...

วันรพี ตรงกับวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี
วันรพี ตรงกับวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์และทรงวางระบบแบบแผนศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงเข้าศึกษา ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วเสด็จไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว ทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 14 ชันษา ได้ศึกษาต่อ จนจบหลักสูตรปริญญาตรีด้านกฎหมาย ชั้นเกียรตินิยม โดยใช้เวลาศึกษาเพียงแค่ 3 ปี ด้วยพระชันษาเพียง 20 พรรษา
เมื่อปี พ.ศ. 2439 ทรงเข้ารับราชการในกรมเลขานุการ ทรงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เป็นอย่างยิ่ง พระภารกิจของพระองคืนับได้ว่าเป็นภาระที่หนักยิ่ง ทรงเสียสละทุกอย่าง คิดถึงแต่งานเป็นใหญ่ ทรงยึดหลักที่ว่า “คนทุกคนต้องเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะทำอะไรต้องคิดถึง คนอื่น” ทรงยึดหลักความยุติธรรม และหลักที่ว่า “My life is service” คือ ชีวิตของข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อรับใช้ประเทศชาติ
ปี พ.ศ. 2462 ทรงประชวรด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ (ไต) ไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พระอาการ ก็ไม่ทุเลา และพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 รวมพระชนมายุได้ 47 พรรษา
ในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี วงการนักกฎหมายได้ถือเอาวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์ เป็นวันรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่มีต่อวงการกฎหมายไทย โดยใช้ชื่อว่า “วันรพี” ขนานนามพระองค์ว่า “พระบิดาและปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย” โดยจะมีการจัดกิจกรรมวันรพี วางพวงมาลาถวายราชสักการะเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่อนุสาวรีย์พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลที่เป็นสถานที่ราชการทั่วประเทศ และคณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยมีการจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507

(จำนวนผู้เข้าชม 3526 ครั้ง)


Messenger