คำว่า “สังคีต” หมายถึง การร้องรำทำเพลง อันหมายรวมถึงการแสดงนาฏศิลป์ - ดนตรีทั้งไทย และสากลด้วย เมื่อรวมกับคำว่า “ สำนัก” เป็น “สำนักการสังคีต” จึงหมายถึง องค์กรหรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ อนุรักษ์ และเผยแพร่การบรรเลง – ขับร้อง ด้านดนตรีไทย-ดนตรีสากล และการแสดงนาฏศิลป์ไทย เรียกรวมกันว่า “นาฏดุริยางคศิลป์”
แต่เดิมงานด้านการมหรสพ หรืองานด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ได้แก่ การละเล่นต่าง ๆ โขน -ละคร ดนตรีไทย เครื่องสายฝรั่ง รวมอยู่ในกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมมหรสพ” อยู่ในความดูแล ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจัดว่าเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างหนึ่ง ปฎิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีรัฐพิธี และในงานต้อนรับอาคันตุกะ และยังคงทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อโอนย้ายงานนาฏดุริยางคศิลป์ มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ในระยะแรกเป็นการจัดระเบียบการทำงานให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และสืบทอด จึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอยู่เป็นระยะ ซึ่งสามารถแบ่งยุคต่าง ๆ จากอดีตถึงปัจจุบันได้ ๕ ยุค ดังนี้
ยุคที่ ๑ ก่อตั้ง -๒๔๗๕ ชื่อ กรมมหรสพ
สมัยรัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๓ ได้ตั้งหน่วยงาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการประโคมดนตรี หรือเกี่ยวกับการละเล่นรื่นเริงออกเป็น ๕ กรม ได้แก่ กรมโขน กรมหุ่น กรมญวนหก(รำโคม) กรมปี่พาทย์ และกรมมหรสพ ทั้ง ๕ กรมนี้เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
สมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง ๕ กรมอยู่ในบังคับบัญชาของ พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร ณ อยุธยา) ตามลำดับ
สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมมหรสพขึ้นใหม่อีกหนึ่งกรม แล้วให้โอนการมหรสพทั้งปวง ไปรวมอยู่ในกรมมหรสพที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีหลวงสิทธิ นายเวร(น้อย ศิลปี) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิศุกรรมประสิทธิ์ศิลป์ เป็นผู้ควบคุมดูแลกรมมหรสพ ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในพ.ศ.๒๔๕๔ ทรงมีพระราชโองการฯ ตั้ง “กรมศิลปากร” สังกัดกระทรวงวัง ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๔ โดยโอนการช่างประณีตศิลป์ จากกรมโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในกรมศิลปากร เพื่อทำหน้าที่ดำรงรักษางานด้านช่างประณีตศิลป์ และโบราณสถาน-โบราณวัตถุ
พ.ศ.๒๔๕๖ โปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งงานในกรมมหรสพ(ที่ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๕๓ ) พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้ากรมดูแล ดังนี้
๑. กรมโขนหลวง มีพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นเจ้ากรม
๒. กรมปี่พาทย์หลวง มีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นเจ้ากรม
๓. กรมช่างมหาดเล็ก มีพระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์ จิตรกร) เป็นเจ้ากรม
๔. กองเครื่องสายฝรั่งหลวง มีพระนนททิพย์พิลาศ (เอวัน วาระศิริ) ซึ่งต่อมาได้รับ
พระราชทาน บรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐ์ไพเราะและพระยาวาระศิริราชเสนี เป็นปลัดกรมคนแรก
(เพราะมีฐานะเป็นกอง) ภายหลังมีพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นปลัดกรม ทั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการเป็นผู้บังคับบัญชา และขึ้นตรงต่อกรมมหาดเล็กหลวง กระทรวงวัง(กรมมหาดเล็กหลวง เป็นกรมอิสระขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๙ ) เป็นระยะที่เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้รายได้ของแผ่นดินไม่เพียงพอกับรายจ่ายเพื่อปรับงบประมาณแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๖๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากร และประกาศตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ขึ้น ได้รวมงานของหอพระสมุดสำหรับพระนคร งานด้านอักษรศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และงานช่าง มาอยู่ในราชบัณฑิตสภา โดยแบ่งภารกิจเป็น ๓ แผนก คือ แผนกวรรณคดี แผนกโบราณคดี และแผนกศิลปากร และยุบกรมมหรสพที่ตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วโอนเครื่องโขนละคร สัมภาระทั้งปวง มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานดูแล ทั้งนี้ยกเว้น กรมปี่พาทย์หลวงและเครื่องสายฝรั่งหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมเข้าด้วยกัน ตั้งชื่อใหม่ว่า “กองปี่พาทย์และโขนหลวง”ทรงโปรดเกล้าฯ รับไว้ดูแล อยู่ในสังกัดกระทรวงวัง
ยุคที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๘๐)
ชื่อ “แผนกละครและสังคีต” กองศิลปะวิทยาการ กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๗๖ ได้มี พระราชบัญญัติ จัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง อยู่สังกัดกระทรวงธรรมการ และมีพระราชกฤษฎีกาให้จัดแบ่งส่วนราชการในกรมศิลปกรออกเป็น ๖ กอง ได้แก่
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒.กองศิลปะวิทยาการ
๓. กองประณีตศิลปกรรม ๔.กองสถาปัตยกรรม
๕. กองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ ๖.กองหอสมุด
เฉพาะ “กองศิลปะวิทยาการ” แบ่งงานออกเป็น ๔ แผนก ได้แก่
๑.แผนกวรรณคดี ๒.แผนกโบราณคดี
๓.แผนกละครและสังคีต ๔. แผนกวาที
(เฉพาะ “แผนกละครและสังคีต” มีหน้าที่ค้นคว้าและหาทางบำรุงความรู้ในศิลปะทางละครและสังคีต มีพระพินิจวรรณสาร แสง สาลิตุล เป็นหัวหน้ากอง)
พ.ศ.๒๔๗๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก และในปีเดียวกันนี้ กรมศิลปากรได้จัดตั้ง “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” ขึ้นเพื่อดำเนินการสอนวิชาสามัญและศิลปะ โดยให้ศิลปินจากแผนกละครและสังคีต ทำหน้าที่ทั้งครูและศิลปินควบคู่กันไป
พ.ศ.๒๔๗๘ กระทรวงวัง ถูกยุบเป็นสำนักพระราชวัง กรมศิลปากรรับโอนข้าราชการโขน ละคร ปี่พาทย์ เครื่องสายฝรั่ง ตลอดจนเครื่องแต่งกายโขน-ละคร และเครื่องดนตรีซึ่งเหลืออยู่บางส่วนมาจากกระทรวงวัง ไปสังกัดกองศิลปะวิทยาการ และงานการช่างกรมวังนอก อยู่ในสังกัดกรมศิลปากร มีพระยาอนุมานราชธน หัวหน้ากอง คงเหลือแต่งานเครื่องสูงขึ้นอยู่กับสำนักพระราชวัง
ยุคที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๕๓๗) ชื่อ กองดุริยางคศิลป์ – กองการสังคีต
พ.ศ.๒๔๘๑ มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการในกรมศิลปากรใหม่ ออกเป็น ๘ กอง ได้แก่
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒. กองศิลปศึกษา
๓. กองวัฒนธรรม ๔. กองโบราณคดี
๕. กองสถาปัตยกรรม ๖. กองหัตถศิลปะ
๗. กองดุริยางคศิลป์ ๘. กองโรงเรียนศิลปากร
จากการแบ่งส่วนราชการใหม่ “กองศิลปะวิทยาการ” ที่ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๗๖ เปลี่ยนชื่อเป็น “กองดุริยางคศิลป์” มีหน้าที่เกี่ยวกับงานดุริยางค์ แยกภารกิจเป็นแผนกตำรา แผนกดุริยางค์ไทย และแผนกดุริยางค์สากล มีนายเดช คงสายสินธุ์ เป็นหัวหน้ากอง และหลังจากที่กรมศิลปากรรับโอนข้าราชการโขน – ละคร ปี่พาทย์ มาจากกระทรวงวังเมื่อพ.ศ.๒๔๗๘ จึงได้ปรับปรุงแก้ไขงานด้านการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยตั้ง “กองโรงเรียนศิลปากร” ขึ้นใหม่ แบ่งเป็น ๒ แผนก คือ แผนกช่าง เปิดสอนทางด้านช่างปั้น ช่างเขียน และช่างรัก และแผนกนาฏดุริยางค์ จัดการศึกษาวิชาศิลปะทางดนตรี ปี่พาทย์ และละคร ดังนั้นจึงได้นำ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เข้ามาเป็นแผนกหนึ่งของกองโรงเรียนศิลปากรมีชื่อเฉพาะ “โรงเรียนศิลปากร –แผนกนาฏดุริยางค์” มีพระสาโรชรัตนวาทการ เป็นหัวหน้ากองโรงเรียนศิลปากร
พ.ศ. ๒๔๘๕ กรมศิลปากร ได้ โอนไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีการแบ่งส่วนราชการในกรมใหม่ มี ๖ กอง ได้แก่
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒. กองวรรณคดี
๓. กองโบราณคดี ๔. กองสถาปัตยกรรม
๕. กองการสังคีต ๖. มหาวิทยาลัยศิลปากร
จากการแบ่งส่วนราชการใหม่ “กองดุริยางคศิลป์” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “กองการสังคีต“และได้ปรับเปลี่ยน แผนกจาก “แผนกตำรา” เป็น “แผนกวิชาการ” แต่คงชื่อแผนกดุริยางค์ไทย และดุริยางค์สากลไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน มี จมื่นมานิตย์นเรศวร์ (เฉลิม เศวตนันท์) เป็นหัวหน้ากอง
กรมศิลปากรได้ยกฐานะกองโรงเรียนศิลปากร เป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โอน“แผนกช่าง” จากกองโรงเรียนศิลปากร ไปขึ้นกับมหาวิทยาลัยศิลปากร โอนแผนกนาฏดุริยางค์ จากกองโรงเรียนศิลปากร มาขึ้นอยู่กับแผนกนาฏศิลปะ กองการสังคีต พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อ เป็น “โรงเรียนสังคีตศิลป”แต่การเรียนการสอนได้หยุดไปชั่วขณะเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๘๘ โรงเรียนสังคีตศิลป์ ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “โรงเรียนนาฏศิลปะ” พร้อมทั้งขยายการศึกษาครอบคลุมทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและสากล มีหลวงบุณยมานพพานิชย์ เป็นหัวหน้ากอง
พ.ศ.๒๔๙๕ กรมศิลปากรโอนไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
พ.ศ.๒๕๐๑ กรมศิลปากรโอนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.๒๕๐๓ เริ่มการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ และทำพิธีเปิดโรงละครแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗
พ.ศ.๒๕๐๔ กรมศิลปากรได้ขยายหน่วยงานในกรมออกเป็น ๙ หน่วยงาน ได้แก่
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒. กองการสังคีต
๓. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ๔. กองโบราณคดี
๕. กองศิลปศึกษา ๖.กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์
๗.กองสถาปัตยกรรม ๘.กองหัตถศิลปะ
๙.กองหอสมุดแห่งชาติ
กรมศิลปากร ตั้งกองศิลปศึกษาขึ้นมาในภารกิจเพื่อรับผิดชอบงานด้านการศึกษา ดังนั้นจึงโอนโรงเรียนนาฏศิลปะ จากกองการสังคีต มาขึ้นกับกองศิลปศึกษา แล้วแยกข้าราชการที่อยู่ในกองศิลปศึกษาคือครูผู้สอน ส่วนข้าราชการที่อยู่ในกองการสังคีต คือศิลปินผู้แสดง
พ.ศ. ๒๕๑๕ วิทยาลัยนาฏศิลปะได้ขยายการศึกษาครอบคลุมทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและสากล หลังจากนั้น ได้รับการยกฐานะให้เป็น “วิทยาลัยนาฏศิลป”
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ขยายการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี โดยสมทบกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ และได้เปิดวิทยาลัยนาฎศิลปะในภูมิภาคอีก ๑๑ แห่ง พร้อมทั้งวิทยาลัยช่างศิลปะ ๓ แห่ง
หัวหน้ากอง – ผู้อำนวยการ มีดังนี้
พ.ศ.๒๔๘๙ – ๒๕๙๙ นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นหัวหน้ากอง กองการสังคีต
พ.ศ.๒๕๙๙ – ๒๕๑๕ นางชุมศิริ สิทธิพงศ์ เป็นผู้อำนวยการกองการสังคีต
พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๒๓ นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ เป็นผู้อำนวยการกองสังคีต
พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๓๓ นายเสรี หวังในธรรม เป็นผู้อำนวยการกองสังคีต
พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๓๘ นายสุมน ขำศิริ เป็นผู้อำนวยการกองสังคีต
ยุคที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘ – ๒๕๔๔) ชื่อว่า สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์
พ.ศ.๒๕๓๘ กรมศิลปากรได้มีการปรับปรุงและแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกา กระทรวงศึกษาธิการ โดยแบ่งออกเป็น ๑๐ หน่วยงาน คือ
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒. กองคลัง
๓. กองการเจ้าหน้าที่ ๔.กองแผนงาน
๕. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ๖.สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์
๗. สถาบันศิลปกรรม ๘.สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๙. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ๑๐.หอสมุดแห่งชาติ
การตั้ง “สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์” มีจุดประสงค์ เพื่อนำหน่วยงานที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันมาไว้ด้วยกัน โดยรวมหน่วยงาน “กองการสังคีตและกองศิลปศึกษา(เฉพาะวิทยาลัยนาฏศิลปะทั้งหมด)” เข้าด้วยกัน ตั้งชื่อสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ ทำให้หน่วยงานมีขอบเขตขยายงานกว้างขึ้น แบ่งภารกิจงานออกเป็น
๑.ฝ่ายบริหารทั่วไป ประกอบด้วย งานธุรการ งานการเงินและพัสดุ งานประสานและประชาสัมพันธ์การแสดง และงานประสานวิทยาลัยนาฏศิลปะ
๒. ส่วนวิชาการ ประกอบด้วยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการศึกษา กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแสดง
๓. ส่วนการแสดง ประกอบด้วย กลุ่มนาฏศิลป์ กลุ่มดุริยางค์ไทย กลุ่มดุริยางค์สากล ฝ่ายเครื่องแต่งกาย
๔. ส่วนโรงละครแห่งชาติ ประกอบด้วย ฝ่ายธุรกิจ โรงละครฝ่ายศิลปกรรม และฝ่ายเทคนิคส่วนวิทยาลัยนาฏศิลปะทั้ง ๑๒ แห่งขึ้นตรงต่อ ผู้อำนวยการสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์
พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมศิลปากรขยายหน่วยงาน ได้จัดตั้ง “สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์” ขึ้น เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล
พ.ศ.๒๕๔๓ เปิดโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี
พ.ศ.๒๕๔๔ เปิดโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา
ผู้อำนวยการสถาบันนาฏดุริยางค์ มีดังนี้
พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๐ นายสุมน ขำศิริ
พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ
ยุคที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๔๕ –ปัจจุบัน) ใช้ชื่อว่า สำนักการสังคีต
พ.ศ.๒๕๔๕ มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ กรมศิลปากรย้ายสังกัดจากการกระทรวงศึกษาธิการ ไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และแบ่งส่วนราชการในกรมเป็น ๙ หน่วยงาน คือ
๑. สำนักงานเลขานุการกรม ๒. สำนักการสังคีต
๓. สำนักโบราณคดี ๔. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๕. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ๖. สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์
๗. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ๘. สำนักหอสมุดแห่งชาติ
๙. สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
จากการปฏิรูประบบราชการ ทำให้สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ ต้องปรับแยกภารกิจด้าน การศึกษาและด้านการแสดงออกจากกัน เป็น ๒ หน่วยงาน คือ
๑. สำนักการสังคีต ทำหน้าที่ ดำเนินการด้านนาฏดุริยางคศิลป์ในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการต่างๆ ตามจารีตประเพณี และรวมองค์ความรู้ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ โดยการ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอนุรักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน ให้บริการ และฝึกอบรมแก่หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ดำเนินงานศิลปวัฒนธรรม ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ และดำเนินการเกี่ยวกับกิจการ โรงละครแห่งชาติ สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
๒. สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมโดยตรงเป็นหน่วยงานที่เทียบเท่ากรมในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต มีดังนี้
พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖ นายสมบัติ แก้วสุจริต
พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๘ นางกัลยา เพิ่มลาภ
พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๔ นายการุณ สิทธิภูล
พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์
พ.ศ. ๒๕๖๐ - ปัจจุบัน นายเอนก อาจมังกร
นับเวลาจากกรมมหรสพ – สำนักการสังคีต ที่ผ่านการวางรากฐานใน กองศิลปะวิทยาการ แผนกละครและสังคีต“ มีหน้าที่ค้นคว้าและหาทางบำรุงความรู้ในศิลปะทางละครและสังคีต” มาสู่การจัดระเบียบการปฏิบัติงานและจัดการศึกษาใน กองดุริยางคศิลป์ –กองการสังคีต “มีหน้าที่เกี่ยวกับงานดุริยางค์ (แผนกตำรา แผนกดุริยางค์ไทย แผนกดุริยางค์สากล และกองโรงเรียนศิลปากร – แผนกนาฏดุริยางค์ )” มาสู่สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ “มีหน้าที่จัดการศึกษาและการแสดงด้านนาฏดุริยางคศิลป์ โดยแบ่งภารกิจ เป็น” สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์” ทำหน้าที่จัดการด้านการศึกษานาฏศิลป์ ดนตรีไทย และดนตรีสากล เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้เข้าใจ ตระหนักและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของชาติ“สำนักการสังคีต” ทำหน้าที่สืบทอด อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และเผยแพร่งานนาฏศิลป์ ดนตรีไทย และดนตรีสากล
บทบาทหน้าที่
1. ดำเนินการในฐานะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรม ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์และ คีตศิลป์ของชาติ
2. ดำเนินการอนุรักษ์ สืบทอด ศิลปวัฒนธรรม ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ในพระราชพิธี รัฐพิธีและพิธีการต่างๆ ตามจารีตประเพณี
3. ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์
4. ฟื้นฟู พัฒนา สร้างสรรค์และเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ของชาติและท้องถิ่นอย่างเป็นระบบเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ
5. เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์กับต่างประเทศ
6. ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายศิลปินและให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ แก่หน่วยงานของรัฐ เอกชน เยาวชน และประชาชนทั่วไป
7. ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการโรงละครแห่งชาติ
8. ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์แก่เยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจ
9. กำำหนดเกณฑ์และรับรองมาตราฐานงานด้านาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์สำหรับส่วนราชการของกรม
10. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
(จำนวนผู้เข้าชม 4267 ครั้ง)