...

เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด
เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอด
ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาถูกประดับอยู่ที่บริเวณผนังของวิหารวัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1998 สมัยพระเจ้าติโลกมหาราช โดยโปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากวิหารมหาโพธิ์ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยย่อส่วนให้เหลือประมาณ 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น ส่วนลวดลายปูนปั้นที่ผนังนอกวิหารใช้การประดับเป็นรูปเทวดาแทนตำแหน่งพระพุทธรูป ซึ่งแตกต่างจากต้นแบบ
.
ลักษณะของเทวดาที่ประดับเรียงรายอยู่ในแต่ละช่องที่คั่นด้วยเสามี 2 ชั้น แบ่งได้ 2 กลุ่มคือ  
1. เทวดานั่งพนมมือ ท่าทางเหมือนลอยหรือเหาะอยู่กลางอากาศ ประดับที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้
2. เทวดายืนพนมมือ อยู่บนฐานบัว ประดับที่มุมจากการยกเก็จด้านหลังของวิหาร
พื้นหลังของเทวดาตกแต่งโปรยปรายด้วยลายดอกไม้ร่วง จากลักษณะดังกล่าวนี้เอง การประดับเทวดาในที่นี้น่าจะหมายถึง เหล่าเทวดาลงมาชุมนุม ร่วมแสดงความยินดีในคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ เนื่องจากเหล่าเทวดามีหันพระพักตร์ไปทางด้านหลังของวิหารวัดเจ็ดยอด ซึ่งมีต้นโพธิ์อันเป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ภาพเหล่าเทวดาหรือเทพชุมนุมเช่นนี้มักพบอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ที่วัดเจ็ดยอดนี้เป็นงานปูนปั้นด้านนอกของวิหาร
.
รูปแบบของเทวดาทั้งกลุ่มนั่งและยืน มีพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรง แย้มพระโอษฐ์ พระวรกายเพรียวบาง บั้นพระองค์เล็ก
เครื่องประดับ ทรงสวมมงกุฎกรวยสูง (กรัณฑมงกุฎ) กุณฑล กรองศอ สายอุทรพันธะ พาหุรัด ข้อพระกร ข้อพระบาท
การแต่งกาย ทรงสวมผ้านุ่งยาวและชักชายผ้าออกมาโดยทำให้มีลักษณะพลิ้วไหวปลายสะบัดขึ้น ทำให้เหมือนว่าเทวดากำลังล่องลอยอยู่กลางอากาศ
พื้นหลังมีลายดอกไม้ร่วง โดยทำเป็นลายดอกโบตั๋น ผสมใบและลายกนกก้านขด ลายก้อนเมฆ ลายจำปาดะที่คล้ายดอกจำปีหรือจำปา แต่มีขนาดใหญ่กว่า
.
เทวดาปูนปั้นวัดเจ็ดยอดถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการกำหนดอายุงานศิลปกรรมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ของล้านนาได้ จากรูปแบบข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะหลายแหล่งที่เป็นนิยมในช่วงนั้น เช่น การทำพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรมองตรง พระวรกายบาง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ได้ปรากฏในกลุ่มพระพุทธรูปด้วย การสวมเครื่องประดับ เช่น กรัณฑมงกุฎ การนุ่งผ้า และลายดอกจำปาดะ ก็แสดงให้เห็นถึงกระแสศิลปะลังกา ที่ในสมัยพระเจ้าติโลกมหาราช มีกลุ่มพระภิกษุนิกายวัดป่าแดงได้ไปศึกษาศาสนาที่ลังกาและอาจนำกลับมาก็เป็นได้ ส่วนลายดอกโบตั๋น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในลวดลายประดับแบบศิลปะจีนที่พบเจอทั้งในงานประติมากรรม งานจิตรกรรม และเครื่องถ้วยในสมัยนี้
-------------------------------------------
อ้างอิง
- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย – ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 121 - 123.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 323 – 325.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2565. หน้า .
ที่มารูปภาพ
- ภาพถ่ายเก่าวัดเจ็ดยอด จาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่







(จำนวนผู้เข้าชม 2163 ครั้ง)