...

ด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
พระอัฏฐารส

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พระอัฏฐารส วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่รูปแบบ : ศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20วัสดุ : สำริด, ไม้ ปิดทอง ประวัติ : สร้างโดยพระนางติโลกจุฑาราชเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกน ในปีพุทธศักราช 1955สถานที่ : ประดิษฐานภายในวิหารหลวงวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเขียงใหม่ ลักษณะ : พระพุทธรูปปางประทานอภัย ประทับยืน พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้ม พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีเป็นเปลว พระวรกายค่อนข้างอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี มีสายรัดประคดและจีบหน้านาง --------------------------------------------------------คำว่า อัฏฐารส ตามรากศัพท์ภาษาบาลี มาจากคำว่า อัฏฐ หมายถึง 8 และ ทศ หมายถึง 10 เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นจำนวน 18 .ความหมายของชื่อ พระอัฏฐารส มีการตีความไว้เป็น 2 แนวคิด คือ แปลว่า พระสูง 18 ศอก และ พระผู้เปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ 18 ประการ โดยแนวคิดแรกมาจากคัมภีร์อรรถกถาพุทธวงศ์ ที่กล่าวถึงความสูงของพระพุทธเจ้า ส่วนแนวคิดที่สองมาจากการตีความหมายลักษณะดังกล่าวที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านงานประติมากรรม .พระอัฏฐารสองค์นี้ สร้างติดกับผนังของวิหารให้เป็นพระประธานในวิหารหลวง โดยส่วนขององค์พระหล่อด้วยสำริด แต่ส่วนพระหัตถ์ที่ยื่นออกมาแสดงปางประทานอภัยทำจากไม้ มีพระสาวกยืนขนาบอยู่ทั้งสองข้าง คือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร .จากลักษณะรูปแบบแสดงให้เห็นถึงงานศิลปกรรมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสุโขทัยช่วงสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ยุคทองของล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 โดยมีการผสมผสานรูปแบบระหว่าง พระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่ง กับ อิทธิพลสุโขทัย ซึ่งเห็นได้จากลักษณะ พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม พระวรกายอวบอ้วน แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง แต่ว่ามีการทำพระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี มีสายรัดประคดและจีบหน้านาง ซึ่งได้รับอิทธิพลสุโขทัย นอกจากนี้การสร้างพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ก็เป็นที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัยด้วย --------------------------------------------------------อ้างอิง- บุณยกร วชิระเธียรชัย. “อฏฺฐารส คติความเชื่อ และการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมา”. วารสารหน้าจั่ว : ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย. ฉบับที่ 8 (กันยายน 2554 – สิงหาคม 2555). หน้า 56-64.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 216-217.

บัญชักธรรม

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ บัญชักธรรม วัสดุ ไม้ ลงรักปิดทองประวัติ พุทธสถานเชียงใหม่ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2514ลักษณะ ไม้ลงรักปิดทอง รูปทรงเรียวยาว ส่วนปลายทั้งสองทำทรงหยักโค้งปลายแหลมมน ที่ปลายด้านหนึ่งเนื้อไม้บิ่นชำรุดและมีการเจาะรูสำหรับร้อยเชือก พื้นที่ตรงกลางจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ความว่า“หนังสือมัดนี้ เตมิยะ 2 ผูก ชนก 2 ผูก สุวณฺณสาม 3 ผูก แลนายเอย ฯ 2 สทฺธาแล น้อยสุวัน สทฺธานึ่ง ฯ อ้ายออม สทฺธานึ่ง ฯ ได้ส้างไว้ยฺกับสาสนา ขอหื้อผู้ข้าได้เกิดร่วมสาสนาแล”“หนังสือมัดนี้ เตมิยะ 2 ผูก ชนก 2 ผูก สุวรรณสาม 3 ผูก แลนายเอย ฯ 2 ศรัทธาแล น้อยสุวัน ศรัทธาหนึ่ง ฯ อ้ายออม ศรัทธาหนึ่งฯ ได้สร้างไว้กับศาสนา ขอหื้อผู้ข้าได้เกิดร่วมศาสนาแล”*------------------------------------------บัญชักธรรม หรือ ไม้บัญชัก คือ ไม้ที่ใช้เขียนชื่อคัมภีร์ธรรม โดยระบุว่าในมัดนั้นมีคัมภีร์ใดบ้าง มีจำนวนกี่ผูก โดยจะนำไปผูกติดไว้กับคัมภีร์ด้านนอกเพื่อความสะดวกในการค้นหา เปรียบเหมือนเป็นป้ายชื่อ ลักษณะบัญชักธรรม ทำจากไม้ มีทั้งแบบที่ลงรักปิดทองหรือลงรักทาชาด รูปทรงเรียวยาวปลายแหลมมน ส่วนปลายทั้งสองข้างมักสลักลวดลายหรือเป็นแบบเรียบ ๆ ส่วนปลายด้านหนึ่งจะเจาะรูไว้สำหรับร้อยเชือกเพื่อผูกติดกับคัมภีร์ พื้นที่ตรงกลางเว้นที่ว่างไว้จารึกข้อความ ข้อความบนบัญชักธรรม นอกจากจะระบุชื่อคัมภีร์แล้ว ยังมีระบุปีที่สร้าง นามผู้ศรัทธา เจตนา และคำปรารถนาในการสร้างอีกด้วย เป็นการสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา คล้ายกับการจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ---------------------------------------------อ้างอิง* นางเดือนศิริ ศรีชัยวิทย์ (ปริวรรต) - มณี พยอมยงค์, ศิริรัตน์ อาศนะ. เครื่องสักการะในล้านนาไทย. เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์, 2549. หน้า 66.- ทรงพันธ์ วรรณมาศ. พจนานุกรมภาพศิลปวัฒนธรรมล้านนาและหัวเมืองฝ่ายเหนือ. ฝ่ายเอกสารการพิมพ์ สำนักงานอธิการ สหวิทยาลัยล้านนาเชียงใหม่, ไม่ระบุปีที่พิมพ์. หน้า 70.ภาพถ่าย- ภาพวิธีใช้งานบัญชักธรรม ถ่ายจาก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่

เจดีย์วัดพระธาตุดอยกองมู

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่เจดีย์วัดพระธาตุดอยกองมู ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนวัดพระธาตุดอยกองมู เดิมมีชื่อเรียกว่า จองป๋ายหลอย หรือ วัดปลายดอย ตั้งอยู่บนยอด “ดอยกองมู” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองแม่ฮ่องสอน กองมูเป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า พระเจดีย์ เพราะเชื่อกันว่าเขาลูกนี้มีลักษณะเหมือนเจดีย์ .ภายในวัดมีเจดีย์ที่สำคัญ 2 องค์ คือ เจดีย์องค์ใหญ่และเจดีย์องค์เล็ก ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม 2524 หน้า 3690 รวมทั้งวิหารหลังคาทรงยวนที่อยู่ติดกันด้วย.เจดีย์องค์ใหญ่ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2403 (จุลศักราช 1222) โดยศรัทธาผู้สร้างคือ คหบดีชื่อ จองต่องสู่ และนางเหล็ก ผู้เป็นภรรยา ภายในบรรจุพระธาตุของพระโมคัลลานะ ที่อัญเชิญมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ซึ่งมอบให้พระอูปั่นเต๊กต๊ะ ช่วยจัดหาพระธาตุสำหรับบรรจุภายในเจดีย์ให้ เมื่อก่อสร้างเสร็จเต็มองค์แล้ว เจดีย์มีฐานกว้างด้านละ 20 เมตร สูง 33 เมตร ต่อมาจองต่องสู่ได้จ้างช่างที่เมืองมะละแหม่งให้ทำยอดฉัตรเจดีย์ให้ แต่ว่าได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะได้ทำพิธียกฉัตรและสมโภช หลังจากนั้นเจดีย์ได้พังลงเหลือเพียงส่วนฐานข้างล่างจากคอระฆังลงมา ปลายปีพุทธศักราช 2491 พระครูอนุสนธิศาสนากิจ เจ้าอาวาสวัดไม้ฮุง และคณะศรัทธา ได้ร่วมกันบูรณะใหม่ให้เต็มองค์และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อเดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2493 ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2511 มีการบูรณะเจดีย์โดยพระครูอนุสารสาสนกรณ์ (ปานนุ วิสุทโธ) เจ้าอาวาส พร้อมคณะศรัทธา ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเจดีย์ตั้งอยู่บนฐาน 8 เหลี่ยมซ้อนกันและสร้างซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด 8 องค์ และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อปีพุทธศักราช 2514.เจดีย์องค์เล็ก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2417 (จุลศักราช 1236) โดยศรัทธาผู้สร้างคือ พญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรกของแม่ฮ่องสอน ภายในบรรจุพระธาตุของพระสารีบุตร ที่อัญเชิญมาจากเมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งมอบให้พระอูเอ่งต๊ะก๊ะ ช่วยจัดหาพระธาตุบรรจุภายในเจดีย์ให้ และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อพุทธศักราช 2418 .แม้ว่าเจดีย์ทั้งสององค์จะสร้างไม่พร้อมกันและมีการบูรณะหลายครั้ง แต่รูปแบบปัจจุบันโดยรวมมีความคล้ายกัน คือ “เป็นเจดีย์แบบมอญ” สันนิษฐานว่าจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งเป็นเจดีย์องค์สำคัญที่เชื่อว่าบรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าโดยเจดีย์แบบมอญมีรูปแบบ คือ มีฐานลาด ไม่มีบันไดหรือลานประทักษิณ มักมีเจดีย์ขนาดเล็กที่ฐานด้านล่าง มีปลียาว ซึ่งแตกต่างจากเจดีย์แบบพม่า แต่ส่วนองค์ระฆังมีรัดอกและบัวคอเสื้อ ไม่มีบัลลังก์ มีปัทมบาทระหว่างปล้องไฉนและกับปลี เหมือนกับเจดีย์แบบพม่าเจดีย์ทั้งสององค์มีองค์ประกอบหลักเป็นเจดีย์มอญ แต่มีความแตกต่างกันที่ เจดีย์องค์ใหญ่ได้มีการบูรณะปรับเปลี่ยนเป็นฐาน 8 เหลี่ยมซ้อนกันและบริเวณฐานด้านล่างประดับซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 8 ทิศ ส่วนเจดีย์องค์เล็กเป็นฐาน 4 เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน บริเวณฐานด้านล่างประดับซุ้มพระพุทธรูปซึ่งมีหลังคาประดับเรือนยอดทรงปราสาท 3 ยอด และที่มุมทั้ง 4 มีประดับรูปปั้นสิงห์----------------------------------------------------อ้างอิง- พระครูอนุสารสาสนกรณ์. ประวัติวัดพระธาตุดอยกองมู และจังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, 2528. หน้า 22-31.- สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2555. หน้า 122-125.- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2542. หน้า 94.- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่. เชียงใหม่ : เจริญวัฒน์การพิมพ์, 2549. หน้า 377.- ป้ายประวัติวัดพระธาตุดอยกองมู ที่วัดพระธาตุดอยกองมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน- เอกสารประกอบการบรรยายวิชา survey of arts history in neighboring countries คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

แมวขูดมะพร้าว

แมวขูดมะพร้าว วัสดุ : ไม้, เหล็กประวัติ : ร้านรัตนาแอนติค มอบให้เมื่อ 9 ตุลาคม 2528ขนาด : กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ลักษณะ : ไม้แกะสลักเป็นรูปแมวนอนหมอบยืดขาหน้า หางเก็บข้างลำตัว บริเวณดวงตาประดับกระจกสีเขียว แกะลายเส้นเป็นหนวดแมว ที่ปากแมวมีเหล็กทำเป็นซี่เล็ก ๆ ใช้สำหรับขูดมะพร้าวยื่นออกมา ที่ก้นแมวมีห่วงเหล็กสถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ -----------------------------------------------------------อุปกรณ์ขูดมะพร้าวเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนในหลายภาค เนื่องจากอาหารไทยหรือขนมไทยหลายอย่างมีส่วนประกอบของมะพร้าวหรือกะทิ โดยแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกและรูปร่างที่ต่างกันไป ในภาคกลางคนจะนิยมเรียกว่า “กระต่ายขูดมะพร้าว” อาจเพราะมองว่า ส่วนเหล็กที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าว คล้ายกับฟันกระต่าย หรือบ้างก็ว่ามาจากรูปร่างที่นั่งที่นิยมทำเป็นรูปกระต่าย แต่ที่ภาคเหนือกลับนิยมทำเป็นรูปแมว จึงเรียกว่า “แมวขูดมะพร้าว” (หรือ งอง) อาจเพราะมองเหล็กที่ขูดมะพร้าวคล้ายกับเล็บแมว หรือเพราะนิยมทำที่นั่งเป็นรูปแมวส่วนทางภาคใต้ จะเรียกว่า “เหล็กขูด” หรือ แหล็กขูด นิยมทำเป็นรูปสิงห์ สัตว์ต่าง ๆ หรือรูปคน .วิธีใช้งานแมวขูดมะพร้าว เหมือนกันกับภาคอื่น ๆ คือ คนขูดจะนั่งลงบนส่วนที่นั่งในท่าทางที่ถนัด นำจานหรือถาดมารองไว้ที่ใต้เหล็กที่ใช้ขูด และนำมะพร้าวแห้งผ่าครึ่งมาขูดส่วนเนื้อมะพร้าวออกเบา ๆ สามารถใช้งานได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย แต่ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ. ในภาคเหนือมีอาหารหรือขนมที่ต้องใช้ส่วนประกอบของเนื้อมะพร้าวหรือกะทิหลายอย่าง เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำลอ ขนมต้มกะทิ ขนมจ็อก ขนมลิ้นหมา ขนมแตงลาย ขนมกนน้ำอ้อย เป็นต้น.นอกจากแมวขูดมะพร้าวจะเป็นตัวช่วยในการขูดมะพร้าวได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของช่างที่ดัดแปลงส่วนที่นั่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามอีกด้วย.แต่ในปัจจุบันเราไม่ค่อยพบเห็นแมวขูดมะพร้าวตามครัวเรือนแล้ว เนื่องจากอาจเพราะมีเครื่องขูดมะพร้าวแบบไฟฟ้าที่ทุ่นแรงได้มากกว่าเข้ามาแทน หรือคนนิยมซื้อมะพร้าวหรือกะทิแบบที่ขายสำเร็จรูปมาใช้ปรุงอาหารเลยเพื่อประหยัดเวลา --------------------------------------------------------อ้างอิง- พจนก กาญจนจันทร. “แมว กระต่าย และต้นไม้แห่งชีวิต”. ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน 30 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. ปทุมธานี : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. หน้า 140-150.- พิชชา ทองขลิบ. “กระต่ายขูดมะพร้าว”. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.sac.or.th/.../trad.../th/equipment-detail.php...

พระมหาเทวีจิรประภา

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พระมหาเทวีจิรประภา(ครองราชย์ พ.ศ. 2088-2089).พระมหาเทวีจิรประภาเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า (กษัตริย์ล้านนา ครองราชย์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068-2081 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086-2088) เป็นพระมารดาของท้าวซายคำ (กษัตริย์ล้านนา ครองราชย์ พ.ศ.2081-2086) และพระนางยอดคำทิพย์ (อัครมเหสีของพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง)ซึ่งเป็นพระมารดาของ พระไชยเชษฐาธิราช (พระอุปโย).หลังจากพระเมืองเกษเกล้า พระสวามี ถูกขุนนางใหญ่ลอบปลงพระชนม์ แผ่นดินล้านนาว่างกษัตริย์ เหล่าขุนนางได้อัญเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นปกครองล้านนาเป็นการชั่วคราว นับได้ว่าพระองค์เป็นกษัตรีย์ หรือ กษัตริย์ผู้หญิงพระองค์แรกแห่งราชวงค์มังราย .เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เหล่าขุนนางเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นครองราชย์ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล วิเคราะห์ไว้ในหนังสือขัติยานีศรีล้านนาว่า เพราะพระองค์มีความพร้อมสูง เนื่องจากมีบทบาททางการเมืองในฐานะที่เคยเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า และเป็นพระมารดาของท้าวซายคำ ย่อมสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองไว้มาก เป็นไปได้ว่า พระองค์อยู่เบื้องหลังทางการเมืองในนครเชียงใหม่มานานแล้ว .พระมหาเทวีจิรประภาปกครองล้านนาในช่วงที่บ้านเมืองอ่อนแอ เกิดความแตกแยก พระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน กองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราชจากกรุงศรีอยุธยาก็ยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ด้วยสภาพบ้านเมืองในขณะนั้นไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้บ้านเมืองบอบช้ำ พระองค์จึงใช้ยุทธวิธีแต่งบรรณาการไปถวายแทนการสู้รบ ซึ่งพระไชยราชาธิราชยอมรับการเป็นไมตรีนี้ พระองค์ยังได้เชิญพระไชยราชาธิราชทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระเมืองเกษเกล้า ณ วัดโลกโมฬี ด้วย .ภายหลังพระมหาเทวีจิรประภาสละราชบัลลังก์ให้แก่พระไชยเชษฐาธิราชซึ่งมีฐานะเป็นพระราชนัดดา (หลาน)ขึ้นปกครองล้านนา ต่อมาเมื่อพระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์ล้านช้าง สวรรคตกะทันหัน พระไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จกลับไปครองอาณาจักรล้านช้าง ในครั้งนั้นพระองค์ก็ได้ตามเสด็จไปด้วย.ปัจจุบันวัดโลกโมฬี ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยพระเมืองเกษเกล้าและเป็นที่บรรจุอัฐิ มีประติกรรมรูปพระมหาเทวีจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าตั้งอยู่ในศาลาทางซ้ายมือใกล้ประตูทางเข้าวัด มีความเชื่อว่าผู้ใดอยากสมหวังในเรื่อง “ความรัก” ต้องมากราบไว้ขอพรพระมหาเทวีจิรประภา โดยมีคำไหว้บูชาว่า “มหาเทวี จิรประภา วันทามิ สิระสา สะทาโสตฺถี ภะวันตุเมฯ ข้าพเจ้าขอไหว้พระนางจิรประภาเทวี ด้วยความเคารพนอบน้อมยิ่ง ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้าในกาล เวลาทุกเมื่อเทอญ” และมีหลักการอธิษฐานระบุไว้ว่า “ขอความรัก บนไข่ไก่ 9 ฟอง แก้บน 108 ฟอง ผลไม้ 9 อย่าง พร้อมปัจจัยตามศรัทธา” .จากบทบาทในการเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ล้านนา ปัจจุบันพระองค์ได้รับความนับถือในฐานะเทพแห่งความรักของล้านนาอีกด้วย --------------------------------------------------------------อ้างอิง- สรัสวดี อ๋องสกุล. "บทบาททางการเมือง ประวัติ และที่มาของอำนาจมหาเทวีจิรประภา". ขัติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่ : มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ, 2547. หน้า 31-49.- สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. หน้า 173.- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 16-17.- มาลา คำจันทร์. พื้นบ้านตำนานเมืองล้านนา. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2565. หน้า 165-170.

วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)

#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่วิหารจำลอง (โลหะเชตวันวิหาร)รูปแบบ ศิลปะล้านนา พุทธศักราช 2269วัสดุ สำริดประวัติ - สันนิษฐานว่าที่ตั้งเดิมอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงแสน เนื่องจากข้อความในจารึกมีการกล่าวถึง บ้านของผู้สร้างคือหมื่นสรภิรมย์ ว่าตั้งอยู่หน้าวัดขาวป๊าน ซึ่งคงเป็น วัดผ้าขาวป้าน ในตัวเมืองเชียงแสน ใกล้แม่น้ำโขง- วิหารจำลองหลังนี้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ----------------------------------------------------ลักษณะวิหารจำลองเป็นการจำลองรูปแบบและโครงสร้างคล้ายกับวิหารขนาดจริงที่เป็นอาคารหลังคาคลุมเครื่องไม้มุงกระเบื้อง โดยย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงและอยู่ในวัสดุสำริด .แผนผังของวิหารจำลองอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 2 มุข (เป็นที่มาของหลังคาลดชั้นที่นิยมเรียกว่า หน้า 3 หลัง 2) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะล้านนา .มีฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ บริเวณฐานด้านหน้าทางเข้าประดับประติมากรรมรูปสัตว์ครึ่งตัว สันนิษฐานว่าเป็นสิงห์ จำนวน 2 ตัว .ตัวอาคารเป็นแบบมีฝาผนัง โดยทำฉลุลายคล้ายก้อนเมฆหรือลายช่องกระจกในศิลปะจีน และสลักลายรูปยักษ์ถือกระบอง เปรียบเสมือนทวารบาลที่มักอยู่ที่บานประตู คอยปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าภายในวิหาร มีซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านหน้า และด้านข้างทั้งสอง.เครื่องบนหลังคา ในส่วนของปราสาทเฟื้อง (ส่วนประดับกลางสันหลังคา) ขอบป้านลม และหางหงส์ ถูกประดับด้วยรูปหงส์ โดยรูปแบบนี้เป็นการจำลองเครื่องบนซึ่งอาจจะทำจากเครื่องเคลือบดินเผาประดับร่วมอยู่ด้วย เป็นการจำลองวิหารที่เกิดขึ้นในยุคที่ล้านนาอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า.วิหารจำลองหลังนี้มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยยวน ปรากฏอยู่ที่ ฝาผนังหลังวิหารด้านนอก ส่วนฐานวิหาร และรอบกรุเจดีย์ในวิหาร ข้อความที่จารึกมีใจความเหมือนกับการจารึกที่ฐานพระพุทธรูป เพียงแต่นำออกมามาจารึกที่ตัววิหารแทน กล่าวคือ บอกวันเดือนปีที่สร้าง นามผู้สร้างพร้อมคณะ บอกสิ่งที่สร้าง เจตนาการสร้าง คำปรารถนาของผู้สร้าง และคำบาลี .โดยสรุปใจความโดยย่อได้ว่า... เมื่อจุลศักราช 1088 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2269) หมื่นสรภิรมย์ และนางหมื่นสรภิรมย์ บ้านอยู่ที่หน้าวัดขาวป๊าน (คาดว่าเป็นวัดผ้าขาวป้าน) เป็นประธาน พร้อมลูกหลานเหลน วงศาคณาญาติทุกคน มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงสร้างโลหะเชตวันวิหารหลังนี้ และยังได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งและมหาเจดีย์เจ้าหลังหนึ่ง ตั้งไว้ในวิหารจำลองหลังนี้ด้วย (แต่ปัจจุบันภายในเหลือเพียงส่วนฐานของพระพุทธรูปและเจดีย์) เพื่อให้เป็นที่ไหว้สักการะ และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ถึง 5,000 พระวัสสา ขอให้ผลบุญที่ได้นำไปสู่นิพพาน .นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง น้ำหนักทองสำริดที่ใช้ในการสร้างหมดไป 120,000 (ประมาณ 132 กิโลกรัม) เป็นเงิน 1,170 อีกด้วย.แม้ว่าจะการสร้างวิหารจำลอง อาจจะมีสัดส่วนผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีการเก็บรายละเอียดโดยรวมให้คล้ายคลึงกับวิหารขนาดจริงมากที่สุด อาจเป็นไปได้ว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์ของการสร้างวิหารจำลองว่าเปรียบเสมือนได้สร้างวิหารขนาดจริง เพียงแต่สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างถวายไว้----------------------------------------------------อ้างอิง - ฮันส์ เพนธ์, ศรีเลา เกษพรหม และศราวุธ ศรีทา. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม 8 : จารึกในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2547. หน้า 299-304- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. หน้า 170-174.- ฐาปกรณ์ เครือระยา. เครื่องเคลือบดินเผาประดับในศิลปกรรมล้านนา. เชียงใหม่ :โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (อพ.สธ.-มจ.), 2566. หน้า 100 – 103.


Messenger