...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันเด็กแห่งชาติ
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันเด็กแห่งชาติ”
จากคำกล่าวที่ว่า อนาคตของประเทศชาติ จะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับ คุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ การพิทักษ์รักษาคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ เพราะถือว่า เด็กคิอมนุษย์ที่ยังอ่อนอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เด็ก" ไว้ คือ "เด็ก" หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก อ่อนวัน เช่น เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และ เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี บริบูรณ์
วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มกราคม 2567 มีการให้ คำขวัญวันเด็กทุกปี โดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ในปี 2567 นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบคำขวัญวันเด็กปีไว้ว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้สะดวกสบายขึ้น และมีความเหมาะสมมากกว่า
จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ.2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว
งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
สำหรับปี 2567 หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ ชมรม สโมสร ธนาคาร และห้างร้านต่างๆ บริจาคเงินและสิ่งของต่างๆในการจัดงาน เด็กๆที่มาร่วมงานจะได้รับแจกของขวัญ ของรางวัล อย่างมากมาย จึงขอเชิญเด็กๆและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ ที่หอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 08.00 - 12.00 น.
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 165 ครั้ง)


Messenger