รายงานการเดินทางไปราชการ ณ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
๑. ชื่อโครงการ การประชุมผู้อำนวยการห้องสมุดเอเชีย ประจำปี ๒๕๕๖ (2013 Forum for Asia Library Directors)
๒. วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานในวิชาชีพให้กระจายในวงกว้างมากขึ้นและเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในภูมิภาคเอเชียให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
๓. กำหนดเวลา ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
๔. สถานที่ โรงแรม Hongta Hotel (Lake View Hotel) Kunming, China
๕. หน่วยงานผู้จัด หอสมุดแห่งชาติจีน ร่วมกับสำนักวัฒนธรรมแห่งมณฑลยูนนาน
๖. หน่วยงานสนับสนุน
๗. กิจกรรม
๗.๑ การประชุม ในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์ความรู้และการพัฒนาห้องสมุดเอเซีย” (Knowledge Globalization and Development of Asian Libraries”
๗.๒ การศึกษาดูงานด้านวัฒนธรรม
๘. คณะผู้แทนไทย
๘.๑ นางสาวกนกอร ศักดาเดช บรรณารักษ์ ชำนาญการพิเศษ
หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาห้องสมุด
สำนักหอสมุดแห่งชาติ
๘.๒ นางสาวญานี คูหะรัตน์ บรรณารักษ์ชำนาญการ
หัวหน้าหอสมุดดำรงราชานุภาพ
สำนักหอสมุดแห่งชาติ
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
การประชุมผู้อำนวยการห้องสมุดเอเชีย ประจำปี ๒๕๕๖ (2013 Forum for Asia Library Directors) ครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกับเทศกาลศิลปะเอเชีย ครั้งที่ ๑๓ (The 13th Asia Arts Festival) เป็นการประชุมใหญ่และการประชุมกลุ่มเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นด้านความร่วมมือและการแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดกลุ่มประเทศเอเชีย ตามกรอบที่เจ้าภาพได้ริเริ่มคือ “Kunming Initiative of 2013 Forum for Asia Library Directors” ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ และผู้อำนวยการห้องสมุดต่างๆ ของประเทศในเอเซีย รวมทั้งเลขานุการทั่วไปสมาพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด (IFLA Secretary General) ผู้แทนจากคณะกรรมการบริหารหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้แทนห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน และผู้แทนหอสมุดแห่งชาตินิวซีแลนด์ รวม ๗๘ คน แบ่งการประชุมเป็น ๒ วาระ คือ การประชุมใหญ่ในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์ความรู้และการพัฒนาห้องสมุดเอเซีย” (Knowledge Globalization and Development of Asian Libraries” และการประชุมกลุ่มย่อยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ผู้แทนจากหอสมุดแห่งชาติไทยถูกจัดเข้ากลุ่ม A ในหัวข้อ “Public Accessibility, Joint Contribution and Sharing of Library Resources in Asia” กลุ่ม B หัวข้อ “Areas of Exchanges and Cooperation Models of Librariess in Asia” การประชุมมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
การประชุมใหญ่ หัวข้อ “โลกาภิวัตน์ความรู้และการพัฒนาห้องสมุดเอเซีย” (Knowledge Globalization and Development of Asian Libraries”
การประชุมเริ่มพิธีเปิด เวลา ๘.๔๐ น. โดยอธิบดีสำนักความสัมพันธ์วัฒนธรรมภายนอก กระทรวงวัฒนธรรมจีน เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากกรมบริการสาธารณะด้านวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจีน ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติจีน ผู้แทนจากกรมวัฒนธรรมยูนนาน และ Ms. Jennifer Nicholson เลขานุการทั่วไปของIFLA และMs. Ngian Lek Choh คณะกรรมการบริหารหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ร่วมในพิธีเปิด จากนั้นเป็นการบรรยายเชิงอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
หัวข้อ “Broaden Cooperation Scope and Enhance Construction and Sharing of Resources, Jointly Push Forward Librarianship in Asia” เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความร่วมมือในประเทศอาเซียนมีประวัติอันยาวนานตั้งแต่เส้นทางสายไหมจนถึงปัจจุบันยิ่งมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นมีการจัดกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือก่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น การวางรากฐานที่มั่นคงด้านการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในเอเซีย ประเทศจีนมีการพัฒนาห้องสมุดอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ มีห้องสมุดประชาชนระดับเมือง เทศบาล และจังหวัด ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ แห่ง เป็นห้องสมุดดิจิทัล มีการจัดนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การฝึกอบรมต่างๆ และมีความร่วมมือในภูมิภาค เช่น การประชุมสภาบรรณารักษ์แห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นตั้งแต่ปี1970 การประชุมผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติเอเชียและโอเชียเนีย เริ่มปี 1979 ห้องสมุดดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มปี 2004 นอกจากนี้จีนยังมีความมุ่งหมายให้กลุ่มประเทศเอเชียมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นใหม่ๆ เช่น การปรับปรุงองค์ความรู้ โครงสร้างความร่วมมือและการแบ่งปันทรัพยากร การสร้างห้องสมุดดิจิทัลเอเชีย และรูปแบบโครงสร้างเพื่อการติดต่อสื่อสารด้านความร่วมมือห้องสมุดเอเซีย การทำสหบรรณานุกรมห้องสมุดเอเชีย ความร่วมมือด้านการสงวนรักษา นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหวังที่จะทำข้อกำหนดต่างๆ ร่วมกันระหว่างห้องสมุดเอเชียในหลายประเด็น
หัวข้อ “Development of Resources and Services of the National Library and Documentation Centre (National Library of Sri Lanka) in Keeping with the Changing Global Information Environment) พัฒนาการหอสมุดแห่งชาติประเทศศรีลังกา ซึ่งดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ (NLDSB) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาจัดหาและพัฒนาห้องสมุดทุกประเภท การจัดบริการต่างๆ การแบ่งปันทรัพยากร รวมถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อความร่วมมือด้านต่างๆ ในภูมิภาคและนานาชาติ
หัวข้อ “Libraries for Life” กล่าวถึงการดำเนินงานของห้องสมุดในสิงคโปร์ที่บริหารจัดการห้องสมุดโดยคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติที่มีโครงสร้างครอบคลุมห้องสมุดและหอจดหมายเหตุทั่วประเทศ โดยมีภารกิจเพื่อสร้างความรู้ที่มีชีวิต ก่อให้เกิดจินตนาการ ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้กับทุกคน ในประเด็นหลักด้านการอ่านเพื่อชีวิต (Readers for Life) ชุมชนการเรียนรู้ (Learning Communities) องค์ความรู้แห่งชาติ (Knowledgeable Nation) ประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มแข็งทำที่ผู้ผลิตต้องส่งสื่อการพิมพ์ทุกประเภท ทุกภาษา ทุกรูปแบบที่จัดทำให้ตามพระราชบัญญัติจำนวน ๒ ฉบับ ให้หอสมุดแห่งชาติ ในแต่ปีรวบรวมได้ประมาณ ๔๐,๐๐๐ รายการ ปัจจุบันสื่อทุกประเภทที่ได้รับตามพระราชบัญญัติมีมากกว่า ๑ ล้านรายการ นอกจากนี้ยังมีสิ่งพิมพ์ที่ได้รับบริจาคซึ่งในรอบ ๗ ปี มีจำนวนมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ รายการ หอสมุดแห่งชาติมีกระบวนการสร้างความเข้มแข็งในระบบห้องสมุดทั่วประเทศ จากรายงานในปี ๑๙๙๔ มีห้องสมุดประชาชนจำนวน ๒๓ แห่งต่อประชากร ๓.๓ ล้านคน ในปี ๒๐๐๕ ตั้งเป้าหมายในปี ๒๐๒๕ ทั่วประเทศมีห้องสมุด ๓๘ แห่ง ต่อประชากร ๖.๓ ล้านคน ปรับโครงสร้างสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมุ่งให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายได้อย่างสมบูรณ์ มีงานโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็กเล็ก การส่งเสริมการอ่านในทุกระดับ โครงการความทรงจำสิงคโปร์ (The Singapore Memory Project) เพื่อสร้างองค์ความรู้ของประเทศจากรุ่นสู่รุ่นไว้เป็นมรดกความทรงจำของประเทศ โครงการขุมทรัพย์สิงคโปร์ (Treasure of Singapore) เป็นฐานข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมของสิงคโปร์ โครงการสำคัญในระดับภูมิภาคอีกโครงการหนึ่งคือ National Libraries Asia-Pacific Project เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างหอสมุดแห่งชาติในเอเซีย-แปซิฟิค เพื่อการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล เนื้อหาต่างๆ ในภูมิภาค เป็นต้น
หัวข้อ “The Librarian of Congress” กล่าวถึงงานของบรรณารักษ์ในห้องสมุดรัฐสภา แบ่งออกเป็น Congressional Research Service, Copyright Office, Law Library of Congress, Library Services, Office of Strategic Initiatives, Office of Support Operation ในประเด็นการแบ่งปันทรัพยากร ได้แก่ การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Exchange) ซึ่งทำให้ห้องสมุดรัฐสภาได้รับเอกสารโดยไม่ต้องมีการซื้อในปี ๒๐๑๓ จากภูมิภาคต่างๆ ประมาณ ๑๖๗,๒๒๕ เล่ม และการเข้าถึงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Access) ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี โดยการอ่าน ดาวน์โหลด การเผยแพร่ การพิมพ์ การสืบค้น และเชื่อมโยง ตัวอย่างที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ เช่น Asian Open Access Sites และ Publishers Providing Open Access เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงอุปสรรคด้านการบริการที่ทำให้ไม่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี ได้แก่ การปิดกั้นด้านข้อมูล ลิขสิทธิ์ และการคิดค่าบริการ เป็นต้น
การประชุมกลุ่ม A ในหัวข้อ “การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและการแบ่งปันทรัพยากรห้องสมุดในเอเชีย (Public Accessibility, Joint Contribution and Sharing of Library Resources in Asia)”
๑. ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศระหว่างหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการยืม-คืนระหว่างห้องสมุด
๒. ความร่วมมือและการสื่อสารในเรื่องการสงวนและอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศ ควรสร้างเครื่องมือสื่อสารระดับอาชีพ และมีการประชุมเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์เอกสารดิจืทัล
๓. มึความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนในการใช้ทรัพยากรร่วมกันของห้องสมุดอัตโนมัติ ร่วมกันจัดทำข้อมูลดิจิทัลเพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน มีการประสานแลกเปลี่ยน เรื่อง สหบรรณานุกรม (Union Catalogue)
๔. สนับสนุนเรื่องการตั้งศูนย์ฝึกอบรม แลกเปลี่ยนบุคลากรห้องสมุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรระดับผู้อำนวยการ และระดับผู้เชี่ยวชาญ
๙.๒ การศึกษาดูงานด้านวัฒนธรรม
รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในเรื่องวัฒนธรรมของประเทศมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นของชนเผ่าดั่งเดิมของมณทล จึงได้จัดให้คณะผู้เข้าร่วมการประชุมได้เข้าชมเพื่อศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมชองชนเผ่าต่างๆ และป่าหินในมณฑลยูนนาน (Stone Forest - Yunnan)
๑๐. ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
๑๐.๑ การประชุมครั้งนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม และมณฑลยูนนาน มีการจัดการประชุม และการเยี่ยมชมวัฒนธรรมของเมืองซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดต่างๆในประเทศจีน เป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ สงวนรักษามรดกภูมิปัญญาและทรัพยาสารสนเทศของท้องถิ่นที่แสดงถึงความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ประเทศจีนให้ความสำคัญกับห้องสมุดมาก ห้องสมุดมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ที่สำคัญคือรัฐบาลให้ความสำคัญกับห้องสมุดอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นความสำคัญว่าห้องสมุดเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติ
๑๐.๒ สถานะภาพของหอสมุดแห่งชาติจีนมีอำนาจที่ครอบคลุมห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ จึงทำให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ โครงการและกิจกรรม และการจัดการทรัพยากรสารสนเทศของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
๑๐.๓ การเข้าร่วมประชุมทางวิชาชีพในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการงานห้องสมุดสมัยใหม่ ได้แนวทางการพัฒนาห้องสมุด การพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดการสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บ และให้บริการ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาชีพ และความคิดเห็นทั่วไป ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ในมุมมองที่เป็นสากลขึ้น หน่วยงานควรให้การสนับสนุนการเข้าร่วมประชุมทางวิชาชีพเฉพาะของบุคลากรในระดับนานาชาติ เพื่อเติมเต็มความสามารถของบุคลากรให้มีศักยภาพ สถานะภาพ มีวิสัยทัศน์และองค์ความรู้ที่เป็นสากลในการทำงานเป็นเครือข่ายในระดับนานาชาติต่อไป
๑๐.๔ รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ สนันสนุนกิจการหอสมุดแห่งชาติไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในเอเซีย เพื่อที่จะก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลก การจัดสรรงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการให้กับหอสมุดแห่งชาติเพื่อรักษา สืบทอด และถ่ายโอนข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิทัล จะทำให้หอสมุดแห่งชาติมีระบบบริการที่ทันสมัย สามารถยกระดับเป็นห้องสมุดชั้นนำของโลกได้
นางสาวกนกอร ศักดาเดช
บรรณารักษ์ ชำนาญการพิเศษ
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 609 ครั้ง)