...

เรื่อง “วันศิลป พีระศรี 15 กันยายน” part1
เรื่อง “วันศิลป พีระศรี 15 กันยายน”
วันศิลป พีระศรี ตรงกับวันที่ 15 กันยายน เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ได้ชื่อว่า“บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย” ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรจี Corrado Feroci เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรนายอาทูโด และนางซานตินา สมรสกับนางฟานนี มีบุตร 2 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน
การศึกษา ปี พ.ศ. 2441 เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา จนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2451 หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตร ช่างปั้น ช่างเขียน ในปี พ.ศ. 2458 ท่านยังเป็นผู้มีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง ปี พ.ศ. 2469 เป็นอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรแห่งราชบัณฑิตยสภา และได้มาเป็นหัวหน้ากองโรงเรียนศิลปากร แผนกช่างกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2476 ต่อมาโรงเรียนศิลปากรได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านจึงได้เป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมเมื่อปี พ.ศ.2486 และเป็นอาจารย์ช่างปั้น กองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการในปี พ.ศ. 2495 เป็นข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมสมัยนั้นในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาโอนมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งอันมีเกียรติยิ่ง คือประธานคณะกรรมการ สมาคมศิลปแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ศิลปเป็นครูที่มีความขยันขันแข็งและตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์อย่างจริงจัง เป็นผู้วางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงเรียนศิลปะในยุโรป เป็นผู้ปั้นในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เชิงสะพานพุทธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สุพรรณบุรี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์อื่นๆอีกหลายแห่ง และ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล
ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย” ท่านเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงถือเอาวันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านเป็น “วันศิลป พีระศรี” ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปี เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ
อ้างอิง : บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 3236 ครั้ง)


Messenger