รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศเวียดนาม
๑. ชื่อโครงการ Inauguration Ceremony of Southeast Asia Museum
๒.วัตถุประสงค์
๑) เพื่อร่วมในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒) เพื่อประชุมระดมความคิดในการสร้างความร่วมมือในการงานพิพิธภัณฑสถานระหว่างผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๓. กำหนดเวลา ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ถึง ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
๔. สถานที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์เวียดนาม
๕. หน่วยงานผู้จัด Vietnam Museum of Ethnology
๖. หน่วยงานสนับสนุน
๑. กรมศิลปากร
๒. Vietnam Museum of Ethnology
๓. ศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA)
๗. กิจกรรม
๑) การศึกษาเยี่ยมชมนิทรรศการและอาคารจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒) การประชุมระดมความคิดเรื่องความร่วมมือในงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑสถานชาติพันธ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๓) พิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๘. คณะผู้แทนไทย
๑) นางอมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
๒) ม.ร.ว. รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA)
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
๑) การศึกษาเยี่ยมชมนิทรรศการและอาคารจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิพิธภัณฑ...
- พิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาคารขนาดใหญ่ มี ๓ ชั้น
ชั้นที่ ๑ จัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ เป็นการจัดแสดงภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ โดยไม่แบ่งแยกประเภท แต่แบ่งหัวเรื่องตามหัวข้อที่ตรงกัน เช่น ความเชื่อในลัทธิศาสนา เสื้อผ้าอาภรณ์ พิธีกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ชั้นที่ ๒ กำลังจะได้งบประมาณจัดในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ จะจัดแสดงcollection ของเอกชนที่มอบให้ ๓ รายซึ่งเป็นcollectionวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละcollection จำนวน ๕๐๐ – ๖๐๐ รายการ
ชั้น ๓ เป็นโถงโล่ง เตรียมไว้เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิทรรศการพิเศษของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน พื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางเมตร
๒) การประชุมระดมความคิดเรื่องความร่วมมือในงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑสถานชาติพันธ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยอธิบดีกรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือผู้แทน ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
Professor Vō Quang Trong ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์ เวียดนาม
Professor Dr Nyugen Duy Thieu รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์ เวียดนาม
Professor Dr Vi Wan An รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์ เวียดนาม Dato’ Ibrahim Bin Ismail อธิบดีกรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาเลเซีย
Miss Ju smam ภัณฑารักษ์ กรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาเลเซีย
Dr Jeremy Barns ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฟิลิปปินส์
Mr Ngwe Tun Myint ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า
Mrs Phetmalaivanh Keobounma ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนลาว
Mrs Tara Gujadhur ผู้อำนวยการร่วมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา สาธารณรัฐ ประชาชนลาว
Mr Pudarno bin Binchin ภัณฑารักษ์ด้านชาติพันธ์และผู้บริหารจัดการพิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑสถานเทคโนโลยีมาเลย์ กรมพิพิธภัณฑสถาน บรูไน
ประเทศบรูไนดารุสลาม
Mr Haji Mahrin bin Haji Abus ภัณฑารักษ์ กรมพิพิธภัณฑสถาน บรูไน
Mrs Sri Suharni ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินโดนีเซีย
Mr. Iswan Zulkzranan ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินโดนีเซีย
Mr. Junaidi Ismail ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินโดนีเซีย
Mrs Heidi Tan หัวหน้าภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานอารยธรรมเอเชีย
ประเทศสิงคโปร์
Mr Szan Tan ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานอารยธรรมเอเชีย
ประเทศสิงคโปร์
Mrs Lily Samuel ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานการไปษณียากร ประเทศสิงคโปร์
Mr Kong Vireak ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นอกจากนี้ผู้บริจาคโบราณวัตถุ - ศิลปวัตถุ รายใหญ่ ๒ ราย ให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์แห่งเวียดนาม คือ Mrs Roselli Mariono อดีตประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ สาขากรุงเทพฯ และ Professor Dr. Kaneko Kazushige อดีตผู้แทนญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติในฐานะที่ปรึกษาเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
- ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์แห่งเวียดนาม เสนอให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาใช้พื้นที่ชั้น ๓ ซึ่งมีอยู่ ๑,๐๐๐ ตารางเมตรเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ที่ประชุมเห็นว่าควรจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันก่อน เพื่อหาหัวข้อเรื่องที่เป็นประเด็นร่วมที่
น่าสนใจและโดดเด่นที่ทุกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันนำวัตถุมาจัดแสดงเพื่อให้เป็นนิทรรศการที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศอาเซียน และยังเป็นการดำเนินงานร่วมกัน ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ และประเทศต่างๆสามารถสนับสนุนในความเป็นไปได้ในการจัดนิทรรศการ อย่างไรก็ดีกรณีที่ประเทศใดที่มีความพร้อมจะนำนิทรรศการมาจัดแสดงเผยแพร่ของประเทศตน ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์เวียดนามก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทั้งนี้จะเป็นข้อตกลงระหว่าง ๒ ประเทศ คือเวียดนาม และประเทศที่ประสงค์จะนำนิทรรศการ มาจัด ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งสามารถหารือทำข้อตกลงเป็นทวิภาคีได้
- ที่ประชุมมีความเห็นว่านอกจากการดำเนินการความร่วมมือเรื่องนิทรรศการ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ควรมีการทำความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน กรณีที่เกิดการสูญหายจากการโจรกรรม หรือนำออกไปโดยผิดกฎหมาย
๓) พิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- พิธีเปิดเริ่มตอนเย็นของวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เวลา ๑๖.๐๐ น. ประธานในพิธีคือ ประธานบัณฑิตสถานด้านสังคมศาสตร์ (Vietnamese Academy of Social Science) ซึ่งเป็นสถาบันขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญประกอบด้วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมและในบัณฑิตสถานด้านสังคมศาสตร์ เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ พร้อมภริยา มาร่วมงานกว่า ๑๐ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยและลาว ได้รับการติดต่อในการประสานให้นำนาฏศิลป์ของไทยและลาวมาแสดง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอยได้ติดต่อนำคณะจากวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพมหานคร มาแสดง ๔ ชุด และเอกอัครราชทูตลาวประจำกรุงฮานอย นำคณะนาฏศิลปะจากลาว มาแสดง ๔ ชุด เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีการแสดงเต้นสิงโตและมังกรของคณะนาฏศิลปะกรุงฮานอย
๑๐.ข้อ.......
๑๐. ข้อเสนอแนะของกิจกรรม
๑๐.๑ กระทรวงวัฒนธรรมประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลักในการจัดการแสดงนิทรรศการ/พิพิธภัณฑสถานด้านศิลปวัตถุ เช่น กรมศิลปากร ควรดำเนินการทำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Vietnam Museum of Ethnology เนื่องจากพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดแสดงนิทรรศการ และการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งการจัดแสดงนิทรรศการ และมีความสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑสถานลักษณะเดียวกันนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนนิทรรศการ หรือนำนิทรรศการจากประเทศไทยไปจัดแสดง ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้แจ้งความประสงค์ว่ายินดีให้ความร่วมมือโดยสามารถสนับสนุนเรื่องสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ การจัดแสดง ส่วนงบประมาณอื่นใดในการดำเนินการสามารถหารือกันเพื่อทำความตกลงระหว่าง ๒ หน่วยงาน (กรมศิลปากรกับ Vietnam Museum of Ethnology) เป็นเฉพาะกรณีได้
๑๐.๒ การบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเวียดนาม มีข้อมูลและวิธีการดำเนินการที่น่าสนใจเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยดังต่อไปนี้
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเวียดนามมีทั้งหมด ๖ แห่ง ๕ แห่งอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประวัติศาสตร์เวียดนาม พิพิธภัณฑสถานทหารและ การรบ พิพิธภัณฑสถานวิจิตรศิลป์ พิพิธภัณฑสถานจามที่ดานัง พิพิธภัณฑสถานโฮจิมินห์ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์แห่งเดียวที่อยู่ภายใต้บัณฑิตสถานด้านสังคมศาสตร์ (Vietnamese Academy of Social Science) ซึ่งเป็นสถาบันขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อพิพิธภัณฑสถานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดดำเนินการก็จะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งที่ ๗ และจะทำให้มีพิพิธภัณฑสถาน ๒ แห่งภายใต้บัณฑิตสถานด้านสังคมศาสตร์
- บัณฑิตสถานด้านสังคมศาสตร์แห่งเวียดนาม (Vietnamese Academy of Social Science) มีหน่วยงานภายใต้สังกัด จำนวน ๒๘ หน่วยงาน การบริหารการจัดการในรูปสถาบันการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งความรู้ การส่งเสริมความรู้และเผยแพร่ จึงวางรูปแบบการบริหารจัดการให้มีการพัฒนาบุคลากร และเน้นผลงานการวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความรู้และเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑสถาน การจัดนิทรรศการ และการจัดพิมพ์อกสารวิชาการ ดังนั้นจึงมี ข้อดี ดังนี้
๑) บุคลากรสามารถนำเสนอผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการเพื่อปรับตำแหน่งตนเองขึ้นไปเฉพาะตัวโดย ไม่ปิดกั้น จะเห็นว่า ผู้มีผลงานวิชาการ เริ่มจากตำแหน่ง นักวิจัย-นักวิจัยอาวุโส-ผู้ช่วยศาสตราจารย์-รองศาสตราจารย์-ศาสตราจารย์ ทำให้บุคคลตั้งใจทำงานและเร่งสร้างงานวิจัยที่มีคุณค่าและเผยแพร่ความรู้ทำให้เกิดความรู้ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง
๒) เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการด้านความรู้จึงมีความคล่องตัวและมีระเบียบปฏิบัติพิเศษที่สามารถรับทุนสนับสนุน หรือวางแผนการวิจัยร่วมกับประเทศต่างๆ การให้ทุนนักวิจัย ไปดำเนินการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ หรือการสร้างสรรค์โครงการร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมการวิจัยและงานที่จะนำมาซึ่งความรู้ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการพิเศษ
อย่างไรก็ดี มีข้อด้อย ดังต่อไปนี้
๑) เนื่องจากไม่ได้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งมีภารกิจด้านพิพิธภัณฑสถานโดยตรง จึงไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านการพัฒนาหรือการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานจากกระทรวงวัฒนธรรม
๒) ขาดบุคลากรด้านพิพิธภัณฑวิทยา (museology) เช่น ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ (curator) นักอนุรักษ์โบราณวัตถุ (conservator) ในพิพิธภัณฑสถาน เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑสถาน เป็นตำแหน่งนักวิจัย (researcher) รัฐบาลจึงมิได้จัดสรรตำแหน่งด้านภัณฑารักษ์ และนักอนุรักษ์มาให้โดยตรง
- การแก้ปัญหาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพันธ์วิทยาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยวางแนวทางการับอาสาสมัคร (Volunteer) เข้ามาทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ โดยจัดงบประมาณในการฝึกอบรมอาสาสมัคร กอปรกับรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเตรียมความพร้อมผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยให้มีการผ่านงานก่อนรับสมัครเข้าทำงาน ดังนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงเข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัคร เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จึงได้รับการรับรองให้ทำงานอาสาสมัคร อาสาสมัครเหล่านี้ ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ได้รับอาหารกลางวัน และ/หรืออาหารเย็นกรณีทำงานล่วงเวลาถึงกลางคืน กรณีที่มีกิจกรรมเฉพาะสำคัญและต้องทำงานยาวนาน และเป็นโครงการพิเศษของพิพิธภัณฑฯ ก็จะได้รับค่าพาหนะเดินทางตอบแทนบ้าง การประกาศรับอาสาสมัครมีกระบวนการดังนี้ ประกาศรับสมัครทางออนไลน์-สัมภาษณ์เพื่อคัดเลือก-เข้ารับการอบรม-ปฏิบัติงานตามภารกิจที่พิพิธภัณฑฯ มอบหมาย
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศเวียดนาม เน้นการรับบุคลากรเข้าทำงานที่จะต้องมีคุณสมบัติที่จะทันโลกและสามารถติดต่อระดับนานาชาติได้ จึงเน้นวิชาการสอบเข้ารับราชการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๓ วิชาคือ วิชาเฉพาะที่ต้องใช้ความรู้ตามความต้องการ วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาคอมพิวเตอร์
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์เวียดนาม เก็บค่าเข้าชมประมาณ ๖๐ บาท ทั้งคนเวียดนามและชาวต่างประเทศ กรณีที่ติดต่อล่วงหน้าเพื่อการเข้าชมเป็นกลุ่มจะลดค่าเข้าชมให้ คนสูงอายุ เก็บค่าเข้าชมเพียงครึ่งเดียว คือ ๓๐ บาท เด็กนักเรียนเก็บค่าเข้าชม ๑๐ บาท ไม่มีการยกเว้น ปัจจุบันมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาติพันธ์ปีละ ๕๐๐,๐๐๐ คน การบริหารจัดการที่มีคนเวียดนามและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมจำนวนมาก มาจากการรณรงค์ให้พิพิธภัณฑสถานฯ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลสนับสนุนให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้และแผนแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องให้ทุกบริษัทการท่องเที่ยวมามาเยี่ยมชมเมื่อมาสู่ฮานอย
ข้อเสนอแนะ จากความรู้ที่ได้จากการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานของเวียดนามข้างต้น ดังนี้
๑. กรมศิลปากรควรมีแนวทางในการพัฒนาหรือการจัดรูปหน่วยงานด้านพิพิธภัณฑสถานให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ที่สามารถมีงบประมาณในการบริหารจัดการโดยเฉพาะการพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่สามารถสื่อสารหรือเผยแพร่งาน/ความรู้ได้ในระดับสากลเพื่อให้ทันกับการเปิดประชาคมอาเซียนและการก้าวทันโลกสมัยใหม่ในการใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่เป็นสากล
๒. กรมศิลปากรควรมีนโยบายให้มีการจัดตั้งและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ากับอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเช่นการประกาศรับนักศึกษา กำหนดหลักสูตรอบรม การให้ประกาศนียบัตรการผ่านงาน ฯลฯ และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้อาสาสมัคร เพื่อให้นักศึกษามาเป็นอาสาสมัครทำงานให้พิพิธภัณฑ์ฯและสามารถใช้ประโยชน์ในการเพิ่มความรู้และคุณสมบัติในการสมัครงานในอนาคต
๓. กรมศิลปากรควรมีนโยบายในการร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาหรือการผลักดันให้มีการกำหนดการมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานไว้ในหลักสูตร
๔. กรมศิลปากรควรนำเสนอกระทรวงวัฒนธรรมให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการผลักดันให้บริษัทท่องเที่ยวกำหนดการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอยู่ในรายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม
๑๐.๓ กรมศิลปากรควรดำเนินการต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและการอนุรักษ์มรดกด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนที่เข้ามาประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศ และอธิบดี หรือ ผู้อำนวยการ หรือผู้แทนของประเทศเหล่านี้ล้วนยินดีที่จะให้ความร่วมมือและประสานการดำเนินการต่อไป ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ อธิบดีกรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเลเซีย และผู้แทนผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบรูไน ยินดีให้ความร่วมมือและจะติดต่อให้นักวิชาการที่มีความรู้เรื่องคัมภีร์อัลกุรอาน และจัดการพิพิธภัณฑสถานอิสลามมาช่วยดำเนินการในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานมรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อันกุรอาน ตามที่กรมศิลปากรกำลังดำเนินการอยู่ตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศสิงคโปร์ประสงค์จะให้การสนับสนุนภัณฑารักษ์ ไปฝึกอบรมที่พิพิธภัณฑสถานในสิงคโปร์ และให้การสนับสนุนแลกเปลี่ยนนิทรรศการและแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาค้นคว้าวิจัย ทั้งนี้สิงคโปร์กำลังดำเนินการร่าง MOU ตามที่ได้มีการประชุมระหว่างผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานสิงคโปร์และอดีตอธิบดีกรมศิลปากรเมื่อครั้งไปร่วมพิธีเปิดนิทรรศการฯ ซึ่งสิงคโปร์ได้ยืมโบราณวัตถุ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยไปจัดแสดง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ อธิบดี-ผู้อำนวยการ-ภัณฑารักษ์ ซึ่งเป็นผู้แทนฯของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกประเทศ เห็นสอดคล้องที่จะให้มีความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ หรือสมาคมหรือองค์กรร่วมในการพัฒนางานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ
นางอมรา ศรีสุชาติ
ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ
(ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุศิลปวัตถุ)
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 762 ครั้ง)