...

“ลูกกะทิ” หนึ่งใน 77 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นไทย

ลูกกะทิ หรือน้ำพริกกะทิชอง เป็นเมนูประจำครัวเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง ชนพื้นเมืองจังหวัดจันทบุรี พบได้มากในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ แต่เดิมชาวชองอาศัยอยู่ในป่า ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ ประกอบอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ โดยจะต้องเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ครั้งละหลายวัน จึงเกิดเมนูลูกกะทินี้ขึ้น ซึ่งเป็นเมนูหลักที่ชาวชองใช้เป็นเสบียงระหว่างเข้าป่า ด้วยวัตถุดิบหลักที่หาได้ง่าย ไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ และใช้ภูมิปัญญาในการเคี่ยวกะทิจนแตกมัน ทำให้น้ำพริกสามารถเก็บไว้ได้นาน และไม่เสียรสชาติ สามารถรับประทานร่วมกับผักที่หาได้ทั่วไปในป่า

ส่วนผสมของลูกกะทิ ประกอบด้วย กะทิ พริกขี้หนูสด กระเทียม หัวหอม ใบมะกรูด กะปิ และเกลือ ต่อมาได้มีการพัฒนาสูตรโดยผสมเนื้อสัตว์ลงไปด้วย เช่น ปลาดุก กุ้งสับ หรือหมูสับ มีรสเค็ม เผ็ดนำ และได้ความมันจากกะทิ นิยมรับประทานกับผักต่าง ๆ เช่น แตงกวา ผักกาด ใบบัวบก ขมิ้นขาว มะเขือ และกล้วยน้ำว้าห่ามต้มพร้อมเปลือก นับว่าเป็นอาหารสุขภาพเมนูหนึ่ง

ปัจจุบันชาวจันท์ส่วนมากอาจจะไม่คุ้นเคยกับเมนูนี้ เนื่องจากหาคนทำได้ยาก และเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา ทั้งนี้เมนู “ลูกกะทิ” ได้รับการคัดเลือกจากกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย Thailand Best Local Food “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2566 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเมนูอาหารถิ่นทั้งคาวและหวานที่กำลังจะเลือนหาย และหาได้ยาก นำมาสู่การยกระดับพัฒนาสร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด เพื่อการอนุรักษ์เผยแพร่องค์ความรู้ และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารถิ่นของไทย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

“1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ปี 2566 หลายเมนูชื่อแปลก ต้องลองสักครั้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2566, จาก: https://www.thaipbs.or.th/news/content/331241

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี. น้ำพริกกะทิชอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2566, จาก: http://www.m-culture.in.th/album/197746/น้ำพริกกะทิชอง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี. อาหารพื้นถิ่นจันทบูร. จันทบุรี: สำนักงานวัฒนธรรมจันทบุรี, 2564.

สำนักงานสาธารณสุขจันทบุรี. อาหารเป็นยา วิถีคนจันท์. จันทบุรี: สำนักงานสาธารณสุขจันทบุรี, 2565.

 

ผู้เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ

หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1098 ครั้ง)


Messenger