...

“วันพืชมงคล และวันเกษตรกร”
“วันพืชมงคล และวันเกษตรกร”
วันสำคัญของเกษตรกรวันหนึ่ง คือวันพืชมงคล เพราะจะมีการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนาขวัญ และพระโคกินเลี้ยง เสี่ยงทายว่าในปีนั้นๆพืชผลจะอุดมสมบูรณ์ไหม น้ำจะเพียงพอไหม เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร
วันพืชมงคล เป็นวันที่กำหนดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ พระราชพิธีพืชมงคลนั้นประกอบ พระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง
พระราชพิธีนี้มีมาแต่โบราณครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สืบต่อมาสมัยอยุธยา จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1-3 มีแต่พิธีพราหมณ์ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เริ่มประกอบพิธีสงฆ์ ซึ่งถือว่าพระราชพิธีพืชมงคลมีขึ้นตั้งแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกันกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
พระราชพิธีนี้เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมาคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้วันพืชมงคลเป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีอีกด้วย เพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร
ในปี พ.ศ. 2566 นี้ วันพืชมงคล ตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 6 มีการจัด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พิธีมณฑลท้องสนามหลวง โดยกำหนดให้วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 เป็นวันสวดมนต์การพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา
ส่วนพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น ในปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11 ปี
พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่มและพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำหรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว เป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวง สีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า
สำหรับการเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ซึ่งแต่ละปีนั้น ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก พระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ 6 คืบ 5 คืบ และ 4 คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดนั้นจะมีคำทำนาย ไปตามนั้น คือ
ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่
และอีกหนึ่งพิธีเสี่ยงทาย ที่ต้องลุ้นกันทุกปี คือ การเสี่ยงของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้
ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
และถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 573 ครั้ง)


Messenger