...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
สัปคับพระที่นั่ง

แบบศิลปะ / สมัย สมัยรัตนโกสินทร์ วัสดุ (ชนิด) ไม้จำหลัก งาช้าง หวาย ลงรักปิดทอง ขนาด กว้าง ๗๙ เซนติเมตร ยาว ๑๘๑ เซนติเมตร สูง ๘๗ เซนติเมตร ประวัติความเป็นมา เดิมเป็นสมบัติของเจ้าราชภาคินัย และเจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ พุทธสถาน เชียงใหม่ มอบให้ ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) และมณฑลพายัพ (แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา และเชียงใหม่) ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยรถไฟพระที่นั่งถึงนครเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ และเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ มีพระราชกรณียกิจและประทับที่นครเชียงใหม่ เป็นเวลา ๑๕ วัน ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนครเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า คหบดีนครเชียงใหม่ ได้จัดกระบวนแห่รับเสด็จเข้าเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับบนหลังช้างพระที่นั่งองค์ละช้าง ช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช้างทรงของพลตรีเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ช้างพระที่นั่งนั้นมีปกกระพองห้อยพู่จามรีห้อยข้างซองหาง ผูกกูบทองโถง เครื่องประดับช้างทั้งหมดทำด้วยเงิน ควาญหัวคือนายพันตำรวจเอกเจ้าชัยสงคราม ท้ายช้าง รองอำมาตย์เอก เจ้าประพันธุ์พงศ์ สัปคับ หรือ แหย่งช้าง หลังนี้สร้างด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ส่วนฐานเป็นแบบโปร่ง ตรงกลางใต้ช่องที่นั่งทำเป็นแป้นนูน ด้านหน้าสลักเป็นภาพขุนกระบี่ (ลิง) ติดในกรอบริมหยักแกะสลักลายก้านขด ด้านหลังเป็นภาพยักษ์ถือกระบอง พนักโดยรอบเป็นไม้แกะสลักฉลุเป็นลายก้านขดลงรักปิดทอง ประดับด้วยซี่กรงซึ่งทำด้วยงาช้างกลึงอย่างประณีต ส่วนของพื้นที่นั่งทำด้วยหวายเส้นขนาดเล็ก ลงรัก ทาชาด มีพนักพิงด้านหลัง ลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกลีบบัวลงรักทาชาดทางด้านหน้า ส่วนด้านหลังแกะลายกนกก้านขด ลงรักปิดทอง ด้านหน้าของสัปคับมีห่วงเหล็ก ๒ ห่วง สันนิษฐานว่าน่าจะใช้สำหรับเป็นที่ร้อยเชือกสำหรับตรึงสัปคับเข้ากับตัวช้างให้แน่นหนายิ่งขึ้น

เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด

เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาถูกประดับอยู่ที่บริเวณผนังของวิหารวัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1998 สมัยพระเจ้าติโลกมหาราช โดยโปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากวิหารมหาโพธิ์ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยย่อส่วนให้เหลือประมาณ 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น ส่วนลวดลายปูนปั้นที่ผนังนอกวิหารใช้การประดับเป็นรูปเทวดาแทนตำแหน่งพระพุทธรูป ซึ่งแตกต่างจากต้นแบบ .ลักษณะของเทวดาที่ประดับเรียงรายอยู่ในแต่ละช่องที่คั่นด้วยเสามี 2 ชั้น แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1. เทวดานั่งพนมมือ ท่าทางเหมือนลอยหรือเหาะอยู่กลางอากาศ ประดับที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ 2. เทวดายืนพนมมือ อยู่บนฐานบัว ประดับที่มุมจากการยกเก็จด้านหลังของวิหารพื้นหลังของเทวดาตกแต่งโปรยปรายด้วยลายดอกไม้ร่วง จากลักษณะดังกล่าวนี้เอง การประดับเทวดาในที่นี้น่าจะหมายถึง เหล่าเทวดาลงมาชุมนุม ร่วมแสดงความยินดีในคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ เนื่องจากเหล่าเทวดามีหันพระพักตร์ไปทางด้านหลังของวิหารวัดเจ็ดยอด ซึ่งมีต้นโพธิ์อันเป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ภาพเหล่าเทวดาหรือเทพชุมนุมเช่นนี้มักพบอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ที่วัดเจ็ดยอดนี้เป็นงานปูนปั้นด้านนอกของวิหาร.รูปแบบของเทวดาทั้งกลุ่มนั่งและยืน มีพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรง แย้มพระโอษฐ์ พระวรกายเพรียวบาง บั้นพระองค์เล็ก เครื่องประดับ ทรงสวมมงกุฎกรวยสูง (กรัณฑมงกุฎ) กุณฑล กรองศอ สายอุทรพันธะ พาหุรัด ข้อพระกร ข้อพระบาท การแต่งกาย ทรงสวมผ้านุ่งยาวและชักชายผ้าออกมาโดยทำให้มีลักษณะพลิ้วไหวปลายสะบัดขึ้น ทำให้เหมือนว่าเทวดากำลังล่องลอยอยู่กลางอากาศพื้นหลังมีลายดอกไม้ร่วง โดยทำเป็นลายดอกโบตั๋น ผสมใบและลายกนกก้านขด ลายก้อนเมฆ ลายจำปาดะที่คล้ายดอกจำปีหรือจำปา แต่มีขนาดใหญ่กว่า.เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอดถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการกำหนดอายุงานศิลปกรรมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ของล้านนาได้ จากรูปแบบข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะหลายแหล่งที่เป็นนิยมในช่วงนั้น เช่น การทำพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรมองตรง พระวรกายบาง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ได้ปรากฏในกลุ่มพระพุทธรูปด้วย การสวมเครื่องประดับ เช่น กรัณฑมงกุฎ การนุ่งผ้า และลายดอกจำปาดะ ก็แสดงให้เห็นถึงกระแสศิลปะลังกา ที่ในสมัยพระเจ้าติโลกมหาราช มีกลุ่มพระภิกษุนิกายวัดป่าแดงได้ไปศึกษาศาสนาที่ลังกาและอาจนำกลับมาก็เป็นได้ ส่วนลายดอกโบตั๋น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในลวดลายประดับแบบศิลปะจีนที่พบเจอทั้งในงานประติมากรรม งานจิตรกรรม และเครื่องถ้วยในสมัยนี้-------------------------------------------อ้างอิง- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 121 - 123.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 323 – 325.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า .ที่มารูปภาพ- ภาพถ่ายเก่าวัดเจ็ดยอด จาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่

พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะล้านนารูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2469 พระราชทาน แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2469 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งมาจัดแสดง ลักษณะ : พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ทรงสวมมงกุฎ กุณฑล สังวาลไขว้ ทับทรวงประดับพลอยสีแดง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ และสวมผ้านุ่งลายตาราง อยู่บนฐานบัวหงาย รองรับด้วยฐานหน้ากระดาน 6 เหลี่ยม มีขาสามขา -----------------------------------------------------------พระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนา เป็นที่นิยมสร้างในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีคติการสร้างมาจากพุทธประวัติตอนทรมานพญามหาชมพู ซึ่งได้พบหลักฐานว่าเป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นในแถบล้านนาและล้านช้าง โดยได้พบรูปบุคคลสำริดนั่งพนมมือแต่งเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ชิ้นหนึ่งในศิลปะล้านช้างที่มีจารึกชื่อ “ชมภูปติ” .เรื่องราวเป็นตอนที่พญามหาชมพูซึ่งถือว่าตนเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดเหนือตน ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพญามหาชมพูได้ จึงเนรมิตแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า แล้วให้พระอินทร์แปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูมาเข้าเฝ้า และทรงแสดงธรรมโปรดจนพญามหาชมพูหมดทิฐิมานะและขอบรรพชาอุปสมบท .ลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องในศิลปะล้านนาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็น แบบที่มีการครองจีวรและมีเครื่องทรงมาสวมทับไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แบบที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยทั้งสองแบบน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกันหรือห่างกันไม่มากเนื่องจากลักษณะรูปแบบโดยรวมใกล้เคียงกัน .พระพุทธรูปทรงเครื่องที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ องค์นี้ เป็นแบบกลุ่มที่แสดงเครื่องทรงเพียงอย่างเดียว ไม่แสดงการครองจีวร โดยปกติในกลุ่มนี้มักนิยมประทับนั่งขัดสมาธิราบ แต่องค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะปาละ มีเครื่องทรงที่แสดงอิทธิพลศิลปะลังกา คือ มีการสวมกรัณฑมกุฎ คือ มงกุฎทรงกรวยแหลม โดยประกอบขึ้นจากวงแหวนหรือลูกกลมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงยอดแหลม การสวมเครื่องทรงแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับเทวดาปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอด .นอกจากนี้ส่วนฐานบริเวณบัวคว่ำทำเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบศิลปะจีน และมีลายประจำยามก้ามปูและเม็ดไข่ปลา ส่วนขาสามขาที่มาจากสายท่อชนวนที่ไม่ได้ตัดทิ้งก็เป็นแบบที่นิยมพบในพระพุทธรูปช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 -----------------------------------------------------------อ้างอิง- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 118.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 247-251- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 553-555.- เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์ : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. หน้า 88.ที่มารูปภาพรูปบุคคลมีจารึกชื่อ ชมภูปติ- A. B. Griswold. “Notes on the Art of Siam, no. 5. The Conversion of Jambupati”.Artibus Asiae Vol. 24, No. 3/4 (1961), pp. 297.

พระบฏ

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระบฏ รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 -21วัสดุ : ผ้าประวัติ : พบที่กรุเจดีย์วัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคราวที่สำรวจแหล่งโบราณคดีที่จะถูกน้ำท่วมก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อปี พ.ศ. 2502-2503 โดยเริ่มขุดที่วัดเจดีย์สูงเป็นวัดแรก ลักษณะ : เป็นภาพจิตรกรรมรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวก เขียนลงบนผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง ส่วนบนและล่างมีที่ไว้สำหรับใช้แขวน---------------------------------------------------------พระบฏ คือ ภาพที่เขียนลงบนผ้าเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า ใช้แขวนเพื่อเคารพบูชามีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คำว่า ปฏ (ปะ-ตะ) หมายถึง ผืนผ้า.ถึงแม้ว่าสภาพของพระบฏผืนนี้ บางส่วนของภาพค่อนข้างชำรุด จึงมีไม่เต็มภาพ แต่ก็ยังสามารถมองเห็นองค์ประกอบหลักของภาพได้อยู่ .องค์ประกอบภาพ ตรงกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนบนฐานบัว แสดงปางเปิดโลก เหนือพระเศียรเขียนภาพฉัตร โดยมีพระอัครสาวกคือ พระโมคคัลลานะ (เบื้องซ้าย) และพระสารีบุตร (เบื้องขวา) ยืนพนมมือขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ฉากหลังเป็นพื้นสีแดง ปรากฏภาพดอกไม้สวรรค์ หรือ ดอกไม้ร่วงนานาพันธุ์ เช่น ดอกบัว ดอกโบตั๋น ดอกจำปี ดอกจำปา ดอกปีบ เป็นต้น ส่วนด้านบนทางซ้ายและขวา เป็นภาพพระจันทร์ มีกระต่ายอยู่ด้านใน และก้อนเมฆล้อมรอบ อีกฝั่งที่ชำรุดเสียหายสันนิษฐานว่าคือภาพพระอาทิตย์ .จากองค์ประกอบภาพและการโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์จะอยู่ระดับเหนือยอดเขายุคันธร อันเป็นหนึ่งในเขาสัตบริภัณฑ์ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเขาพระสุเมรุ ยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงหมายถึงเรื่องราวใน พุทธประวัติ ตอนหลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จลงมาถึงโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะแล้ว. รูปแบบจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าปรากฏพระเนตรที่เรียวยาวเหลือบมองต่ำ และร่องรอยลายเส้นคาดว่าน่าจะมีชายสังฆาฏิยาว แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ส่วนพื้นหลังที่มีดอกไม้ร่วงนานาชนิด ลักษณะลวดลายของดอกไม้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะจีน ซึ่งได้รับความนิยมในงานศิลปกรรมของล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สันนิษฐานว่าช่างล้านนาได้นำลายดอกไม้จีนมาจากเครื่องถ้วยจีน เนื่องจากได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงภายในกรุเดียวกันกับพระบฏ นอกจากนี้ยังมีลายก้อนเมฆและลายหยักคลื่นก็ได้รับอิทธิพลศิลปะจีนเช่นเดียวกัน.การเขียนภาพใช้เทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบ การใช้สีเป็นประเภทพหุรงค์ โดยใช้หลายสีคือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว สีขาว และสีดำ.จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลนี้ ยังได้พบพระบฏอีกผืนที่มีขนาดใกล้เคียงกันด้วย โดยพบบรรจุอยู่ในหม้อดินที่กรุเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพตอนกำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพฯ . ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้มีการปรับปรุงห้องจัดแสดงใหม่ โดยได้นำผ้าพระบฏที่พบจากวัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่นี้ กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าชมความงามและร่องรอยงานจิตรกรรมสมัยอาณาจักรล้านนาที่เหลือหลักฐานอยู่ไม่มากได้ที่ชั้น 2 ห้องพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดทำการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09:00 -16:00 น. หยุดทุกวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์-----------------------------------------------------อ้างอิง- กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์ , 2550 หน้า 372.- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 159-161.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 323-325.- Chiang Mai House of Photography by Associate Professor Kanta Poonpipat Foundation. ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า (พระบฏ) วัดเจดีย์สูง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2565, จาก : https://cmhop.org/product/พระบฏกรุวัดเจดีย์สูง/ - อาทิตยา สืบมาแต่ปั้น. เปรียบเทียบพระบฏแสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สมัยล้านนาและรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

พระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่พระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่รูปแบบ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 วัสดุ : สำริด ลงรักปิดทองประวัติ : พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างขึ้น เริ่มทำการหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำเดือน 8 ปีชวด จุลศักราช 866 (พ.ศ. 2047) เสร็จแล้วได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดบุปผาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 871 (พ.ศ. 2052) สถานที่ : ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ ลักษณะ : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี ----------------------------------------------------------“พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระพุทธรูปสำริดศิลปะล้านนาสภาพสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุด คำว่า “เก้าตื้อ” หมายถึงพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่หนักมากถึง 9 ตื้อ โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร และสูง 3.87 เมตร .ลักษณะของพระพุทธรูปเป็นแบบเชียงแสนสิงห์สอง คือกลุ่มที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแบบหมวดใหญ่ เห็นได้จากลักษณะของพระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี เป็นตามแบบพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่พบมากในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ชายสังฆาฏิทำเป็นแผ่นใหญ่เป็นลักษณะอิทธิพลของศิลปะอยุธยาเข้ามาผสมด้วย จากลักษณะรูปแบบของพระพุทธรูปมีความสอดคล้องกับเอกสารที่กล่าวถึงการสร้าง----------------------------------------------อ้างอิง- พระรัตนปัญญาเถระ, แสง มนวิทูร, แปล. ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร : กรมศิลปากร, 2501. หน้า 119-121.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 244-245.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 552.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณล้านนา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2563. หน้า 110.- กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. 108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา, 2560. หน้า 37.

ปางพิจารณาชราธรรม

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ >> ปางพิจารณาชราธรรม <<ลักษณะ : พระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์ซ้ายและขวาวางคว่ำบริเวณพระชานุทั้งสองข้าง เป็นปางจากพุทธประวัติของเหตุการณ์ในพรรษาที่ 45 พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระพุทธองค์ประทับ ณ บ้านเวฬุวคาม ทรงประชวรหนักเกิดทุกขเวทนา ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ และบำบัดขับไล่อาพาธให้สงบระงับด้วยความเพียรในอิทธิบาทภาวนาครั้นหายประชวรเป็นปกติแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่า “บัดนี้ เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว ชนมายุกาลแห่งเราถึง 80 ปีเข้าแล้วนี่ กายแห่งคถาคตย่อมเป็นประหนึ่งเกวียนชำรุดที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ มิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น” พระองค์ทรงเปรียบเทียบสังขารว่าเหมือนเกวียนเก่า ซึ่งต้องใช้ไม้ไผ่ผูกดามกระหนาบ----------------------------------------------------------ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นบูรพกษัติรย์ในสมัยอยุธยาได้เคยปฏิบัติ คือ การสร้างพระพุทธรูปถวายเป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคิดค้นคัดเลือกพุทธอิริยาบถปางต่าง ๆ ตามเรื่องที่มีในพุทธประวัติ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้น อาทิ ปางทุกรกิริยา ปางรับมธุปายาส ปางลอยถาด ปางรับกำหญ้าคา ฯลฯ โดยมี “ปางพิจารณาชราธรรม” รวมอยู่ด้วย ซึ่งปางนี้ได้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1.พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวนี้เป็นแบบอย่างของพุทธศิลปะแบบแผนสกุลช่างกรุงเทพฯ ที่สำคัญ ปัจจุบันพระพุทธรูปดังกล่าวได้ประดิษฐานในหอราชกรมานุสรณ์ และหอราชพงศานุสรณ์ ทางด้านตะวันตกของพระอุโบสถวัดศรีรัตนศาสดาราม.ปางพิจารณาชราธรรมเป็นปางที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการสร้างเหมือนกับปางมารวิชัย หรือ ปางสมาธิที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้มักพบเจอพระพุทธรูปปางนี้ได้ไม่บ่อยนัก.ตัวอย่างหนึ่งที่พบในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการสร้างพระพุทธรูป 80 องค์รอบพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นจากศรัทธาบริจาคของพุทธศาสนิกชน โดยมี 66 องค์เป็นปางที่สร้างขึ้นตามเหตุการณ์สำคัญตอนต่าง ๆ ในพุทธประวัติ และหนึ่งในนั้นก็ได้สร้างพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมนี้ไว้ด้วย.และจากเหตุการณ์เจดีย์ถล่มที่วัดศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการพบพระพุทธรูปที่ถูกบรรจุอยู่ภายในเจดีย์จำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็ได้พบพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรมเช่นกัน ซึ่งแทบไม่เคยพบในพระพุทธรูปล้านนามาก่อน จากประวัติการคิดค้นปางนี้มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา จึงสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธรูปปางนี้น่าจะเป็นการบรรจุเพิ่มปะปนรวมกับพระพุทธรูปของเดิมสมัยพระเมืองแก้วกลับเข้าไปในตอนซ่อมเจดีย์ในสมัยหลังก็เป็นได้--------------------------------------------------------อ้างอิง- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2535. หน้า 178-179.- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558. หน้า 12-13, 90.- สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514. หน้า 7-10, 128-129.- ไขศรี ศรีอรุณ. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 6. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2561. หน้า 71.- ธนากิต. ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2544. หน้า 261-263.ที่มาของภาพ1. ภาพพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม ประดิษฐานภายในหอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2535. 2. ภาพพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม ประดิษฐานรอบพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558. 3. ภาพลายเส้นพระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม - สมพร อยู่โพธิ์. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2514.


Messenger