โขนพบโนรา มรดกวัฒนธรรมบนวิถีสืบสานและสร้างสรรค์
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง โขนพบโนรา มรดกวัฒนธรรมบนวิถีสืบสานและสร้างสรรค์
โขนพบโนรา มรดกวัฒนธรรมบนวิถีสืบสานและสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจรของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร โดยมีเป้าหมายในการเดินทางไปจัดการแสดงยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค โดยการเดินทางสัญจรไปจัดการแสดงที่ภาคใต้เมื่อปี ๒๕๖๖ ได้เพิ่มความแปลกใหม่และท้าทาย ด้วยการนำ “โขน” และ “โนรา” สองศิลปะการแสดงที่มีรากวัฒนธรรมหยั่งลึก ซึ่งได้รับการประกาศรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาจัดแสดงบนเวทีเดียวกัน ภายใต้การนำเสนอวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามมกุฎอยุธยา กำกับการแสดงโดยปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปิน (ด้านอำนวยการแสดง)
“โขน” กำเนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และหนังใหญ่ เป็นนาฏกรรมเก่าแก่ที่มีแบบแผนสืบมาแต่โบราณ ผ่านการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงให้ประณีตงดงามขึ้นตามลำดับ ผู้แสดงเป็นตัวยักษ์และลิงสวมหัวโขนปิดหน้า ผู้แสดงตัวพระ – นาง ซึ่งสมมติเป็นเทพบุตร เทพธิดา และมนุษย์ ชาย หญิง สวมศิราภรณ์ประดับศีรษะ แสดงท่าเต้นและรำไปตามบทพากย์ - เจรจา บทร้อง และเพลงหน้าพาทย์ โดยมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง เว้นแต่ตัวแสดงที่เป็นตัวตลกจะเป็นผู้เจรจาเอง
“โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่มีลีลาการร่ายรำที่งดงาม แข็งแรง กระฉับกระเฉง ประกอบการขับกลอนด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ มีลูกคู่และดนตรีร้องรับด้วยจังหวะที่คึกคักฉับไวอันเป็นเอกลักษณ์ มีรากมาจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อบูชาวิญญาณบรรพชนและมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนใต้มาอย่างช้านาน
โขนพบโนรา นับเป็นมิติใหม่แห่งการแสดงที่ผสานร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมร้อยมรดกวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว โดยความร่วมมือระหว่างสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) มารับบทเป็นพระอินทร์แปลง และร่วมออกแบบบทร้อง เพลงดนตรี สร้างสรรค์ผสมผสานท่ารำโนราให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่เป็นแกนหลัก แสดงร่วมกันระหว่างนาฏศิลปินจากสำนักการสังคีต และผู้แสดงโนราจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
กระบวนการจัดทำบทการแสดงโขนพบโนรา เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามมกุฎอยุธยา เริ่มจากการจัดทำบทโขนขึ้นเป็นหลัก โดยจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการพิเศษ สำนักการสังคีต เป็นผู้ปรับปรุงบทการแสดงในตอนศึกอินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์จากบทเดิมของกรมศิลปากร ซึ่งนำมาจากบทคอนเสิร์ตพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยเป็นตอนที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปร้อยเรียงเป็นบทการแสดงโขนร่วมกับโนรา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์เรียบเรียงบทชมช้างเอราวัณและระบำหน้าช้างในส่วนของโนรา โดยปรับทำนองและคำร้องเพลงกลอนโนราตั้งแต่ช่วงอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ - อินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ให้เป็นทางโนราได้อย่างลงตัว สวยงาม สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของทั้งสองศิลปะได้เป็นอย่างดี
โขนพบโนรา เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามมกุฎอยุธยา จัดแสดงครั้งแรกวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เนื้อเรื่องกล่าวถึง ทศกัณฐ์มีบัญชาให้กาลสูรไปแจ้งแก่อินทรชิตให้ทำพิธีชุบศรพรหมาสตร์ อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ และสั่งให้ไพร่พลแปลงกายเป็นเทวดา นางฟ้า นาค ฤษี และขบวนเกียรติยศ การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ เคลื่อนขบวนจับระบำรำฟ้อนไปในอากาศทำกลลวงให้ฝ่ายกองทัพพระลักษมณ์หลงกล เมื่อสบโอกาส อินทรชิตจึงแผลงศรพรหมาสตร์ถูกพระลักษมณ์และพลวานรสลบไป ต่อมาพิเภกได้บอกสรรพยาในการแก้ไขพิษศรพรหมาสตร์แก่พระราม จนพระลักษมณ์และพลวานรฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง จากนั้นยกกองทัพออกทำศึกกับทศกัณฐ์จนได้รับชัยชนะ เมื่อเสร็จศึกจึงรับนางสีดาพร้อมยกขบวนกองทัพคืนกลับไปปกครอง กรุงศรีอยุธยา เหล่าบรรดาเทพบุตร นางฟ้า ต่างร่วมกันจับระบำรำฟ้อนถวายพระพรชัยด้วยความยินดี
รูปแบบการแสดง
การแสดงโขนดำเนินเรื่องด้วยการขับร้อง การพากย์ - เจรจา และบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ ตามรูปแบบของการแสดงโขน โนราดำเนินเรื่องตามเนื้อเรื่องหลักของการแสดงโขน โดยผู้แสดงโนราเป็นผู้ขับกลอนเองและดนตรีร้องรับ ทั้งนี้ได้มีการผสมผสานกับเพลงบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์เครื่องคู่ในการรำโนรา ใช้เวลาทำการแสดงประมาณ ๒ ชั่วโมง ๒๐ นาที
การแต่งกาย
ผู้แสดงโขนแต่งกายยืนเครื่องตามจารีต ผู้แสดงโนราสวมเครื่องแต่งกายโนราที่ร้อยเรียงขึ้นด้วยลูกปัดสีสันต่าง ๆ สวมปีกหาง ศีรษะสวมเทริดทรงสูง และออกแบบพัฒนาชุดพระอินทร์แปลงขึ้นใหม่อย่างโนรา โดยใช้โทนสีเขียวและเหลืองทอง ตามความหมายและเอกลักษณ์ของตัวละคร รวมทั้งการใช้ ศร อาวุธประจำตัวของตัวละครตามจารีตของการแสดงอย่างครบถ้วน
ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง
ใช้วงปี่พาทย์เครื่องคู่ประกอบการแสดงโขน และใช้วงปี่พาทย์ชาตรี (วงโนรา) บรรเลงประกอบการแสดงโนรา กำกับดนตรีโดย พงค์พันธ์ เพชรทอง ดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต ปรับวิธีการบรรเลงเพลงลิงลาน และเพลงกราวรำพม่าให้เป็นสำเนียงพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างหน้าทับของวงปี่พาทย์และวงโนรา ในบทบาทของผู้แสดงโนรา
รายการอ้างอิง
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. โนรา ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๖๓.
จรัญ พูลลาภ. นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการพิเศษ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์. ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗.
พงค์พันธ์ เพชรทอง. ดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์. ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗.
ภาพถ่าย
กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
บทความโดย ธัญนัฏกร กล่ำแดง นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1456 ครั้ง)

Messenger