกที่ต่อยอดเพิ่มขึ้นต่อๆไป
- ควรมีการจัดการภาระหน้าที่และขอบเขตการนำชมที่ชัดเจนระหว่างเจ้าหน้าที่นำชมของอุทยานฯและมัคคุเทศก์อาชีพ รวมทั้งควรให้มีการคำนึงถึงการใช้เครื่องมือนำชมที่เชื่อมต่อกับระบบ QR Code ที่พัฒนาไว้ให้เกิดประโยชน์
- ปัจจุบันมีปัญหาว่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่นมีอยู่ค่อนข้างจำกัด การสนับสนุนเพื่อต่อยอดไปสู่มัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลกจากคนที่มีพื้นฐานเดิมจึงอาจจะมีความลำบาก
- ควรมีการจัดการภาระหน้าที่และขอบเขตการนำชมที่ชัดเจนระหว่างเจ้าหน้าที่นำชมของอุทยานฯและมัคคุเทศก์อาชีพ รวมทั้งควรให้มีการคำนึงถึงการใช้เครื่องมือนำชมที่เชื่อมต่อกับระบบ QR Code ที่พัฒนาไว้ให้เกิดประโยชน์
(จำนวนผู้เข้าชม 975 ครั้ง)