เพลงคู่จีนกระสัน เพลงจีนสี่ผี เพลงประกอบการแสดงโขนที่กำลังเลือนหายไป
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง เพลงคู่จีนกระสัน เพลงจีนสี่ผี เพลงประกอบการแสดงโขนที่กำลังเลือนหายไป
การบรรเลง - ขับร้องเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการแสดงไทย เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนนั้นมี ๒ ชนิด ได้แก่
๑. การบรรเลงด้วยดนตรีอย่างเดียว เช่น เพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาต่าง ๆ
๒. การบรรเลง - ขับร้อง ประกอบกิริยาอารมณ์ต่าง ๆ มีทั้งเพลงอัตราจังหวะสองชั้น อัตราจังหวะชั้นเดียว และเพลงจังหวะพิเศษ
สำหรับการบรรเลงด้วยดนตรีอย่างเดียวที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาอาการต่าง ๆ นั้น โดยปกติจะมีความยาวเท่ากับท่ารำ แต่บางครั้งที่เป็นการแสดงยกทัพที่มีการรำตรวจพลหรือการไป – มา ของตัวละครสูงศักดิ์ที่จัดเป็นขบวนจะต้องใช้เพลงมากกว่าหนึ่งเพลงบรรเลงต่อเนื่องกันให้เพียงพอกับท่ารำหรือระยะทางด้วยต้องบรรเลงอย่างต่อเนื่อง
การแสดงโขน ตอนศึกกุมภกรรณ เป็นการแสดงตอนหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นที่นิยมอย่างมากซึ่งมีเนื้อเรื่องย่อ
ดังนี้
“กุมภกรรณ เป็นอนุชาของทศกัณฐ์ มีตำแหน่งพระอุปราช มีหอกโมกขศักดิ์เป็นอาวุธ อุปนิสัยมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความยุติธรรม หลังจากที่ไมยราพ พระนัดดาต้องสิ้นชีพในสงคราม ทศกัณฐ์ได้นึกถึงกุมภกรรณจึงได้ให้มโหทรไปเชิญกุมภกรรณขึ้นมาเฝ้าเพื่อปรึกษาการทำศึกสงครามกับกองทัพพระราม กุมภกรรณได้พิจารณาถึงสาเหตุศึกครั้งนี้เห็นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดามเหสีของพระราม จึงทูลให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนให้แก่พระราม ทศกัณฐ์ไม่ฟังคำกล่าวตักเตือนของกุมภกรรณและยังได้ทำการขับไล่กุมภกรรณด้วย เมื่อกุมภกรรณเห็นว่าไม่สามารถเกลี้ยกล่อมทศกัณฐ์ได้จึงจำเป็นรับอาสาทำสงครามกับกองทัพของพระราม”
จากเนื้อเรื่องย่อ ทศกัณฐ์สั่งให้มโหทรไปเชิญกุมภกรรณผู้เป็นอุปราชมาเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษา กุมภกรรณนั้นเป็นน้องแท้ ๆ ของทศกัณฐ์และมีฐานะเป็นอุปราช ในการจะมาเข้าเฝ้าทศกัณฐ์จึงต้องตั้งเป็นขบวนมาซึ่งประกอบไปด้วยนางกำนัล เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาการเดินเป็นขบวน คือ เพลงพญาเดิน ซึ่งเพลงนี้ต้องบรรเลงตั้งแต่กุมภกรรณออกเดินทางจากท้องพระโรงของกุมภกรรณมาถึงหน้าท้องพระโรงของทศกัณฐ์ และเมื่อทศกัณฐ์เห็นขบวนของกุมภกรรณ ก็ร่ายรำออกไปรับและรำต่อเนื่องจนมาถึงแท่นประทับดนตรีจึงทอดจบลง
เพลงพญาเดิน เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้กับตัวละครผู้ที่สูงศักดิ์ โครงสร้างเพลงพญาเดินมีทั้งหมด ๖ ตัว (ไม่นิยมเรียกท่อน) ใช้หน้าทับเฉพาะ การนำเพลงพญาเดินมาบรรเลงประกอบการแสดงในช่วงนี้ความยาวของเพลงไม่เพียงพอต่อการแสดง ในอดีตนั้นครูโบราณจึงได้นำเพลงสำเนียงจีนอัตราจังหวะสองชั้นมาบรรเลงต่อจากเพลงพญาเดิน โดยจะนิยมเลือกเพลงใดเพลงหนึ่งซึ่งนิยมใช้อยู่เพียง ๒ เพลง ได้แก่ เพลงคู่จีนกระสันซึ่งเป็นเพลงท่อนเดียวและเพลงจีนสี่ผีเป็นเพลง ๔ ท่อน ใช้หน้าทับเดียวกันกับเพลงพญาเดินมาบรรเลงต่อจากเพลงพญาเดิน ตัวอย่างการนำเพลงคู่จีนกระสันกับเพลงจีนสี่ผีมาบรรเลงต่อจากเพลงพญาเดิน โดยเริ่มที่เพลงพญาเดินตัวที่ ๖
ปัจจุบันนี้เพลงคู่จีนกระสันและเพลงจีนสี่ผี เริ่มที่จะสูญหายและไม่มีผู้ใดบรรเลง เนื่องจากมีการปรับกระบวนท่ารำให้สอดคล้องกับเวลาและสถานที่ จึงทำให้ทั้งสองเพลงนี้เริ่มจะสูญหายจากการแสดงโขน
กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้มีการถ่ายทอดทำนองเพลงทั้ง ๒ เพลงนี้จากผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงที่ใกล้จะสูญหายและเห็นคุณค่าความสำคัญของทั้ง ๒ เพลงนี้ด้วย
รายการอ้างอิง
กิติศักดิ์ เขาสถิตย์. ดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
จรัญ พูลลาภ. นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร.
สัมภาษณ์,๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
ไชยยะ ทางมีศรี. ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร.สัมภาษณ์, ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
สุรสิทธิ์ เขาสถิตย์. ดุริยางคศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์, ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
เรียบเรียง : นายสุกิตติ์ ทำบุญ นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
(จำนวนผู้เข้าชม 750 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน