...

เรื่อง “วันมหิดล 24 กันยายน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันมหิดล 24 กันยายน”
วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระ วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงศึกษา วิชาทหารเรือ ที่เยอรมนี แล้วเสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรไม่สามารถรับราชการหนักได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยด้านการแพทย์ จึงทรงอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาสาธารณสุขและวิชาการแพทย์ ณ สหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณ๊ยกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย ได้แก่ ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาล ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนให้นักศึกษาแพทย์และพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ ประทานเงินเพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ สาขาเอเชียบูรพา ในการปรับปรุงและวางมาตรฐานการศึกษา และทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขไทย”
หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน
ในปี พ.ศ. 2493 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น โดยประดิษฐานไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที ด้วย สำนึกในพระเมตตาคุณของพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งพระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐานและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันที 24 เมษายน พ.ศ. 2493
หลังจากนั้น 1 ปี วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2494 นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต และได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน และนับตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน จะเป็นวันมหิดล มีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช มีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปี
อ้างอิง : แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 2703 ครั้ง)


Messenger