...

เรื่อง “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 17 มกราคม”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 17 มกราคม”
วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตรงกับวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี โดยวันนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือนธันวาคม 2531 สำนักสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนดให้วันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่เลือกวันนี้ เพราะป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในปี 2526
ต่อมา คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ใหม่ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็ได้เสนอว่า วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ควรเป็นวันที่ 17 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อปี 2376 และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วย จึงกำหนดให้วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็น "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จไปกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นบิดา สู้รบกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (เมืองสอด จังหวัดตาก) ที่ยกทัพมาตีเมืองตากในความปกครองจนได้รับชัยชนะ ทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานนามให้ว่า “รามคำแหง” ที่มีความหมายว่า รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ก่อนที่พระองค์จะได้ขึ้นเสวยราชย์ ราวปี 1822 ต่อจากพ่อขุนบาลเมือง พระเชษฐาธิราช
ทรงปกครองบ้านเมืองแบบ”พ่อปกครองลูก” ทรงแขวนกระดิ่งไว้หน้าประตูพระราชวัง ใครมีเรื่องร้องทุกข์ก็มาสั่นกระดิ่ง และทรงโปรดให้เข้าเฝ้าเพื่อทูลร้องทุกข์ได้รวดเร็ว โปรดให้สร้างพระแท่นขึ้นด้วยหิน เรียกว่า พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ ที่กลางดงตาล ทุกวันโกนวันพระทรงนิมนต์พระมาเทศน์ที่พระแท่นโปรดประชาชน ส่วนวันธรรมดาพระองค์ทรงใช้เป็นที่ปฏิบัติภารกิจเสมอมา
มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางการเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล ทรงเจริฐสัมพันธ์ไมตรีกับมหาอำนาจอย่าง”จีน” แล้วยังโปรดให้นำช่างปั้นถ้วยชามจากนมาสอนคนไทย ผลิตเป็น อุตสาหกรรมส่งออกไปยังประเทศจีน มลายู และอินเดีย ถ้วยชามที่ผลิตขึ้นนี้เรียกว่า "ชามสังคโลก”
ข้อความในศิลาจารึกแสดงให้เห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ คือ ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือภาษีผ่านทาง ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และหากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็ไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกา พระองค์ก็ทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง
ด้านศาสนา พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่านเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย แทนลัทธิมหายาน ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคง ในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแพร่ไปยังหัวเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้
พระองค์ยังโปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า ”สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่า "เขื่อนนพพระร่วง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยามที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ
ในปี พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้คิดประดิษอักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เรียกว่า "ลายสือไทย” และให้ช่างสลักอักษรไว้ในศิลาจารึก ณ กรุงสุโขทัย ซึ่งศิลาจารึกได้ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และตัวหนังสือไทยทุกตัวในศิลาจารึกได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่าไทยได้เริ่มเป็นปึกแผ่น นับตั้งแต่รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมา ทรงเสวยราชย์นาน 40 ปี พระชนมายุ 60 พรรษา เสด็จสวรรคตประมาณปี พ.ศ. 1842
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 5136 ครั้ง)


Messenger