เครื่องประดับแห่งปัญญา : แหวนกลเมืองจันท์
จันทบุรีมีชื่อเสียงในการผลิตเครื่องประดับอัญมณีที่งดงามหลากหลายรูปแบบ มีเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจันทบุรีที่ต้องอาศัยทักษะชั้นสูงซึ่งสืบทอดมาจากครูช่างโบราณ นั่นก็คือ “แหวนกล” บ้างเรียก แหวนปู แหวนปลา เนื่องจากตัวเรือนมักทำเป็นรูปปูทะเล รูปปลา หรือปีนักษัตรต่าง ๆ โดยออกแบบรวมวงแหวนจำนวน 4, 8 หรือ 12 ก้าน ให้เกาะเกี่ยวเป็นแหวนหนึ่งวง มีท้องวงเป็นวงเรียงกัน และเมื่อถอดก้านออกวงจะคล้องกันอยู่ไม่แยกจากกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันอย่างถูกวิธี แหวนก็จะมีก้านเรียงชิดกันเช่นเดิม นับเป็นเครื่องประดับที่ซ่อนปริศนากลไกไว้บนนิ้วของผู้สวมใส่ นอกจากจะมีความสวยงามแปลกตาแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นเครื่องประดับแห่งปัญญา ด้วยเพราะความพิเศษของกลไกอันซับซ้อนในการประกอบนั่นเอง
ความเป็นมาของแหวนกลนั้นกล่าวกันว่ามีที่มาจากแถบตะวันออกกลาง บางคนเรียกแหวนกลนี้ว่า Puzzle Ring หรือ Turkish Wedding Ring โดยแหวนกลของจันทบุรีนี้มีจุดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น ๆ คือ ตัวเรือนจะทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ผู้ที่คิดประดิษฐ์เป็นคนแรก คือ นายหยี เจียระไน ชาวบ้านบางกะจะ เดิมเคยเป็นช่างทองที่กรุงเทพฯ และได้เห็นแหวนกลของฝรั่งที่ทำเป็นห่วงวงคล้องไขว้กันไปมา แม้จะแยกออกได้ก็ยังติดกันเป็นพวง และสามารถประกอบเข้าใหม่ได้ จึงได้นำมาคิดประดิษฐ์เป็นแหวนปูเมื่อกลับมาอยู่ที่จันทบุรี ต่อมามีผู้สืบทอดวิชานี้ คือ นายสายัณห์ ภูมิภักดิ์ ซึ่งเรียนวิชาช่างทองจากปู่ชื่อ นายพิณ ภูมิภักดิ์ ได้คิดประดิษฐ์แหวนกลในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น การทำแหวนปลาชนิดต่าง ๆ การนำอัญมณีมาประดับเพื่อเพิ่มความสวยงาม และการทำกลไกให้บางชิ้นส่วนของแหวนสามารถกระดุกกระดิกได้
ต่อมาได้มีการสร้างสรรค์และพัฒนาแหวนกลแบบใหม่ที่ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น โดยช่างหรีด ชูเกียรติ เนียมทองผู้ได้รับรางวัลทายาทศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน-เครื่องทอง (แหวนกล) ประจำปี 2561 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ช่างหรีดได้สืบทอดการทำแหวนกลจากนายสายัณห์ ภูมิภักดิ์ ได้ทำแหวนกลที่เป็นลายชื่อหรือนามสกุลของผู้สวมใส่ แหวนกลนี้แต่ละวงจะบรรจุตัวอักษรต่าง ๆ ของชื่อ เมื่อทำการพลิกหมุนประกบและประกอบกลับมาเป็นแหวนเต็มวง จะได้เห็นชื่อหรือนามสกุลปรากฏอยู่บนแหวน สามารถทำได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
แหวนกลเมืองจันท์ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงดงามของหัตถศิลป์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันเครื่องประดับแห่งปัญญานี้ กำลังมีแนวโน้มใกล้สูญหาย เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ซึ่งช่างหรีด หรือ นายชูเกียรติ เนียมทอง ได้มีความพยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้โดยการเปิดบ้านแหวนกลให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่ศึกษาด้านอัญมณี หรือผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาวิจัย เพื่อให้ภูมิปัญญาการทำแหวนกลนี้ยังคงสืบทอดอยู่คู่กับเมืองจันท์และไม่สูญหายไปจากประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข. แหวนของเราแต่เพียงผู้เดียว [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2566, จาก: https://readthecloud.co/master-9/
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
แหวนกล เครื่องประดับแห่งปัญญา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2566, จาก: https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_876705#google_vignette
Kanokorn Na Ranong. ทายาทรุ่น 3 แห่งบ้านแหวนกล เมืองจันท์ ผู้ผลิตแหวนกลไก เครื่องประดับแห่งภูมิปัญญาโบราณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2566,
จาก: https://www.bltbangkok.com/people/28562/
จาก: https://www.bltbangkok.com/people/28562/
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก “เพจบ้านแหวนกล เมืองจันท์” https://www.facebook.com/9me99 และ “The Cloud” https://readthecloud.co/master-9/
เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 350 ครั้ง)