...

พระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
พระเจ้าเก้าตื้อ วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
รูปแบบ :  ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21  
วัสดุ :  สำริด ลงรักปิดทอง
ประวัติ :  พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างขึ้น เริ่มทำการหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำเดือน 8 ปีชวด จุลศักราช 866 (พ.ศ. 2047) เสร็จแล้วได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดบุปผาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 871 (พ.ศ. 2052)  
สถานที่ :   ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ
ลักษณะ :  พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี  
----------------------------------------------------------
“พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระพุทธรูปสำริดศิลปะล้านนาสภาพสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุด คำว่า “เก้าตื้อ” หมายถึงพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่หนักมากถึง 9 ตื้อ โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร และสูง 3.87 เมตร
.
ลักษณะของพระพุทธรูปเป็นแบบเชียงแสนสิงห์สอง คือกลุ่มที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแบบหมวดใหญ่ เห็นได้จากลักษณะของพระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี เป็นตามแบบพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่พบมากในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ชายสังฆาฏิทำเป็นแผ่นใหญ่เป็นลักษณะอิทธิพลของศิลปะอยุธยาเข้ามาผสมด้วย จากลักษณะรูปแบบของพระพุทธรูปมีความสอดคล้องกับเอกสารที่กล่าวถึงการสร้าง
----------------------------------------------
อ้างอิง
- พระรัตนปัญญาเถระ, แสง มนวิทูร, แปล. ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร : กรมศิลปากร, 2501. หน้า 119-121.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 244-245.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า 552.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณล้านนา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2563. หน้า 110.
- กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. 108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา, 2560. หน้า 37.

(จำนวนผู้เข้าชม 1824 ครั้ง)


Messenger