รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๑. ชื่อโครงการ
โครงการเข้าร่วมประชุมและสัมมนาทางวิชาการของสภาจดหมายเหตุแห่งชาติระหว่างประเทศประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Regional Branch International Council on Archives: SARBICA)
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเอกสารจดหมายเหตุอิเล็กทรอนิกส์ในยุคโลกาภิวัตน์
๒.๒ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก SARBICA
๒.๓ เพื่อให้นักจดหมายเหตุได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านจดหมายเหตุ
๓. กำหนดเวลา
วันจันทร์ที่ ๘ ถึงวันศุกร์ที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ (รวมระยะเวลา ๕ วัน)
๔. สถานที่
เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
๕. หน่วยงานผู้จัด
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเวียดนาม (The State Records and Archives Department of Vietnam)
๖. หน่วยงานสนับสนุน
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
๗. คณะผู้แทนไทย
คณะผู้แทนไทยในการดำเนินโครงการเข้าร่วมการประชุมและสัมมนาทางวิชาการ จำนวน ๕ ราย ดังนี้
๗.๑ นางสาวนัยนา แย้มสาขา ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
๗.๒ นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา นักจดหมายเหตุ ระดับชำนาญการพิเศษ
๗.๓ นางสาวนภวรรณ ศรีจันทรนิตย์ นักจดหมายเหตุ ระดับชำนาญการ
๗.๔ นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ระดับปฏิบัติการ
๗.๕ นางสาวณัฏฐา กล้าหาญ นักจดหมายเหตุ ระดับปฏิบัติการ
๘. กิจกรรม
กิจกรรมในการดำเนินโครงการเข้าร่วมการประชุมและสัมมนาทางวิชาการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และประเทศสมาชิกสภาการจดหมายเหตุสากลประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยกิจกรรม
๓ ส่วน ดังนี้
๘.๑ การประชุม The 19th SARBICA General Conference and 20th SARBICA’s Executive Board’s Meeting
๘.๒ การศึกษาดูงาน ณ ศูนย์จดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลข ๑ (National Archives Center No1) วิหารวรรณกรรม (Temple of Literature) และ Ha Long Bay
๘.๓ การสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “Authenticity of Electronic Records” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม Hanoi Daewoo
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๙.๑ การประชุม The 19th SARBICA General Conference and 20th SARBICA’s Executive Board’s Meeting เป็นการประชุมผู้บริหารของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศสมาชิกมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการสรุปผลการดำเนินด้านต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาและชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณของคณะกรรมการชุดนี้ การคัดเลือกประธาน SARBICA และรองประธาน โดย Mr Mustari Irawan, Director General of National Archives of Indonesia ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และ Mr. Azemi Abdul Aziz, Director General of National Archives of Malaysia ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการพร้อมทั้งเลขานุการและเหรัญญิกซึ่งเป็นนักจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเลเซีย สำหรับการคัดเลือกเจ้าภาพในการจัดประชุมและสัมมนาทางวิชาการครั้งต่อไป ที่ประชุมมีมติคัดเลือกประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ การประชุมนี้ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และนักจดหมายเหตุทุกคนได้เข้าร่วมประชุมด้วย
๙.๒ การศึกษาดูงานสถานที่ต่าง ๆ
๙.๒.๑ สถานที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของ UNESCO ตามโครงการความทรงจำแห่งโลก
(Memory of the World) ในเมืองฮานอย คือ เอกสารของราชวงศ์ Nguyen ที่จัดเก็บที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลข ๑ (National Archives Center No1) และ Stone Steles Records of Royal Examinations ของราชวงศ์ Le และราชวงศ์ Mac ที่จัดเก็บที่วิหารวรรณกรรม (Temple of Literature)
๙.๒.๒ สถานที่ที่ UNESCO ประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ Ha Long Bay
๙.๒.๓ สถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในเมืองฮานอย คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (History Museum) และวัดเนินหยก (หง็อกเซิน Ngoc Son)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลข ๑ (National Archives Center No1)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข ๑ ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย จัดเก็บเอกสารราชวงศ์ Nguyen ซึ่งปัจจุบันหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข ๑ เก็บรักษาพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในสมัยราชวงศ์ Nguyen ประมาณ 7 ร้อยฉบับ โดยได้นำมาจัดนิทรรศการ “พระบรมราชโองการการโปรดเกล้าฯในสมัยราชวงศ์ Nguyen 1802-1945” ประกอบด้วย พระบรมราชโองการ การโปรดเกล้าและการลงปรมาภิไธยของบรรพกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์ Nguyen ที่ชี้นำการแก้ไขปัญหาทางการเมือง การทหาร การทูต เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมซึ่งถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ และองค์การยูเนสโกได้รับรองพระบรมราชโองการในสมัยราชวงศ์ Nguyen เป็นมรดกแห่งความทรงจำของโลก
(Memory of the world)
วิหารวรรณกรรม (Temple of Literature)
วิหารวรรณกรรม ภาษาเวียดนามเรียกว่า วันเหมียว (Van mieu) เป็นวัดขงจื้อในฮานอย อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๖๑๓ สมัยพระเจ้าหลีแถงห์โตง (Ly Thanh Tong) อุทิศให้แด่ขงจื้อ อยู่ติดกับกว็อกตื่อยาม (Quoc Tu Giam) เป็นโรงเรียนของพวกขุนนางและเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งแรกของเวียดนาม ต่อมาสมัยราชวงศ์ตรัน (Trấn) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกว็อกช็อกเวียน (Quoc Hoc Vien) บริเวณตรงหัวมุมทางเข้าด้านหน้าจะมีซุ้มสลักด้วยหินข้อความว่า “ขอให้ผู้มาเยือนลงจากหลังม้าก่อนที่จะเข้าไปข้างใน” แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ประตูทางเข้าด้านหน้าทำเป็น ๒ ชั้น มีประตูรูปวงโค้ง คล้ายก๋งจีน สลักชื่อวิหารวรรณกรรมอยู่ชั้นบนสุด เมื่อลอดซุ้มประตูด้านหน้าเข้ามาจะพบต้นไม้ใหญ่ สองข้างทางมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ๒ บ่อ เมื่อเดินผ่านมาถึงอาคารชื่อตึกดาวลูกไก่ เคววันกั๊ก (Khue Van Cac) เป็นที่นักอักษรศาสตร์มาท่องบทกวี มีประตูกำแพงใหญ่ได๋แถงห์โมน (Dai Thanh Mon) สัญลักษณ์ของกรุงฮานอย กับสระน้ำขนาดใหญ่ตรงกลางลานด้านหลังประตูชื่อ สระแสงงาม เทียนกวางติงห์ (Thien Quang Tinh) เวลาแสงจากพระอาทิตย์สาดส่องจะสะท้อนเข้าสู่ประตูใหญ่ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง บริเวณสองข้างสระแสงงามมีอาคารชั้นเดียว ๕ หลัง ภายในประดิษฐานแผ่นหินจารึกรวม ๘๒ แผ่น ซึ่งหลงเหลือจากของเดิมที่มี ๑๑๗ แผ่น แผ่นหินเหล่านี้จะตั้งอยู่บนหลังเต่าทำด้วยหิน จารึกชื่อ ผลงาน ประวัติทางวิชาการของผู้ที่สอบผ่านการศึกษาหลักสูตร ๓ ปี เพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ระหว่างพุทธศักราช ๑๙๘๕ ถึงพุทธศักราช ๒๓๒๒ หลายคนจึงเรียกว่า “แผ่นหินจารึกชื่อจอหงวน”
ฮาลองเบย์ (Ha Long Bay)
อ่าวหะล็อง (Vịnh Hạ Long) เป็นอ่าวแห่งหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ยทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีชายฝั่งยาว ๑๒๐ กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตะวันออก ๑๗๐ กิโลเมตร ชื่อตามการออกเสียงในภาษาเวียดนามเขียนได้ว่า "Vinh Ha Long" หมายถึง "อ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง" ในอ่าวหะล็องมีเกาะหินปูนจำนวน ๑,๙๖๙ เกาะโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวทะเล บนยอดของแต่ละเกาะมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น หลายเกาะมีถ้ำขนาดใหญ่อยู่ภายใน ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณอ่าวคือ ถ้ำเสาไม้ (Hang Đầu Gỗ) หรือชื่อเดิมว่า "กร็อตเดแมร์แวย์" (Grotte des Merveilles) ซึ่งตั้งชื่อโดยนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มาเยี่ยมชมอ่าว เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ภายในถ้ำประกอบไปด้วยโพรงกว้าง
๓ โพรง มีหินงอกและหินย้อยขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณอ่าว ๒ เกาะ คือ เกาะกั๊ตบ่าและเกาะต่วนเจิว ทั้งสองเกาะนี้มีคนตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร บนเกาะมีโรงแรมและชายหาดจำนวนมากคอยให้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนเกาะขนาดเล็กอื่น ๆ บางเกาะก็มีชายหาดที่สวยงามที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม บางเกาะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง และบางเกาะยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด เช่น ไก่ป่า ละมั่ง ลิง และกิ้งก่าหลายชนิด เกาะเหล่านี้มักจะได้รับการตั้งชื่อจากรูปร่างลักษณะที่แปลกตา เช่น เกาะช้าง (Voi Islet) เกาะไก่ชน (Ga Choi Islet) เกาะหลังคา (Mai Nha Islet) เป็นต้น อ่าวหะล็อง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๘ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่ภูเก็ต ประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (History Museum)
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หรือชาวเวียดนามเรียกว่า Bao Tang Lich ในอดีตเป็นสถาบันวิจัยทางโบราณคดีของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรทิศ (Ecole Hrancaise d’ Extreme Orient) สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ สร้างใหม่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ก่อนจะเปิดอีกครั้งในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งสิ่งที่นำมาจัดแสดงไว้ที่นี่ครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์เวียดนามทุกสมัย เป็นโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากยิ่ง มีกลองสำริดโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะอันงดงามของพวกจากที่แพร่เช้ามาในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยชามและเจ้าแม่กวนอิมปางประหลาด รวมถึงห้องจัดแสดงของใช้สิ่งของต่างๆ ของกษัตริย์ ๑๓ พระองค์แห่งราชวงศ์เหวียน
วัดเนินหยก (หง็อกเซิน, Ngoc Son)
วัดเนินหยกหรือวัดหง็อกเซิน (Ngoc Son Temple) ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของทะเลสาบคืนดาบ (Hoan Kiem Lake) บริเวณกลางใจเมือง วัดเนินหยกถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 เพื่ออุทิศแด่วีรบุรุษทั้งสามคนที่มีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้แก่ เฉิน ฮัง โด๋ว (Tran Hung Dao) หวัน เซิง (Van Xuong) และ
La To กำแพงของถนนที่ทอดยาวไปสู่ทะเลสาบถูกตกแต่งด้วยงานเขียนของเวียดนามแบบดั้งเดิม
๙.๓ การสัมมนาทางวิชาการแบ่งเป็น ๓ ช่วง ประกอบด้วยการบรรยาย และการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ Authenticity of Electronic Records จากวิทยากรประเทศต่างๆ ได้แก่
SESSION 1 หัวข้อ Theoretical Basis of the Authenticity of Electronic Records ประกอบด้วย
- Viewpoint on Authenticity of Born Digital Records โดย Ms. Susan Corrigall, Head of Electronic Records Unit, National Records of Scotland
- Authenticity and Legal Value of Electronic Records โดย Mr. Steve Knight, Program Director Preservation Research & Consultancy, National Library of New Zealand
- Viewpoint on Electronic Record’s Authenticity and Emerging Issues โดย Ms. Nguyen Thi Ha, Chief of Division of Guidance for Central Archives and Records Management, The State Records and Archives Department of Vietnam
- Experience and Practice in Ensuring Authenticity of Electronic Records in National Archives of Republic of Indonesia โดย National Archives of Indonesia
สำหรับ Session 1 นางสาวกรพินธุ์ ทวีตา นักจดหมายเหตุ ชำนาญการพิเศษ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของที่ประชุม สรุปประเด็นสำคัญของผู้บรรยาย และคำถามคำตอบ
SESSION 2 หัวข้อ Practical Basis in Ensuring Authenticity of Electronic Record ประกอบด้วย
- Experience of the German Federal Archives with Methods to Ensure Authenticity of Electronic Data โดย Mr. Michael Ucharim, Director Sub-project “Temporary Digital Archives”, German Federal Archives
- Experience and Practice in Ensuring Authenticity of Electronic Record in National Archives of Singapore โดย Mr. Eric Chin Sze Chong, Director, National Archives of Singapore
- Experience and Practice in Ensuring Authenticity of Electronic Record in National Archives of Malaysia โดย Ms. Rusniza Hamdan, National Archives of Malaysia
SESSION 3 หัวข้อ Solution to Ensure Authenticity of Electronic Record
- The Electronic Records and Archives of Japan: Approaches to Ensuring Authenticity at the National Archives โดย Mr. Yoshiyuki KAZAMA, Chief of the Electronic Records Section, National Archives of Japan
- Solution Ensuring Security for Stored Records and Data โดย Mr. Nguyen Trong Binh, Military Bank of Vietnam
- A Watermark Scheme Based on Most Significant Bit for Public Copyright Protection for Relational Databases โดย Dr. Luu Thi Bich Huong, Faculty of Information Technology, Hanoi Pedagogical University No2
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
จากการเข้าร่วมโครงการประชุมและสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
๑๐.๑ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ควรสนับสนุนให้บุคลากรได้เพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประสานงาน การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น
๑๐.๒ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ควรเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ SARBICA อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลวิชาการจดหมายเหตุ และประสบการณ์มาพัฒนางานด้านจดหมายเหตุของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป และมีส่วนร่วมในการพัฒนางานจดหมายเหตุของภูมิภาค ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดควรให้ความสำคัญกับการประชุมดังกล่าวและสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีนโยบายให้นักจดหมายเหตุรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพโดยการเข้าร่วมการประชุม SARBICA และการประชุมนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เรียนรู้งานจากการการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการรับรู้ข้อมูลวิชาการจดหมายเหตุที่ทันสมัย สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนางานจดหมายเหตุของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์
นางสาวณัฏฐา กล้าหาญ
ผู้สรุปรายงานการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 864 ครั้ง)