...

เรื่อง “วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม”
เรื่อง “วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม”
วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันพ่อแห่งชาติ" เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติว่า
“ทุกบุปผามาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทบพิตรเป็นนิจสิน
พระคือบิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช “วันพ่อแห่งชาติ” คือองค์อดิศร
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน”
วันพ่อแห่งชาติยังเป็นวันที่ได้รับการยกย่องบทบาทของพ่อที่มีความสำคัญต่อสถาบันครอบครัวด้วย
ประเทศไทยจัดงานวันพ่อแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้คิดริเริ่ม กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
หลังจากนั้นเป็นต้นมาเป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีคือ "วันพ่อแห่งชาติ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงเป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคมไทย โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดวันพ่อแห่งชาติให้เป็นวันหยุดราชการประจำปีในประเทศไทย
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้มีการประกาศจากรัฐบาลของประเทศไทยว่า "วันพ่อแห่งชาติ" ของประเทศไทย จะยังคงไว้ ให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีต่อไปตามเดิม
ดอกพุทธรักษา ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจากดอกพุทธรักษามีสีเหลืองตรงกับสีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 (วันจันทร์) นอกจากนี้ชาวพุทธยังมีความเชื่อว่าดอกพุทธรักษาคือดอกไม้มงคล หมายถึงพระพุทธเจ้าปกป้องรักษา สอดคล้องกับชื่อของดอกไม้นั่นเอง
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 33013 ครั้ง)


Messenger