...

พรหมาสตร์ศรพิฆาตยักษ์ของพระราม
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง พรหมาสตร์ศรพิฆาตยักษ์ของพระราม
ตอนที่ ๓ ประทานพระลักษมณ์ปราบอินทรชิต
ศรพรหมาสตร์ลูกศรของพระราม เทพอาวุธวิเศษที่พระอิศวรประทานให้มาใช้ปราบทศกัณฐ์และเหล่าอสุรพงศ์มิตรสหาย สงครามครั้งใดที่พระรามออกทำศึกด้วยตนเอง บรรดายักษ์สำคัญ ๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นแม่ทัพออกมารบ ก็จะไม่พ้นความตายด้วยศรพรหมาสตร์ของพระรามที่ถือว่าเป็นลูกศรสังหารแผลงยิงไปพิฆาตฆ่ารวมทั้งทศกัณฐ์ แต่หากศึกครั้งใดพระรามมิได้เป็นแม่ทัพกำกับพลสวาออกไปรบ โดยจะพิจารณาดูจากอสูรแม่ทัพที่มาทำศึกนั้นดำรงยศศักดิ์อย่างไร หากเป็นพญายักษ์ มียศศักดิ์เป็นอุปราช เช่น กุมภกรรณ หรือพระยุพราช เช่น อินทรชิต ซึ่งมิได้เป็นกษัตริย์พระรามก็มักจะไม่ออกรบด้วยตนเอง เพราะเห็นว่าศักดิ์ศรีไม่เท่าเทียบกันแต่จะบัญชาให้พระลักษมณ์ผู้เป็นน้องชาย เป็นแม่ทัพคุมโยธาสวาพลออกไปรบ เพราะมีศักดิ์ศรีหรือตำแหน่งเท่าเทียบกันกับตำแหน่งฝ่ายยักษ์
ได้แสดงฝีมือและความสามารถในการรบ เพื่อเป็นเกียรติยศปรากฏเลื่องชื่อลือชาสืบไป ซึ่งบางครั้งพระรามจะประทานเทพอาวุธที่มีฤทธิ์วิเศษให้ไปสำหรับใช้ป้องกันตัว สังหารและทำลายล้างฝ่ายข้าศึก คือ ศรพรหมาสตร์ โดยเรื่องราวกล่าวไว้อย่างชัดเชนในศึกอินทรชิต ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ตั้งแต่ตอนพระลักษมณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาจนถึงอินทรชิตสิ้นชีวิต ว่าพระลักษมณ์ได้ใช้ลูกศรพรหมาสตร์แผลงยิงทำลายล้างกองทัพและสังหารชีวิตอินทรชิต ดังนี้
พระรามประทานลูกศรพรหมาสตร์ให้พระลักษมณ์ไปทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต ในบทพระราชนิพนธ์ฯ จะไม่ได้บอกชื่อลูกศรเพียงบอกไว้แต่ว่าพระรามประทานศร ๓ เล่ม ที่เป็นอาวุธประจำกายของพระองค์ให้พระลักษมณ์นำไปใช้ต่อสู้กับอินทรชิต ความว่า
“พ่อจงเขม้นมุ่งหมาย
คอยทำลายอาวุธยักษา
จงเอาพิเภกโหรา
นั้นไปเป็นตาเป็นใจ
ตรัสพลางจึ่งจับพระแสงศร
สามเล่มฤทธิรอนส่งให้
อันซึ่งศัตรูหมู่ภัย
จงแพ้ฤทธิไกรของน้องรัก ฯ
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๕๑)
แต่ก็พอจะสันนิฐานได้ว่าลูกศรเล่มหนึ่งในสามเล่มนั้น คือ ศรพรหมาสตร์ เพราะพระลักษมณ์ไม่มีลูกศรพรหมาสตร์เป็นอาวุธประจำกาย เพราะเนื้อเรื่องต่อไปได้กล่าวถึงลูกศรพรหมาสตร์ซึ่งพระลักษมณ์ได้ใช้แผลงยิงสู้รบกับอินทรชิต ดังจะกล่าวให้เห็นเป็นครั้ง ๆ ดังนี้
ครั้งที่ ๑ แผลงยิงไปเข่นฆ่าไพร่พลยักษ์และทำลายโรงพิธีอินทรชิต
เมื่อพระลักษมณ์ยกกองทัพวานรมาถึงเชิงเขาจักรวาลอันเป็นสถานที่ที่อินทรชิตตั้งโรงพิธี ชุบกายให้กายสิทธิ์ด้วยพิธีกุมภนิยา พระลักษมณ์ก็แผลงยิงศรพรหมาสตร์ไปฆ่าไพร่พลยักษ์ตายและทำลายโรงพิธีอินทรชิตพังยับไป ดังความว่า
“ครั้นถึงขอบเขาจักรวาล
ยอดตระหง่านเงื้อมง้ำสูงใหญ่
เห็นโรงพิธีอำไพ
อยู่กลางดงไผ่โอฬาร์
มีหมู่อสุรกุมภัณฑ์
สามชั้นล้อมวงรักษา
ชั้นในไว้หมู่อสุรา
ประจำกองกาลาอาหุดี
อินทรชิตนั้นนั่งหลับเนตร
อ่านเวทแต่งกายเป็นฤษี
อยู่กลางโรงราชพิธี
เหนืออาสน์มณีอลงกรณ์
มีความชื่นชมโสมนัส
พระหัตถ์จับพรหมาสตร์แสงศร
พาดสายหมายมุ่งราญรอน
น้องพระสี่กรก็แผลงไป ฯ
สำเนียงดั่งเสียงลงกาฬ
ขุนเขาจักรวาลก็หวั่นไหว
ต้องหมู่พหลพลไกร
ยับไปทั้งโรงพิธี ฯ”
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๕๓)
เมื่ออินทรชิตถูกพระลักษมณ์แผลงยิงศรพรหมาสตร์มาทำลายพิธีกุมภนิยา แล้วเกิดการรบสู้กันขึ้น อินทรชิตแผลงยิงศรวิษณุปานัมลูกศรที่พระนารายณ์ประทานให้เป็นเพลิงกรดมาผลาญพลวานรล้มตาย พระลักษมณ์จึงแผลงยิงลูกศรอัคนิวาตเป็นห่าฝนตกลงมาทำลายศรอินทรชิต และชุบชีวิตเหล่ากระบี่ ที่ตายให้ฟื้นขึ้นมา จากนั้นอินทรชิตก็แผลงยิงศรนาคบาศเป็นพญานาคมากมาย พิเภกทูลเตือนพระลักษมณ์ให้ระวังพิษศรนาคบาศ และให้แผลงยิงศรไปทำลายศรของอินทรชิต อินทรชิตครั้นเห็นพระลักษมณ์แผลงยิงศรกลายเป็นพญาครุฑมาจับจิกนาคตาย ก็กริ้วโกรธชักศรพรหมาสตร์ที่พระอิศวรลงมาประทานให้อีกเล่มหนึ่ง (อินทรชิตเป็นยักษ์ตนเดียวที่ได้ประทานศรพรหมาสตร์จากพระอิศวร มีชื่อเหมือนกับศรพรหมาสตร์ของพระราม ต่างกันแต่ถ้าอินทรชิตต้องการใช้ศรต้องทำพิธีปลุกเสกหรือร่ายเวทมนตร์ก่อน ไม่เหมือนกับศรพรหมาสตร์ของพระรามที่ไม่ต้องทำพิธี อย่างเช่นครั้งนี้อินทรชิตจะให้ศรพรหมาสตร์แผลงยิงเข่นฆ่าศัตรู ต้องยกขึ้นมาทูนเหนือศีรษะร่ายเวทมนตร์ปลุกเสกลูกศรให้เรืองฤทธิ์ ขณะที่พิเภกเห็นอินทรชิตร่ายเวทปลุกเสกศรพรหมาสตร์ จึงทูลเตือนพระลักษมณ์ให้ระวังตัวและรีบแผลงยิงศรไปทำลายศรพรหมาสตร์ของอินทรชิดให้พินาศ อินทรชิตก็จะพ่ายแพ้เพราะลูกศรเทพเจ้าทั้ง ๓ เล่ม ที่ประทานให้ ถูกทำลายหมดสิ้นจึงไม่มีอาวุธใดจะใช้ต่อสู้ พระลักษมณ์จึงชักศรพรหมาสตร์ขึ้นมาพาดสายเตรียมพร้อมไว้ที่แผลงยิงได้ทันที ดังความในบทพระราชนิพนธ์ ฯ กล่าวว่า
“เมื่อนั้น ลูกท้าวทศพักตร์ยักษา
เห็นศรพระลักษมณ์แผลงมา
เป็นพญาครุฑาฤทธิรอน
ถาโถมโจมจับนาคบาศ
ทำอำนาจดั่งพญาไกรสร
พ่ายแพ้ตายสิ้นในอัมพร
โกรธดั่งไฟฟอนจ่อใจ
จึ่งชักพรหมาสตร์ศรทรง
ขององค์พระอิศวรประสาทให้
ทูนขึ้นเหนือเศียรเกล้าไว้
สำรวมใจร่ายเวทวิทยา ฯ”
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๕๙)
(พิเภกทูลเตือน)
“บัดนั้น ฝ่ายพญาพิเภกยักษา
แลเห็นลูกเจ้าลงกา
บูชาพรหมาสตร์เรืองฤทธิ์
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล
น้องพระนเรนทร์สูรจักรกฤษณ์
บัดนี้อสุรินทร์อินทรชิต
ปลุกฤทธิ์พรหมาสตร์ศรชัย
พระองค์จงระวังกายา
ล้างศิลป์อสุราเสียให้ได้
ตัวมันจะแพ้ฤทธิไกร
ด้วยไม่มีสิ่งใดจะโรมรัน”
พระลักษมณ์ -
“เมื่อนั้น พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์
ทรงธรรม์ชื่นชมยินดี
จึ่งชักพรหมาสตร์มาพาดสาย
ตาหมายเขม้นดูยักษี
หวังว่ามิให้เสียที
แก่ศรอสุรีพาลา ฯ”
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๕๙)
ครั้งที่ ๒ แผลงยิงไปฆ่าทำลายศรพรหมาสตร์และกองทัพของอินทรชิต เมื่ออินทรชิตแผลงยิงศรพรหมาสตร์ออกมากลายเป็นสรรพอาวุธนา ๆ ชนิด เกลื่อนกลาดมากมายบนท้องฟ้า พระลักษมณ์ก็แผลงยิงศรพรหมาสตร์ไปทำลายล้างบรรดาอาวุธต่าง ๆ ที่เกิดจากฤทธิ์ลูกศรพรหมาสตร์ของอินทรชิต ดังความว่า
“เมื่อนั้น พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี
เห็นอินทรชิตอสุรี
แผลงศรศรีมาเป็นอาวุธ
เกลื่อนกลาดดาษพื้นเมฆา
จะนับคณนาไม่สิ้นสุด
จึงแผลงพรหมาสตร์ฤทธิรุทร
ไปล้างอาวุธกุมภัณฑ์ ฯ
เปรี้ยงเปรี้ยงดั่งเสียงอสุนี
ธาตรีสะเทือนเลื่อนลั่น
เกิดเป็นอาวุธลมกัลป์
พัดอาวุธนั้นละเอียดไป
แล้วต้องม้ารถคชสาร
จัตุรงค์ทวยหาญน้อยใหญ่
ตายกลาดดาษป่าพนาลัย
สิ้นทั้งทัพชัยอสุรา ฯ”
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๖๐)
ครั้งที่ ๓ แผลงยิงไปทำลายรถทรงอินทรชิตหัก และชุบชีวิตพลวานรฟื้น หลังจากอินทรชิตสูญเสียลูกศรเทพอาวุธไปหมดทั้ง ๓ เล่ม ไม่มีอาวุธจะต่อสู้อีกต่อไปก็หลบหนีกลับกรุงลงกา รู้ชะตาตนเองว่าคงถึงคราวจะสิ้นชีวิตจึงได้ลาแม่ลาพ่อและเมีย แล้วก็ออกไปทำศึก กับพระลักษมณ์อีกครั้ง ได้แผลงยิงศรหมายจะฆ่าพระลักษมณ์แต่ไปถูกไพร่พลวานรล้มตายมากมาย เมื่อพระลักษมณ์เห็นดังนั้นจึงแผลงยิงศรพรหมาสตร์ออกไป ดังความว่า
“เมื่อนั้น พระลักษมณ์สุริย์วงศ์เรืองศรี
เห็นอินทรชิตวางศรมาราวี
ต้องหมู่โยธีวานร
หัวขาดตัวขาดตีนขาด
กลิ้งกลาดตามเนินสิงขร
จึ่งจับพรหมาสตร์ฤทธิรอน
น้องพระสี่กรก็แผลงไป
ครื้นครื้นดังคลื่นในสมุทร
กาลาคนิรุทรก็หวาดไหว
ต้องรถอินทรชิตฤทธิไกร
หักไปเป็นภัสม์ธุลี
อันหมู่โยธาวานร
ซึ่งตายด้วยศรยักษี
ก็กลับคืนได้ชีวี
ด้วยฤทธีองค์พระอนุชา”
(เล่ม ๒:หน้า ๕๗๕-๕๗๕)
ครั้งที่ ๔ แผลงยิงไปทำลายจักรอินทรชิต อินทรชิตสู้รบเสียทีแก่พระลักษมณ์ถูกหวดตีด้วยคันศรหลายทีจนล้มคว่ำไป เมื่อแข็งใจลุกขึ้นก็จับจักรขว้างไปเกิดเป็นแสงสว่างร้อนแรงดังแสงพระอาทิตย์ หมุนวนรอบองค์พระลักษมณ์ ซึ่งจับลูกศรพรหมาสตร์ขึ้นมาพาดสายแผลงยิงไปทำลายจักร และกองทัพไพร่พลยักษ์เสียหายล้มตายไปมากมาย ดังความว่า
เมื่อนั้น องค์พระอนุชาชาญสมร
เห็นจักรสำแดงฤทธิรอน
จึงจับศรพรหมาสตร์แผลงไป ฯ
เสียงสนั่นครั่นครื้นโพยมหน
สุธาดลจักรวาลสะท้านไหว
ไล่ล้างจักรกรดฤทธิไกร
ละเอียดไปไม่ทันพริบตา
แล้วต้องม้ารถคชสาร
จัตุรงค์ทวยหาญยักษา
ตายกลาดดาษพื้นพสุธา
ด้วยศักดาน้องพระจักรี ฯ
(เล่ม ๒ : หน้า ๕๗๘)
ครั้งที่ ๕ แผลงยิงไปตัดแขนทั้งสองข้างและตัดศีรษะอินทรชิตขาดถึงแก่ความตาย อินทรชิตเมื่อพ่ายแพ้แก่พระลักษมณ์จึงหนีขึ้นไปหลบบนกลีบเมฆใหญ่ พระลักษมณ์จะแผลงยิงศรพรหมาสตร์ไปสังหารแต่พิเภกห้ามไว้ เพราะอินทรชิตเคยได้พรพระพรหมว่าเมื่อใดสิ้นชีวิต ถ้าเศียรตกพื้นดินก็จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ไหม้โลก ต้องให้องคตที่เป็นพี่น้องร่วมแม่กับอินทรชิตไปขอพานแว่นฟ้าจากพระพรหมมาลองรับเศียรอินทรชิต ครั้นองคตไปนำพานแว่นฟ้าจากพระพรหมมาแล้วถือชูไว้ที่เนินเขาจักรวาล พระลักษมณ์จึงแผลงยิงศรพรหมาสตร์ไปตัดแขนทั้งสองข้างและตัดศีรษะอินทรชิตขาดกระเด็นสิ้นใจตาย ดังความว่า
“เมื่อนั้น พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศิลป์
ครั้นเห็นองคตหลานอินทร์
ขุนกบินทร์ชูพานอลงกรณ์
ลอยอยู่ในกลางอากาศ
จึงชักพรหมาสตร์แสงศร
พาดสายหมายมุ่งจะราญรอน
น้องพระสี่กรก็แผลงไป ฯ
สำเนียงดั่งเสียงลมกรด
ถึงชั้นโสฬสก็หวาดไหว
ต้องกรอินทรชิตฤทธิไกร
ซ้ายขวาขาดไปด้วยศักดา
แล้วศรพรหมาสตร์ไปสังหาร
ตัดเศียรขุนมารยักษา
กายตกยังพื้นพสุธา
ก็สุดสิ้นชีวาทันที ฯ
(เล่ม ๓ : หน้า ๑)
ฝ่ายองคตรีบเอาพานแว่นฟ้าเข้าลองรับศีรษะอินทรชิตไว้มิให้ตกถึงพื้นปฐพี
จากข้อมูลตามเรื่องราวที่กล่าวถึงการใช้ศรพรหมาสตร์ของพระลักษมณ์ที่พระรามประทานให้มาทำศึกสู้รบกับอินทรชิต ตั้งแต่ศึกทำลายพิธีกุมภนิยาจนฆ่าอินทรชิตถึงแก่ความตาย พระลักษมณ์ ได้แผลงยิงศรพรหมาสตร์ทั้งหมด ๕ ครั้ง โดย ๒ ครั้งแรกแผลงยิงทำลายพิธีกุมภนิยาและสู้รบกัน คือ
ครั้งที่ ๑ ฆ่าไพร่พลยักษ์และทำลายโรงพิธีอินทรชิต ครั้งที่ ๒ ฆ่าและทำลายศรพรหมาสตร์และกองทัพของอินทรชิต
จากนั้นอินทรชิตก็หลบหนีกลับเข้ากรุงลงกา เพื่อลานางมณโฑผู้เป็นแม่ฝากฝังลูกเมียและลาทศกัณฐ์ผู้เป็นพ่อและลานางสุวรรณกันยุมามเหสีแล้วก็ออกมาทำศึก ครั้งนี้พระลักษณ์แผลงยิงศร พรหมาสตร์ทำศึกกับอินทรชิตอีก ๓ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ ทำลายรถทรงอินทรชิต และชุบชีวิตพลวานรฟื้น ครั้งที่ ๒ ทำลายจักรอินทรชิต
ครั้งที่ ๓ ตัดแขนทั้งสองข้างและตัดศีรษะอินทรชิตขาดถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้พระรามได้แผลงยิงศรพรหมาสตร์อีกครั้งหนึ่งในศึกอินทรชิต เพื่อทำลายศีรษะอินทรชิต
เรียบเรียง : นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ
สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
อ้างอิง
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. นามานุกรมรามเกียรติ์ ประวัติความเป็นมา ตัวละคร สถานที่ พิธี อาวุธ ฯลฯ. กรุงเทพมหานคร : สุวีริยาสาสน์, ๒๕๔๖. ศิลปากร , กรม. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๔๐. เล่ม ๒ ศิลปากร , กรม. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๔๐. เล่ม ๓
โขน (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ จาก : Thaiheritage.Net โขน (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ https://sites.google.com/site/nepdark/home/character/003-1 โขน (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ https://www.google.com/url?sa=i&url=http%3A%2F%2F www.hiclasssociety.com
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 10483 ครั้ง)