ขนมปังขิง (Gingerbread) เป็นชื่อของลวดลายไม้ฉลุที่เจาะทะลุปรุโปร่ง มีลวดลายโค้งงอพลิ้วไหว ขดขมวดเกาะเกี่ยวเชื่อมต่อกัน นำมาตกแต่งเป็นส่วนประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรม โดยลวดลายแบบขนมปังขิงนี้เป็นที่นิยมมากทั่วยุโรปในยุควิคตอเรีย และสยามรับเอาอิทธิพลของศิลปกรรมนี้มาจากชาวตะวันตกที่เข้ามาอาศัยและติดต่อค้าขายในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก สามารถพบเห็นลายฉลุนี้ได้ในวังเจ้านาย ศาสนสถาน บ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บ้านคหบดีผู้มีฐานะ และอาคารตึกแถวริมถนนสายสำคัญในอดีต
ตำแหน่งของอาคารที่นิยมประดับตกแต่งด้วยลายฉลุไม้แบบขนมปังขิง เช่น บริเวณหน้าจั่วและมุข เชิงชาย คอสอง ฝาผนัง หน้าต่าง ประตู ประตูเตี้ย ลูกกรง ระเบียง ช่องระบายอากาศ ค้ำยันชายคา เป็นต้น ด้วยเป็นลายที่ฉลุทะลุปรุโปร่ง จึงเป็นจุดเด่น สามารถมองเห็นลวดลายได้ชัดเจนจากระยะไกล ทำให้สถาปัตยกรรมที่ตกแต่งด้วยลายขนมปังขิงมีความอ่อนหวาน นุ่มนวล สวยงาม ชวนมอง เปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายสตรีที่ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ที่เป็นที่นิยมกันมากในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร
ลักษณะของลวดลายแบบขนมปังขิง
ลักษณะของลวดลายแบบขนมปังขิงมีหลายรูปแบบ เช่น เป็นลวดลายที่มีลักษณะเป็นแนวตั้ง ลายในแนวนอน ลายในกรอบวงโค้ง และอาจมีลายในรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมที่นำมาติดตั้งเป็นค้ำยันชายคา การเกิดลวดลายมีทั้งลักษณะของลวดลายที่เกิดจากพื้นไม้ ซึ่งนิยมออกแบบลวดลายในแนวนอน เส้นสายของลวดลายมักจะสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกันไป ขณะเดียวกันลวดลายที่เกิดจากพื้นไม้ก็สามารถทำในแนวตั้ง และในรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นกัน
อีกลักษณะคือลวดลายที่เกิดจากช่องว่าง หรือช่องฉลุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลายในแนวตั้งของแผ่นไม้ ซึ่งการฉลุนี้มีการฉลุเป็นช่องปิดในรูปแบบต่างๆ และการฉลุเป็นช่องเปิดที่ต้องนำไม้แผ่นอื่นที่มีลวดลายและแบบเปิดที่สัมพันธ์นำมาประกอบเข้าด้วยกัน จึงจะได้รูปแบบลวดลายที่สมบูรณ์และต่อเนื่องกันไป ซึ่งลวดลายแบบขนมปังขิงในลักษณะเช่นนี้ มีทั้งแบบอย่างที่เป็นไม้ 1 แผ่น ช่องฉลุซ้าย – ขวาเหมือนกัน นำมาเรียงต่อกันไป หรือแบบที่ซ้ายขวาสลับข้างกัน และนำมาเรียงสลับกัน (กล่าวคือมี 2 แบบลาย) และอีกลักษณะหนึ่ง คือ แบบลายในช่องปิด เป็นลวดลายจบในแผ่น แต่นำมาเรียงต่อกัน
รูปแบบของลวดลายขนมปังขิง
1. ลายแนวนอน นิยมทำลวดลายเป็นรูปแบบลายก้านขด เครือเถาพันธุ์พฤกษา แตกลายออกเป็นกิ่งก้านช่อดอก ช่อใบรูปแบบต่างๆ เช่น ใบไม้แหลม ใบไม้หยัก ใบไม้กลีบกลม ดอกไม้กลีบแหลม ฯลฯ นอกจากนี้ยังปรากฏรูปสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวแทรกอยู่ในลวดลาย เช่น รูปแบบตัวอักษร ตัวเลข รูปธงชาติ รูปพานรัฐธรรมนูญ เป็นต้น2. ลายแนวตั้ง รูปแบบของลวดลายเกิดขึ้นจากการเจาะฉลุแผ่นไม้เป็นแบบช่องปิดและช่องเปิด นิยมเจาะช่องฉลุเป็นลวดลายต่างๆ เช่น รูปลูกน้ำ รูปหยดน้ำ ใบไม้ลักษณะต่างๆ ดอกไม้สามกลีบ ดอกไม้สี่กลีบ ดอกหงอนไก่ ดอกจิก รูปหัวใจ รูปเรขาคณิต รูปดอกทิวลิป เป็นต้น
อาคารที่ตกแต่งด้วยลวดลายขนมปังขิงในจังหวัดจันทบุรี
ภรดี พันธุภากร และเสกสรรค์ ตันยาภิรมย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ศึกษารวบรวมลวดลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง สกุลช่างจันทบุรี โดยทำการสำรวจอาคารสถาปัตยกรรมที่มีการตกแต่งด้วยลวดลายแบบขนมปังขิงในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 62 หลัง พบว่ามีลวดลายไม้ฉลุ จำนวน 125 แบบลาย และปรากฏอาคารส่วนใหญ่อยู่ในย่านท่าหลวง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าเก่า และศูนย์กลางในเขตอำเภอเมือง พื้นที่ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอท่าใหม่ และอำเภอขลุง
กลุ่มรูปแบบอาคารมีทั้งสถานที่ราชการ เรือนเดี่ยวพักอาศัย เรือนแถวร้านค้า และกุฏิของพระภิกษุสงฆ์ อาคารดังกล่าวได้รับอิทธิพลตะวันตกที่แพร่เข้ามาในจันทบุรีระยะเวลาเดียวกับที่แพร่หลายในพระนคร โดยส่วนใหญ่ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับช่าง ทราบเพียงส่วนใหญ่เป็นช่างในท้องถิ่น ช่างจีน และช่างญวณ และบางส่วนเป็นการสั่งซื้อไม้ฉลุลายจากพระนคร
นอกจากข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น เรื่องราวของลวดลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง ยังมีรายละเอียดอีกหลากหลายมิติที่น่าสนใจ ผู้อ่านสามารถค้นคว้าและอ่านเพิ่มเติมได้ที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี หรืออ่านในระบบออนไลน์โดยการสแกน QR Code
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลเอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2560.
ภรดี พันธุภากร และเสกสรรค์ ตันยาภิรมย์. การศึกษารวบรวมลวดลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิงสกุลช่างจันทบุรี. ชลบุรี: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2547.
ภูชัย กวมทรัพย์. ลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง: สุนทรียภาพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2560.
(จำนวนผู้เข้าชม 9 ครั้ง)