พัดในการแสดงนาฏศิลป์โขน ละคร
บทความ เรื่องพัดในการแสดงนาฏศิลป์โขน ละคร
เรียบเรียงโดย นายไพโรจน์ ทองคำสุก นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ
พัด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า เครื่องโบกหรือกระพือลม มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน รูปทรงแตกต่างกัน และการนำไปใช้ก็แตกต่างกันด้วยชื่อที่ใช้เรียก เช่น พัดด้ามจิ้ว พัดโบก พัดวิชนี ซึ่งแต่ละชนิดมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไป
พัดด้ามจิ้ว พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อพัดชนิดหนึ่งที่คลี่ได้พับได้ ด้ามติ้วก็ว่า
พัดโบก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อเครื่องสูงชนิดหนึ่งสำหรับโบกลมถวายพระมหากษัตริย์ซึ่งประทับ ณ ที่สูง ถือเป็นของสูง
พัดวิชนี พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อพัดชนิดหนึ่ง มีชื่ออีกว่า วิชนี
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติ ในการนำไปใช้ในการแสดงนาฏศิลป์โขนละครที่แตกต่างกันอีกด้วย จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าพัดใช้ในการแสดงโขน ละครนอก ละครพันทาง เป็นต้น
๑. พัดด้ามจิ้ว
๑.๑ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรากฏในการแสดงโขนตอนทศกัณฐ์ลงสวน ซึ่งทศกัณฐ์พญายักษ์เจ้ากรุงลงกา เนื้อเรื่องโดยสังเขป กล่าวถึง ทศกัณฐ์เมื่อลักพานางสีดามาได้ก็นำนางมาอยู่ที่สวนขวัญ ภายในกรุงลงกา วันหนึ่งใคร่จะไปหานางสีดา จึงแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ มีผ้าแดงพาดบ่า ถือพัดด้ามจิ้ว มือขวาคล้องพวงมาลัย องอาจผึ่งผาย เสด็จไปยังสวนขวัญที่อยู่ของนางสีดา ดังบทร้องฉุยฉายที่กล่าวไว้ว่า
ร้องเพลงฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย จะไปไหนหน่อยเจ้าก็ลอยชาย
เยื้องย่างเจ้าช่างกราย หล่อนมิเคยพบชายนักเลงเจ้าชู้
จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน เจ้าช่างกระบวนหนักหนาอยู่
ฉุยฉายเอย จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างกราย หล่อนมิเคยพบชายนักเลงเก่งแท้
จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน เจ้าช่างกระบวนเสียจริงเจียวแม่
ร้องแม่ศรี
ยักษีเอย ยักษีโศภน
เจ้าช่างแต่งตน เลิศล้นหนักหนา
ห้อยไหล่แดงฉาด งามบาดนัยน์ตา
ช่างงามสง่า จริงยักษีเอย
ยักษีเอย ยักษีทศศีร์
วางท่าจรลี ท่วงทีองอาจ
มุ่งใจใฝ่หา สีดานงนาฏ
แล้วรีบยุรยาตร เข้าอุทยานเอย
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา
สำหรับความเป็นมาของกระบวนท่ารำซึ่งมีท่าการใช้พัดโบก สะบัดไปมางดงามตามกระบวนท่าโขนยักษ์ มีประวัติโดยสังเขปดังนี้ กระบวนท่ารำนั้นไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ประดิษฐ์ แต่ปรากฏภาพทศกัณฐ์ทรงเครื่องมีผ้าห้อยบ่าสองข้าง มือขวาถือพัดด้ามจิ้ว และมีพวงมาลัยคล้องที่ข้อมือขวา ซึ่งในครั้งนั้นพระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) เป็นผู้แสดง (ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
๑.๒ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรากฏในการแสดงละครพันทางเรื่องราชาธิราชตอน สมิงพระรามอาสา ซึ่งพระเจ้ากรุงปักกิ่ง (พระเจ้าเส่งโจ๊วฮ่องเต้) ทรงพกพัดด้ามจิ้ว (ขนาดใหญ่) ติดตัวตามรูปแบบของการแสดงนาฏศิลป์จีน และใช้โบกพัด พร้อมทั้งปิดบังความโศกเศร้าเสียใจที่กามนีทหารเอกต้องมาพ่ายแพ้ต่อสมิงพระราม ยังความอับอายเป็นอันมาก
เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง พระเจ้าเส่งโจ๊วฮ่องเต้ แห่งกรุงจีน มีทหารเอกคนหนึ่งชื่อว่ากามนี เป็นผู้ที่มีฝีมือในการขี่ม้าแทงทวนสันทัดมาก พระองค์ประสงค์จะทอดพระเนตรบรรดาทหารจากเมืองต่าง ๆ ขี่ม้าแทงทวนสู้กับกามนีตัวต่อตัว แต่ก็ยังหาเมืองใดที่จะมีทแกล้วทหารที่สามารถสู้กับกามนีได้ เห็นจะมีทหารที่สู้ได้อยู่แต่กรุงอังวะกับกรุงหงสาวดี ดังนั้น พระเจ้ากรุงจีนจึงให้โจเปียว ทหารเอกอีกผู้หนึ่งอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้าอังวะ ในพระราชสาส์นนั้น มีใจความอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่ง มีความประสงค์ให้พระเจ้าอังวะยอมอยู่ในอำนาจและออกมาถวายบังคม อีกประการหนึ่ง จะใคร่ทอดพระเนตรทหารขี่ม้ารำทวนสู้กัน โดยมีข้อสัญญาว่า ถ้าฝ่ายอังวะแพ้ต้องยอมถวายเมือง หากชนะทางฝ่ายจีนก็จะเลิกทัพกลับไป ครั้นพระเจ้าอังวะทรงแจ้งในพระราชสาส์นแล้ว จึงให้ตีฆ้องร้องป่าวหาผู้รับอาสา สมิงพระรามทหารแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งขณะนั้นเป็นอาชญากรสงครามอยู่ ณ กรุงอังวะ เมื่อได้ยินป่าวร้องดังนั้น จึงคิดว่าถ้าพระเจ้ากรุงจีนได้เมืองอังวะแล้ว ก็คงไม่สิ้นความปรารถนา ต้องยกล่วงเลยไปตีกรุงหงสาวดีด้วย จึงขอรับอาสาสู้กามนี เมื่อถึงกำหนดวันประลอง ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงฝีมือร่ายรำเพลงทวนกันอย่างสวยงามคล่องแคล่วว่องไว ฝ่ายหนึ่งรำฝ่ายหนึ่งตาม ผลัดเปลี่ยนกันอยู่หลายสิบเพลง สมิงพระรามจึงแกล้งทำอุบาย ร่ายรำยกแขน ก้มศีรษะโดยหวังจะดูช่องเกราะของกามนี ที่จะสอดทวนเข้าไปแทงได้กามนีไม่รู้เท่าก็รำทำท่ายกแขน ก้มศีรษะตาม สมิงพระรามเห็นได้ที จึงสอดทวนแทงเข้าช่องใต้รักแร้ และเอาดาบฟันลงที่ท้ายทอย ตัดศีรษะกามนีได้ บรรดาทหารจีนทั้งหลายเห็นพระเจ้ากรุงจีนเสียพระทัยมาก และเกรงว่าจะเป็นที่อัปยศแก่พม่า จึงรับอาสาจะตีกรุงอังวะมาถวาย แต่พระเจ้ากรุงจีนทรงห้ามไว้ และทรงทำตามคำมั่นสัญญา โดยสั่งเลิกทัพเสด็จกลับยังกรุงจีน ดังบทร้องแห่งความโศกเศร้าที่กล่าวไว้ว่า
- ร้องเพลงจีนหลวง -
เมื่อนั้น เจ้ากรุงจีน มัวหมอง ไม่ผ่องใส
สุดแสน อัประยศ สลดใจ คิดอาลัย ทหาร ชาญสงคราม
จึงตรัสสั่ง เสนา ว่าบัดนี้ กามนี วายวาง กลางสนาม
ต่อหีบ ให้สมยศ งดงาม ใส่ไปฝัง เสียตาม ประเพณี
กระดาษต่อ ทำต่าง อย่างศีรษะ เสร็จแล้วจะ ยกทัพ กลับกรุงศรี
จงเตรียมพร้อม พหล พลโยธี รุ่งพรุ่งนี้ ยกกลับ ไปฉับพลัน
บัดนั้น เสนานาย ฝ่ายพหล พลขันธ์
รับโองการ กราบก้ม บังคมคัล ไปจัดสรร เสร็จสิ้น ตามบัญชา
ขณะที่พระเจ้ากรุงจีนแสดงท่าทางก็จะใช้พัดปิดบังใบหน้าด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ในบทที่กล่าวถึงความมัวหมองไม่ผ่องใส สุดแสน อัปยศ สลดใจ คิดอาลัย ทหาร ชาญสงคราม และเมื่อเดินเข้าเวทีก็ยังใช้พัดปิดบังใบหน้าบ้างบางช่วง แสดงถึงความโศกเศร้าสลดใจ
๒. พัดโบก
๒.๑ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประกอบขบวนพระเกียรติยศ ปรากฏในการแสดงโขนตอนพรหมาสตร์ พระอินทร์แปลง ยกขบวนพระเกียรติยศพร้อมเครื่องสูง และเทวดา นางฟ้า
เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง ทศกัณฐ์รับสั่งให้แสงอาทิตย์ หลานชายผู้เรืองฤทธิ์ด้วยแว่นวิเศษ กับพิจิตรไพรีพี่เลี้ยง ออกรบ กับพระรามเพื่อขัดตาทัพ ขณะที่อินทรชิต โอรสของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ตั้งพิธีชุบศรพรหมาสตร์ ซึ่งพระอิศวรประทานให้ ณ เชิงเขาจักรวาล เพื่อใช้สังหารข้าศึกให้หมดสิ้นไป เมื่อแสงอาทิตย์และพิจิตรไพรี ถูกพระราม พระลักษมณ์ฆ่าตาย ทศกัณฐ์ใช้ให้กาลสูรไปทูลให้อินทรชิตทราบข่าวและมีรับสั่งให้ยกทัพไปสู้กับข้าศึกโดยเร็ว อินทรชิตพิโรธกาลสูรที่ทูลถึงความพ่ายแพ้เป็นลางกลางพิธี แต่ด้วยพระราชกระแสรับสั่ง จึงงดโทษและตรัสสั่งให้รุทการจัดเตรียมกองทัพ โดยให้ไพร่พลแปลงเป็นคนธรรพ์ เทวดา นางฟ้า และนักสิทธิ์ การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ แล้วตนเองแปลงเป็นพระอินทร์ ยกกองทัพไปล่อลวงพระลักษมณ์และพลวานรให้หลงเชื่อว่าเป็นกองทัพพระอินทร์ อินทรชิตแผลงศรพรหมาสตร์ถูกพระลักษมณ์และพลวานรสลบลง เหลือแต่หนุมานผู้เดียวเหาะขึ้นไปหักคอช้างเอราวัณ ถูกตีด้วยคันศรตกลงมาสลบเช่นกัน อินทรชิตจึงยกทัพกลับเข้ากรุงลงกาด้วยความมีชัย ดังบทร้องที่กล่าวว่า
- ร้องเพลงกราวนอก -
ขึ้นทรง คอคชา เอราวัณ ทหารแห่ โห่สนั่น หวั่นไหว
ขยายยก โยธา คลาไคล ลอยคว้าง มาใน โพยมมาน
- ร้องเพลงทะแยกลองโยน -
ช้างนิมิต เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน
เริงแรงกำแหงหาญ ชาญศึกสู้รู้ท่วงที
ผูกเครื่องเรืองทองทอ กระวินทองหล่อทอแสงศรี
ห้อยหูพู่จามรี ปกกระพองทองพรรณราย
เครื่องสูงเรียงสามแถว ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย
อภิรุมสับชุมสาย บังแทรกอยู่เป็นคู่เคียง
กลองชนะประโคมครึก มโหรทึกกึกก้องเสียง
แตรสังข์ส่งสำเนียง นางจำเรียงเคียงช้างทรง
สาวสุรางค์นางรำฟ้อน ดังกินนรแน่งนวลหงส์
นักสิทธิ์ฤทธิรงค์ ถือทวนธงลิ่วลอยมา
ขบวนของพระอินทร์แปลงประกอบด้วยเครื่องสูงครบถ้วน
๒.๒ เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ปรากฏในการแสดงละครพันทางเรื่องพญาผานอง ซึ่งพระวรุณเทพเจ้าทรงถือพัดโบกในการประทานฝนให้กับนางพญาคำปิน เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง นางพญาคำปินครองเมืองวรนครแทนพญาเก้าเกื่อนพระราชสามี ซึ่งเสด็จไปครองเมืองภูคา ขณะนั้นนางพญาคำปินทรงพระครรภ์อยู่ พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยายกกองทัพเข้ายึดเมืองวรนครไว้ได้ นางพญาคำปินเป็นห่วงบุตรในครรภ์ จึงหลบหนีออกจากวรนครได้ทัน ก่อนที่พญางำเมืองจะจับตัวได้พร้อมทั้งนางข้าหลวงคนสนิท นางพญาคำปินได้ประสูติพระกุมารอยู่ ณ กระท่อมร้างกลางไร่ชายเมืองวรนคร นางเฝ้าระทมทุกข์สงสารพระกุมารยิ่งนัก จึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานหากพระกุมารมีบุญญาธิการจะได้ครอบครองบ้านเมืองต่อไป ขอให้มีฝนตกลงมาเพื่อขจัดความแห้งแล้ง พระวรุณเทพเจ้าก็ทรงบันดาลให้ฝนตกจนน้ำเต็มหนองและไหลเชี่ยวพัดพาเอาก้อนหินมากองอยู่หน้ากระท่อม ดังบทร้องที่กล่าวว่า
- ร้องเพลงลาวพุงขาว -
เมื่อนั้น พระวรุณ อุทกราช เป็นใหญ่
ประทับเหนือ เทพอาสน์ อำไพ ภูวไนย ทอดพระเนตร นางพญา
ร่ายรำ ขอน้ำ จากสวรรค์ ทรงธรรม์ โปรดประสาท ดังปรารถนา
บัดดล น้ำทิพย์ ธารา หลั่งลง พสุธา ทันที
- ปี่พาทย์ทำเพลงรัวสามลา -
(พระวรุณรำเพลงหน้าพาทย์ โบกพัดไปมา พร้อมควงบ่วงบาศ จนฝนตก)
๓. พัดวิชนี
๓.๑ เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องประกอบพระเกียรติยศ ปรากฏในการแสดงโขนและละคร ทั้งในกรุงศรีอยุธยาเมืองของพระราม กรุงลงกาเมืองของทศกัณฐ์ และท้องพระโรงเมืองต่างๆในละคร โดยนางพระกำนัลจะนั่งถือพัดวิชนีอยู่ข้างเตียงด้านขวา และนางพระกำนัลที่ถือแส้จะนั่งอยู่ข้างเตียงด้านซ้าย ทำหน้าที่โบกสะบัดสลับไปมาอย่างช้าๆ
๓.๒ เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องใช้ของพระลอ ในการแสดงละครพันทางเรื่องพระลอตอน พระลอเสี่ยงน้ำ ซึ่งพระลอจะใช้ในระหว่างที่โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้ โดยนำพัดวิชนีมาปิดบังใบหน้า สะอึกสะอื้น เมื่อเห็นแม่น้ำกาหลงเป็นสีเลือด และรู้ว่าอาจจะไม่ได้กลับมาที่เมืองแมนสรวงอีกเลย
เนื้อเรื่องโดยสังเขปกล่าวถึง พระลอหลังจากต้องมนต์ของปู่เจ้า ก็ไม่สามารถทนทานได้ เกิดความคลั่งไคล้เพ้อหาแต่พระเพื่อนพระแพง กระวนกระวายต้องการที่จะเดินทางไปหา ทั้งพระราชมารดาและพระมเหสีจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง พระนางบุญเหลือจึงจำต้องให้เสด็จไป เพื่อพาพระเพื่อนพระแพงมายังเมืองสรอง พอเสด็จมาถึงแม่น้ำกาหลง พระลอเกิดลังเลใจ ทั้งห่วงพระราชมารดา บ้านเมือง และห่วงหาในสองพระราชธิดา พระองค์จึงทรงอธิษฐานทำพิธีเสี่ยงน้ำ เพื่อช่วยในการตัดสินพระทัย ดังบทร้องที่กล่าวว่า
- เกริ่น –
พอวางพระโอษฐ์น้ำ ไหลวนคล่ำควะคว้าง เห็นแดงดังสีเลือดฉาด น่าอนาถสยดสยองโลมา เสียวหัทยาพระลอราช พระบาทธท่าวร้าวกมล
เหมือนไม้สนสิบอ้อมสะบั้น ทับอุระพระลออั้น สะอื้นอาดูรแดเอย
-ปี่พาทย์ทำเพลงโอดลาว-
(พระลอโศกเศร้าเสียใจ สะอึกสะอื้น นำพัดวิชนีมาปิดบังใบหน้า)
พัดเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง ทั้งยังใช้ในการประกอบลีลาท่ารำให้งดงามขึ้น การโบกสะบัด และการคลี่พัดตามจังหวะถือเป็นกลวิธีในการร่ายรำ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความอลังการในการประกอบขบวนพระเกียรติยศทำให้การแสดงสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
 
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2246 ครั้ง)

Messenger