องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่าน หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี เรื่อง เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธี หมายถึง เรือที่เกี่ยวข้องกับงานพิธีกรรมของราชสำนัก เป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยใช้สำหรับการเสด็จ ฯ ทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การพระราชสงคราม การเสด็จพระราชดำเนิน และการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในสมัยโบราณ เรื่องราวเกี่ยวกับเรือพระราชพิธีนี้มีปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น ได้แก่ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ กฎหมายตราสามดวง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา บันทึกของชาวตะวันตก และคำให้การชาวกรุงเก่า อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เรือพระราชพิธีนี้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และมีพัฒนาการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งรูปแบบของเรือ การใช้งาน และการจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
เรือพระราชพิธี มักใช้ในการประกอบการพระราชดำเนิน และประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองมาประดิษฐานในเมืองหลวง การอัญเชิญพระบรมศพหรือพระอังคาร ตลอดจนการต้อนรับทูตจากต่างประเทศ เป็นต้น โดยจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นริ้วกระบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค กล่าวได้ว่ามีวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือ โดยกองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม และมีการประโคมดนตรีไปในกระบวน การจัดริ้วกระบวนแบ่งออกเป็น ๒ สาย เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราใหม่ ซึ่งจัดเป็น ๔ สาย และกระบวนพยุหยาตราน้อย จัดเป็น
๒ สาย ต่างกันโดยทราบได้จากจำนวนเรือในริ้วกระบวนว่ามีมากน้อยเท่าใดนั่นเอง
ลักษณะและชื่อเรือพระราชพิธีที่ใช้ประกอบกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สามารถแบ่งออกตามลักษณะหน้าที่และการใช้งาน ดังนี้
๑. เรือพระที่นั่ง เป็นเรือที่สำคัญที่สุดในกระบวน เนื่องจากเป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ทรงประทับ มีชื่อเรียกต่างกันออกไป ได้แก่ เรือต้น เรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งเอกชัย เรือพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งกราบ เรือพลับพลา และเรือพระประเทียบ
๒. เรือเหล่าแสนยากร เป็นเรือประกอบกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่นอกเหนือจากเรือพระที่นั่ง ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่างกันออกไป ได้แก่
- เรือดั้ง ทำหน้าที่ป้องกันหน้ากระบวนเรือ ใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก
- เรือพิฆาต เป็นเรือรบไทยโบราณ มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ในเรือนำเหล่านี้ใช้ขุนศาลเป็นนายเรือ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เรือขุนศาล” เหตุที่เรียกว่าเรือพิฆาตเพราะในเวลารบจริง ต้องออกจากกระบวนไปลาดตระเวนหาข่าวข้าศึก มักมีชื่อเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น มังกร เหรา สิงโต กิเลน เสือ เป็นต้น
- เรือคู่ชัก เป็นเรือไชยรูปสัตว์ ทำหน้าที่ชักลากเรือพระที่นั่งในกรณีที่มีฝีพายไม่พอ
- เรือโขมดยา เป็นเรือไชยที่หัวเขียนด้วยลายน้ำยา หัวท้ายงอนคล้ายเรือกัญญา
- เรือแซง ใช้เรือกราบกัญญา เป็นเรือทหาร เรือแซงจะขนาบทั้งสองข้างของเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ในริ้วนอกสุดของกระบวน
- เรือตำรวจ เป็นเรือที่พระตำรวจลงประจำ มีหน้าที่เป็นองครักษ์ ซึ่งเป็นข้าราชการในพระราชสำนัก
- เรือศีรษะสัตว์ หรือเรือรูปสัตว์ เป็นได้ทั้งเรือพิฆาตและเรือพระที่นั่ง แต่ถ้าเป็นเรือพิฆาต จะต้องเป็นศีรษะสัตว์ชั้นรอง ส่วนเรือพระที่นั่ง หัวเรือจะเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร
- เรือกลอง เป็นเรือสัญญาณเพื่อให้เรืออื่นในกระบวนหยุดพายหรือจ้ำ โดยใช้กลองเป็นสัญญาณ
- เรือประตู เป็นเรือคั่นระหว่างกระบวนย่อย
- เรือกัน เป็นเรือที่ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูมิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง
- เรือริ้ว เป็นเรือที่เข้ากระบวนยาวเป็นสายเรียงขนานกัน มีธงประจำเรือ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ศิลปกรรมทางสายน้ำที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่มีความงดงามทางด้านศิลปกรรม และแสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณ ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งยังมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ชาติไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความสำคัญดังกล่าว องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร (World Ship Trust) ได้ยกย่องให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ และมอบเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรือ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์กรเรือโลกให้กับประเทศไทย
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖ ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ หัวเรือพระที่นั่งมีโขนเรือรูปหัวหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียกว่า ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว ๔๖.๑๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ ๙๔ เซนติเมตร กินน้ำลึก ๔๑ เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วยฝีพาย ๕๐ คน นายเรือ ๒ คน นายท้าย ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนถือฉัตร ๗ คน และคนขานยาว ๑ คน
เรื่องราวของเรือพระราชพิธียังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจและชวนให้ศึกษา นับเป็นหนึ่งในงานศิลปกรรมของไทยที่มีคุณค่ายิ่ง อีกทั้งยังมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน หากผู้อ่านสนใจสามารถค้นคว้าและอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรือพระราชพิธีและหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี กรมศิลปากร
แหล่งข้อมูลเอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. เรือพระราชพิธี. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
นงค์นุช ไพรพิบูลยกิจ. เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย, ๒๕๔๒.
เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, ๒๕๔๘.
ศานติ ภักดีคำ. พระเสด็จโดยแดนชล: เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 67 ครั้ง)