รายงานการเดินทางไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น
๑. ชื่อโครงการ โครงการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น บานประตูหน้าต่างพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๒. วัตถุประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์ลายประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นที่ประดับอยู่ด้านหลังบานประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กทม. ประกอบด้วยบานประตูจำนวน ๓ คู่ บานหน้าต่างจำนวน ๑๖ คู่ ให้อยู่ในสภาพถาวรงดงามสืบไป
๓. กำหนดเวลา คณะเดินทางมีกำหนดการเดินทางตั้งแต่วันที่ ๖ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ แต่เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่สั่งจองที่นั่งของสายการบิน Japan Airlines เที่ยวที่ JL 707 ในวันที่ ๑๒ เต็ม ทางคณะตัวแทนวัดราชประดิษฐ์ ฯ จึงจัดให้นายอำพล สัมมาวุฒธิ เดินทางกลับประเทศไทยก่อนด้วยสายการบิน Japan Airlines เที่ยวที่ JL 707 ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖
๔. สถานที่ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
๕. หน่วยงานผู้จัด วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๖. หน่วยงานผู้สนับสนุน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
๗. กิจกรรม เพื่อนำชิ้นงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น และงานรักลายนูนบนหน้าต่างจำนวน ๒ ชิ้นของวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ฯ นำไปทำการวิจัยและซ่อมแซม ตลอดจนมอบหนังสือสัญญาข้อตกลงทางการวิจัยกับทางสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๒ ปี ศึกษาดูงานการเรียนเครื่องรักญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโตเกียว และศึกษารูปแบบศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงโตเกียวและวัดสำคัญที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
๘. คณะผู้แทนไทยประกอบด้วย
- พระครูวินัยธร อารยพงศ์ เช็งเจริญ เลขานุการเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง
Phrakruwinaithorn Arayapong Chengcharoen
- พระครูธรรมทอน วิวัติ พงษ์เกิด คณะผู้แทนวัดราชประดิษฐ์ ฯ
Phrakhruthammathon Wiwat Purangkerd
- พระครูธรรมาทอน อภิชาต สินทรัพย์เพิ่ม คณะผู้แทนวัดราชประดิษฐ์ ฯ
Phrakhruthammathon Apichart Sinsubperm
- พระครูสมุดเดโช สำเริง คณะผู้แทนวัดราชประดิษฐ์ ฯ
Phrakhrusamu Decho Samreaj
- พระมหาอนุรักษ์ ประภาวดี คณะผู้แทนวัดราชประดิษฐ์ ฯ
Phramaha Anulak Prapavadee
- นายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ(เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม(วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม)) คณะผู้แทนจากกรมศิลปากร
Mr.Ampol Summavuti
- นางนิชาภัทร์ จันทร์ส่องแสง ผู้ร่วมประสานงาน
Ms.Nichapat Junsongsang
- นายสุทธิพงษ์ ทองแสง ผู้ร่วมประสานงาน
Mr.Sutipong Tongsaeng
- นางสุวิวรรณ อยู่สุขโข ล่ามผู้แปลภาษาไทย – ญี่ปุ่น
Ms.Suwiwan Euasookkul
๙. สรุปสาระของกิจกรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๒๓.๓๐ น. คณะผู้แทนของทางวัดราชประดิษฐฯผู้นำชิ้นงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น และงานรักลายนูนบนหน้าต่างจำนวน ๒ ชิ้นของวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ฯ เพื่อนำชิ้นงานไปทำการวิจัยและซ่อมแซม ตลอดจนมอบหนังสือสัญญาข้อตกลงทางการวิจัยกับทางสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยพระครูวินัยธร อารยพงศ์ เช็งเจริญ เลขานุการเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง พระสงฆ์ร่วมคณะจำนวน ๔ รูป ตัวแทนกรมศิลปากร ๑ คน (นายอำพล สัมมาวุฒธิ) ผู้ร่วมประสานงานและล่ามแปลภาษา จำนวน ๓ คนรวม พระสงฆ์ ๕ รูป ฆราวาส ๔ คน ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบิน Japan airline เที่ยวที่ [JL 718]
วันจันทร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๐๗.๓๕ น. คณะผู้แทนของทางวัดราชประดิษฐฯเดินทางโดยเครื่องบิน Japan airline เที่ยวที่ [JL 718] ถึงยังสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการขั้นตอนการนำเข้าศิลปวัตถุสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยมอบเอกสารให้กับบริษัท นิปปอน เอ็กเพรส จำกัด ดำเนินการต่อด้านขั้นตอนพิธีการนำเข้าบานไม้หน้าต่างประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น เพื่อนำไปเตรียมไว้ที่สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว คุณโยโกะ [Yoko Futagami] และคุณฟูไค [Hiromu Fukai] เจ้าหน้าที่ของสถาบันมาต้อนรับและนำคณะเดินทางไปที่พักเพื่อเก็บสัมภาระโดยการนั่งรถไฟฟ้าไคเซน
เวลา ๐๙.๒๗ น. เดินทางจากสนามบินนาริตะถึงเมือง Ueno (ยูเอโน่) และเดินจากสถานีเพื่อนำของเข้าพักที่ Hotel Parkside โรงแรมพาร์คไซค์
เวลา ๑๓.๓๐ น. คณะผู้แทนของทางวัดราชประดิษฐฯเดินทางมายัง สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติฯ เพื่อร่วมเปิด
กล่องชิ้นงานทั้งสองร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางสถาบันฯ คุณโยโกะ และคุณยามาชิตะ [Yoshihiko Yamashita] และเจ้าหน้าที่บริษัท
ประกันภัยจากไทยที่มาพร้อมกับคณะเดินทาง เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยก่อนพิธีการในวันรุ่งขึ้น ผลปรากฏว่าชิ้นงานอยู่ใสภาพเรียบ
ร้อยก่อนการเดินทางทุกประการ หลังจากนั้นได้หาลือถึงขั้นตอนในการดำเนินการในวันรุ่งขึ้นเพื่อความพร้อม
เวลา ๑๕.๕๔ น. เดินทางกลับที่พัก
วันอังคารที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๐๙.๒๐ น. รถยนต์จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นมารับเพื่อนำคณะสงฆ์ซึ่งเป็นคณะผู้แทนเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามไปฉันท์ภัตตาหารเพลที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ตามคำนิมนต์ของท่านเอกอัครราชทูตฯ ธนาธิป อุปัติศฤงค์ พร้อมทั้งคณะที่ร่วมเดินทาง ตลอดจนคุณโยโกะ เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารด้วย ในการไปเยือนทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวครั้งนี้ เพื่อพบปะและปรึกษาเกี่ยวกับการมอบบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น เพื่อการวิจัยและซ่อมแซม เมื่อเสร็จเดินทางกลับที่พัก
เวลา ๑๔.๓๐ น. คณะผู้แทนเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ได้มีพิธีมอบหนังสือสัญญาข้อตกลงด้านการวิจัยและซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๒ ปี ในการนี้ ท่านเอกอัครราชทูตฯ ธนาธิป อุปัติศฤงค์ และภริยา พร้อมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือสัญญาข้อตกลงด้านการวิจัยและซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น และหนังสือตอบรับการรับมอบชิ้นบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นไว้ เพื่อการวิจัยและซ่อมแซม ระหว่างวัดกับสถาบันฯด้วย
คุณคาเมอิ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้กล่าวคำต้อนรับคณะผู้แทนเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ และท่าน ทูตไทย ณ กรุงโตเกียว โดยมีคุณสุวิวรรณ เอื้อสุขกุล เป็นล่ามในการสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่าย อนึ่ง ท่านเอกอัครราชทูตฯ ธนาธิป อุปัติศฤงค์ และภริยา พร้อมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ยังได้ให้เกียรติขึ้นไปชมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ที่ทางวัดนำมามอบให้กับสถาบันเพื่อทำการวิจัยและซ่อมแซมต่อไป บนชั้น ๓ ที่ทำการของสถาบันฯอีกด้วย
เวลา ๑๗.๒๐ น. เดินทางกลับที่พัก
วันพุธที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๐๙.๓๐ น. เดินทางไปศึกษารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น ณ วัด KotoKu Temple (โคโตคุ)
เวลา ๑๒.๔๐ น. เดินทางไปศึกษารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น ณ วัด Kencho – ji Temple (เคนโชจิ)
เวลา ๑๓.๕๐ น. เดินทางไปศึกษารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น ณ วัด Engaku – ji Temple (เอนกาคูจิ)
เวลา ๑๕.๑๕ น. เยี่ยมชม Tsurugaoka – Hachimangu Shrine ศาลเจ้าทัสสุรุกาโอกะ ฮาชิมันกุ ซึ่งเป็นศาลเจ้าสำคัญ เพื่อรำลึกถึง ฮาชิมัน เทพเจ้าแห่งสงคราม สร้างในปีค.ศ.1191
เวลา ๑๗.๒๕ น. เดินทางกลับที่พัก
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๐๙.๓๕ น. เดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเครื่องรักญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยศิลปะของโตเกียว โดยคุณโยโกะ และคุณยามาชิตะ เป็นผู้นำไป และได้เข้าพบกับ อาจารย์ โอกูระ โนริฮิโกะ [Ogura Norihiko] อาจารย์คณะศิลปกรรมเครื่องรักญี่ปุ่นเป็นผู้นำชม ท่านนำชมผลงานคณะจารย์บางส่วน การปฏิบัติงานเครื่องรักของนักศึกษาระดับต่าง ๆ ได้แก่ ปี ๑ – ๒ ฝึกปฏิบัติสร้างเครื่องมือใช้เองได้แก่อุปกรณ์การกรองยางรัก (อุปกรณ์สร้างด้วยไม้) อุปกรณ์การปาดยางรักด้วยไม้สน ซึ่งนักศึกษาทั้งหญิงและชายจะต้องสร้างขึ้นเอง การปฏิบัติงานนักศึกษาปี ๓ – ๔ สร้างชิ้นงานเครื่องรักโดยการออกแบบชิ้นงาน การสร้างหุ่นขึ้นเองทั้งแบบปั้น ปะติดด้วยกระดาษ ขึ้นหุ่นด้วยโฟรมหรือฟองน้ำและปะติดด้วยกระดาษ จนชั้นปีสูงขึ้นทำการขึ้นหุ่นด้วยวิธีที่ยากขึ้นได้แก่การขึ้นหุ่นด้วยไม้แกะสลัก ทุกลักษณะการขึ้นหุ่นจบลงด้วยการทำพื้นยารักและประดับตกแต่งด้วยกรรมวิธียางรักแบบญี่ปุ่น ทั้งการทำรักสี โรยทอง รักสีขูดลายหรือรักลายนูน ล้วนมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ได้ศึกษาห้องบ่มเครื่องรัก และห้องปฏิบัติการตกแต่งผิวขั้นสุดท้ายที่เป็นห้องปลอดจากฝุ่นละออง ซึ่งคณะฯ ได้รับความรู้ความเข้าใจพอควรเนื่องจากไม่มีการจัดแบบแสดงกระบวนการครบวงจรเพียงศึกษาดูงานการเรียนการสอนพอสังเขป จากการสังเกตพบว่ามีนักศึกษาที่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และผู้เรียนวิชาเครื่องรักก็มีอาการแพ้ยางรักอยู่จำนวนมากแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงจนต้องเลิกเรียน
เวลา ๑๓.๕๐ น. เดินทางไปศึกษารูปแบบศิลปกรรม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงโตเกียว พบว่ามีการจัดนิทรรศการศิลปกรรมนานาประเทศในอาเซียนเป็นห้อง ๆ และมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนด้านศิลปกรรมภายในประเทศเป็นระยะทำให้ประชาชนสนใจติดตามชม สักเกตว่ามีผู้คนเข้าชมจำนวนมาก ตลอดการเข้าชมพื้นที่การจัดกว้างขวาง ตลอดจนมีที่ขายสินค้าที่เป็นของที่ระลึกและหนังสือประวัติศาสตร์และศิลปกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เวลา ๑๗.๐๐ น. เดินทางกลับที่พัก
วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๑๗.๕๕ น. เดินทางออกจากสนามบิน นาริตะ ประเทศญี่ปุ่นด้วยสายการบิน Japan airline เที่ยวที่ [JL 707]
เวลา ๒๓.๒๕ น. เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ
๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
การเดินทางร่วมไปกับคณะตัวแทนของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามครั้งนี้ ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการดูแลอนุรักษ์ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุประเภทเครื่องรัก และเครื่องรักประดับมุกแบบญี่ปุ่น ที่ต้องใช้ความระมัดระวังและความประณีตเป็นอย่างสูงที่จะสามารถคงสภาพชิ้นงานให้คงอยู่สืบไปแม้จะต้องใช้เวลาในการดำเนินงานที่มากพอควร และได้ทราบถึงความรักความภาคภูมิใจใจศิลปวัตถุ โบราณวัตถุมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้สัมผัสความรู้สึกของทั้งท่านผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาร่วมพิธีส่งมอบเพื่อการวิจัยครั้งนี้มีความปลื้ม ปิติ ที่ได้พบเห็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากประเทศญี่ปุ่นที่หาได้น้อยชิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็กประเภทกล่อง ตลับพบอยู่ในทวีปยุโรปและประเทศจีน แต่ที่มีปรากฏในประเทศไทยกับเป็นชิ้นขนาดใหญ่และมีจำนวนเป็นร้อยชิ้นที่สามารถประดับบานประตูและบานหน้าต่างทำให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำเอางานลักษณะนี้มาประดับไว้ในประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันมีช่างที่สร้างงานประเภทนี้ในญี่ปุ่นน้อยลงมาก
ทั้งด้านการถ่ายทอดศิลปกรรม วัฒนธรรมของชนชาติญี่ปุ่น ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอันลำเลิศ แต่ญี่ปุ่นเองก็พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของเขาไว้ ถึงขั้นจัดเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีถึงระดับปริญญาเอก ในขณะที่ประเทศไทยเองการนำวิชาช่างไทยแบบโบราณมาจัดทำเป็นหลักสูตรทำการเรียนการสอนเริ่มลดน้อยถอยลง ก็คงมีหน่วยงานภาครัฐบางส่วนที่นำเอาวิธีการแบบช่างไทยโบราณมาใช้ในการปฏิบัติงานอยู่บ้างเช่น สำนักโบราณคดี สำนักช่างสิบหมู่ ของกรมศิลปากร ดังนั้นการอนุรักษ์และพัฒนาวิธีการด้านช่างไทยในขณะนี้อาจอยู่ในขั้นวิกฤติที่ต้องได้รับการดูแลรักษาจากทุกภาคส่วน
นายอำพล สัมมาวุฒธิ
ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 426 ครั้ง)