จันทบุรี ขอนำเสนอหนังสืออนุสรณ์งานศพ เรื่อง สุภาษิตสอนสตรีของสุนทรภู่
#นานาสาระจากหนังสืออนุสรณ์งานศพ นำเสนอสาระความรู้ และแนะนำเรื่องที่น่าสนใจจากหนังสืออนุสรณ์งานศพ พร้อมประวัติของผู้วายชนม์โดยสังเขป
วันนี้ #หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ขอนำเสนอหนังสืออนุสรณ์งานศพ เรื่อง #สุภาษิตสอนสตรีของสุนทรภู่ หนังสือจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางวุทธพิทักษ์ (แฃ วาสนะโชติ) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2506
นางวุทธพิทักษ์ (แฃ) วาสนะโชติ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421 ณ ตำบลวัดเกาะ อำเภอสัมพันธวงศ์ พระนคร เป็นบุตรีคนที่ 4 ของหลวงทองสื่อ (วัน) ดารานนท์ กรมท่าซ้าย และคุณนายชุ่ม เมื่อ พ.ศ. 2449 ได้สมรสกับร้อยเอกหลวงวุทธพิทักษ์ (วาศ) วาสนะโชติ ซึ่งรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 5 มีบุตรชาย 1 คน คือ นายสวัสดิ์ วาสนะโชติ ด้านอุปนิสัยใจคอเป็นผู้ใจบุญสุนทาน ประกอบกิจการกุศลอยู่เสมอ นางวุทธพิทักษ์เริ่มป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ 85 ปี
#สุภาษิตสอนสตรีของสุนทรภู่ นี้ เดิมเรียกกันว่า #สุภาษิตสอนหญิง หรือ #สุภาษิตไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “สุนทรภู่เห็นจะแต่งเมื่อราวระหว่างปี พ.ศ. 2380 จน พ.ศ. 2383 ในเวลาเมื่อกลับสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วต้องตกยากจนถึงลอยเรืออยู่ พิเคราะห์ตามสำนวนดูเหมือนหนังสือเรื่องนี้สุนทรภู่จะแต่งขาย เป็นสุภาษิตสอนสตรีสามัญทั่วไป ความไม่บ่งว่าแต่งให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต้นฉบับเดิมที่หอพระสมุดฯ ได้มาเรียกว่าสุภาษิตไทย เป็นคำสมมติของผู้อื่น ดูเหมือนผู้สมมติจะไม่รู้ว่าเป็นกลอนของสุนทรภู่ด้วยซ้ำไป ถ้อยคำก็วิปลาสคลาดเคลื่อน ต้องซ่อมแซมในหอพระสมุดฯ หลายแห่ง แต่แต่งดีน่าอ่านไม่แพ้เรื่องอื่นเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนักวิชาการบางกลุ่มได้ศึกษาและมีความเห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นผลงานของสุนทรภู่ แต่น่าจะเป็นของนายภู่ จุลละภมร ซึ่งเป็นกวีในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อเสียงในการแต่งนิทานชาดกคำกลอนเรื่องนกกระจาบ จึงเรียกกันทั่วไปว่า นายภู่นกกระจาบ
สุภาษิตสอนสตรีมีฉันทลักษณ์ในรูปแบบกลอนแปดสุภาพ มีจำนวน 201 บท เนื้อหาและใจความสำคัญว่าด้วยเรื่องการสอนสตรีให้ประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมอันดีของสังคมไทยดั้งเดิมในด้านต่าง ๆ เป็นคำสอนที่ใช้ได้กับสตรีทุกชนชั้น มีทั้งข้อห้าม ข้อที่ควรปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของการวางตัว กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย การเลือกคู่ครอง การปรนนิบัติ ความซื่อสัตย์ต่อสามี การดูแลบ้านเรือน ความมัธยัสถ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกล่าวถึงลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของสตรีแบบต่าง ๆ เช่น การละทิ้งพ่อแม่ ติดการพนัน สูบฝิ่นกินเหล้า หญิงสองใจ เป็นต้น สตรีเหล่านี้ชีวิตมีแต่จะประสบความหายนะ ซึ่งคำสอนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติได้เป็นอย่างดีสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน ดังตัวอย่าง เรื่องของความประหยัดมัธยัสถ์ ความว่า
“มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน”
หรือ การกล่าวถึงความสำคัญของคำพูด ความว่า
“เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้พูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก https://www.finearts.go.th/chantaburilibrary/view/50216
หรือสแกนอ่านจาก QR Code เพื่ออ่านในรูปแบบ E-Book
บรรณานุกรม
ประชุมสุภาษิตสอนหญิง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2567, จาก: https://vajirayana.org/ประชุมสุภาษิตสอนหญิง/สุภาษิตสอนสตรี/บทนำเรื่อง.
สุนทรโวหาร (ภู่), พระ. สุภาษิตสอนสตรีของสุนทรภู่. พระนคร: แสงทองการพิมพ์, 2506.
(จำนวนผู้เข้าชม 144 ครั้ง)