พระคเณศ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
พระคเณศ
วัสดุ สำริด
ศิลปะขอมแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
พบที่ ตำบลพังยาง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
พระคเณศองค์นี้ เป็นพระคเณศขนาดเล็ก สูงประมาณ 6 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระคเณศ 2 กร (มือ) อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยมในท่าแบบชวา โดยคุกพระชานุ (เข่า) ซ้ายลงกับพื้น และยกพระชานุ (เข่า) ขวาขึ้น พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายถือขนมโมทกะ สัญลักษณ์ของสติปัญญาอันยอดเยี่ยม พระหัตถ์ (มือ) ขวาถืองาหัก งวงอยู่ในลักษณะห้อยตรงคดโค้งเล็กน้อย มีความยาวเพียงระดับพระอุระ (อก) สวมมงกุฎ มีกระบังหน้า และทรงพระภูษา (ผ้านุ่ง) สั้นเหนือพระชานุ (เข่า) ลักษณะคล้ายเทวรูปในศิลปะขอมแบบบายน สวมสายยัชโญปวีต หรือสายธุรำพาดพระอังสา (บ่า, ไหล่) ขวา ซึ่งสายยัชโญปวีต หรือสายธุรำ เป็นเชือกหรือด้ายมงคลศักดิ์สิทธิ์ของวรรณะพราหมณ์ เพื่อแสดงความเป็นพราหมณ์ อันหมายถึงผู้ที่ถือกำเนิด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกถือกำเนิดจากครรภ์มารดา ครั้งที่ 2 ถือกำเนิดโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนา เป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ จึงจะมีสิทธิ์คล้องสายยัชโญปวีต หรือสายธุรำ พระอุระ (อก) ด้านซ้ายมีปมเชือกที่เรียกว่า พรหมามุทิ ทรงเครื่องประดับตกแต่งแบบกษัตริย์ มีสร้อยพระศอ (สร้อยคอ) พาหุรัด (กำไลต้นแขน) ทองพระกร (กำไลข้อมือ) และทองพระบาท (กำไลข้อเท้า)
จากลักษณะของประติมากรรม และเครื่องแต่งกาย สันนิษฐานได้ว่าพระคเณศองค์นี้น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 และจากการที่พระคเณศองค์นี้เป็นพระคเณศที่มีขนาดเล็ก และมีลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกับเทวรูปในศิลปะขอมแบบบายน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะถูกนำเข้ามาจากที่อื่น โดยพ่อค้าชาวต่างชาติที่นำติดตัวเข้ามาทำการค้าในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ตามคติการนับถือพระคเณศที่เชื่อว่าทรงเป็นเทพเจ้าที่ช่วยขจัดอุปสรรคและประทานความสำเร็จในการเดินทางและการค้าขาย
พระคเณศเป็นเทพเจ้าที่สันนิษฐานกันว่า แต่เดิมเป็นเทพพื้นเมืองของอินเดีย ซึ่งต่อมากลายเป็นเทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู ทรงเป็นเทพเจ้าที่เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดองค์หนึ่ง สืบเนื่องมาจากมีคติความเชื่อที่ว่าทรงเป็นเทพเจ้าที่สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวง และยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์
คติการนับถือพระคเณศได้แพร่กระจายมาสู่ดินแดนประเทศไทยเป็นเวลาช้านาน จากหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพของพระคเณศในระยะแรกบนแผ่นดินไทย ปรากฏขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สำหรับบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีการพบพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ แม้ว่าพระคเณศจะไม่ได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดในดินแดนประเทศไทย ซึ่งมีการรับนับถือพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านาน แต่การพบหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพพระคเณศที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในดินแดนประเทศไทยตลอดมา ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดูสืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระคเณศในคติความเชื่อของไทยแสดงถึงความเป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค ผู้ได้รับการบูชาก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ในกิจการอันเป็นมงคล หรือในการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ พระคเณศจึงกลายเป็นบรมครูแห่งศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ ด้วย
อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. 2. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2554. 3. จิรัสสา คชาชีวะ. พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2547. 4. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523. 5. อุไร จันทร์เจ้า. "ร่องรอยหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19." วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 8530 ครั้ง)