...

ปราสาทเขาโล้น
องค์ความรู้ สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “ปราสาทเขาโล้น”      

         โดย...  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

          ในเมืองไทยมีปราสาทหินที่เป็นโบราณสถานที่สำคัญมากมายหลายแห่ง ส่วนมากจะมีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะได้รับอารยธรรมในการสร้างจากขอมโบราณ ในภาคตะวันออก ก็มีปราสาทหินอยู่หลายแห่ง ในที่นี้จะขอแนะนำ “ปราสาทเขาโล้น” ในอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นโบราณสถานขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง
          ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว  ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2476  และลงประกาศกำหนดขอบเขต ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 112 วันที่ 16 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2532 หน้า 21 (ฉบับพิเศษ) เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่   3 งาน 25 ตารางวา
          ตัวปราสาทเขาโล้น ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้าไปบูรณะในปี พ.ศ. 2560 ดังภาพประกอบ มีลักษณะเป็นปราสาทอยู่บนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสะแกกรอง ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐฝนผิวเรียบ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 4.6 เมตร มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก  ประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูประดับ หรือประตูหลอก  ผนังองค์ปรางค์ยังอยู่ในสภาพมั่นคง แต่เหนือซุ้มประตูขึ้นไป อิฐก่ออยู่ในสภาพพร้อมที่จะเลื่อนหล่นลงมา
          หน้าประตูทางเข้ามีร่องรอยฐานก่ออิฐคล้ายมีคูหาหรือมุขยื่นออกมา แต่ได้ถูกก่อสร่างทับด้วยพื้นคอนกรีตดัดแปลงเป็นศาลาโถง ทางทิศตะวันนออกมีทางขึ้นเขาลักษณะเป็นบันไดปูด้วยหินทรายขนาดใหญ่  พบบารายขนาดย่อมกว้างประมาณ 60*50 เมตร อยู่เชิงเขาโล้นด้านตะวันออก มีน้ำขังตลอดปี 
          การสำรวจของกรมศิลปากรก่อนเข้าไปบูรณะ ไม่พบทับหลังที่เป็นส่วนสำคัญของตัวปราสาท ข้อมูลที่กรมศิลปากรได้เขียนบันทึกไว้ประมาณ ปี 2502 ได้อธิบายทับหลังเป็นเหมือนรูปเทพเจ้าหรือพระอินทร์ ประทับอยู่เหนือหน้ากลาง เป็นมุขและมีลายดอกไม้ มีภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2510 ในหนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งภาพถ่ายนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการทวงคืนทับหลังชิ้นนี้กลับสู่ประเทศไทย จนมีผู้พบภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียชอง-มูน ลี ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมติดตามทวงคืน 
          เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งคืนทับหลังปราสาทเขาโล้นพร้อมกับทับหลังปราสาทหนองหงส์ให้กับรัฐบาลไทย โดยคืนกลับสู่แผ่นดินไทยในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ซึ่งทางกรมศิลปากรจะได้นำไปเก็บรักษาและติดตั้งให้กับตัวปราสาท เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คู่ควรกับแผ่นดินไทยตลอดไป
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์  รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ    หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี      สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี 
 
อ้างอิง : 
พุทธชาติ หมายมั่น.  ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่มที่ 5 ปราจีนบุรี สระแก้ว.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.                                                     หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะสมัยลพบุรี.  กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2510.

(จำนวนผู้เข้าชม 1510 ครั้ง)


Messenger