เรื่อง “วันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์
เรื่อง “วันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8”
วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่ง ไม่ไปค้างแรมในที่อื่นตลอด 3 เดือนในฤดูฝน ในปี พ.ศ. 2565 วันเข้าพรรษา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับพระสงฆ์ไว้ว่า ในฤดูฝนให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ 3 เดือน เรียกว่า จำพรรษา ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยพุทธกาลตอนต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดให้พระสาวกจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงเดินทางเที่ยวจาริกไปทุกฤดู แม้ในฤดูฝนที่ชาวบ้านทำไร่ทำนากัน จึงเหยียบย่ำข้าวกล้าและสัตว์เล็กๆนานาชนิด เช่น มด ปลวก ชาวบ้านจึงพากันตำหนิติเตียน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสในที่ประชุมสงฆ์ บัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน
การเข้าพรรษา แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ เข้าพรรษาแรกเรียกว่า “ปุริมพรรษา” เริ่มตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงกลางเดือน 11 ถ้าเข้าพรรษาแรกไม่ทันก็เข้าพรรษาหลัง เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงกลางเดือน 12 แต่เข้าพรรษาหลังจะรับกฐินไม่ทันเพราะหมดเวลาทอดกฐิน ปีใดมีเดือน 8 สองหน (ปี 2564) ปีนั้นให้ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง เป็นวันเข้าพรรษาแรก
ช่วงเวลาพรรษา พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น ก่อนวันเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนจะนำเทียนเข้าพรรษาและหลอดไฟฟ้าไปถวายพระ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้แสงสว่างตลอดเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษานิยมไปทำบุญที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนและช้าวของเครื่องใช้ตามแต่จะมีจิตศรัทธาถวาย เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำตาล ไม้ขีด ร่ม พุ่มเทียน ในตอนเช้าของวันเข้าพรรษาก็จะมีการทำบุญตักบาตรทั่วไป
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์ ผศ., อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร #สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1678 ครั้ง)