ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์เรื่อง ปราสาทหนองหงส์
ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์เรื่อง ปราสาทหนองหงส์
นับเป็นข่าวดีที่เราจะได้คืนโบราณวัตถุ คือทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว กลับสู่ประเทศไทย โดยสำนักสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ไทย ได้จัดพิธีส่งมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้วคืนให้แก่รัฐบาลไทย ที่นครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ และจะถึงประเทศไทยในวันที่ 28 พ.ค.64วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องปราสาทหนองหงส์ เพื่อที่จะได้เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น ดังนี้
ที่ตั้ง : หมู่ 8 บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดน อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ประวัติ : ชื่อของปราสาทได้มาจากชื่อของสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เมตร
ชาวบ้านเรียกว่า สระหนองหงส์ หรือ นางหงส์
องค์ประกอบของโบราณสถาน :
1. ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ขนาด 6.70*18เมตร เฉพาะปรางค์องค์กลาง มีมุขยื่นออกไป มีชานชาลากากบาทรับกับซุ้มประตู (โคปุระ) ทางเข้าด้านตะวันออกซึ่งต่อเป็นกำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบปรางค์เว้นแต่ด้านตะวันตกซึ่งมีซุ้มประตูก่อด้วยอิฐ แนวเดียวกับซุ้มประตูทางเข้าด้านตะวันออก ส่วนที่เป็นเสาประดับกรอบประตู ธรณีประตู ทับหลัง หน้าบัน ทำด้วยหินทราย แกะสลักเป็นลวดลายแสดงเรื่องราวตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู เช่น แต่เดิมบนซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก มีทับหลังสลักเป็นภาพศิวะนาฏราช บนกรอบประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์องค์กลางมีทับหลังแกะสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือเกียรติมุข ปรางค์องค์ทิศเหนือมีทับหลังสลักเป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ อยู่เหนือเกียรติมุข (ปัจจุบันทับหลังเหล่านี้ถูกโจรกรรมไป) ศิลาจารึกซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ด้านหน้าปรางค์องค์กลางหายไปด้วย
2. อาคารศิลาแลง ซึ่งมีอิฐก่อบางส่วนจากรูปแบบอาคารเข้าใจว่าอาจมาสร้างซ่อมแซมหรือต่อเติมสมัยหลัง เนื่องจากเป็นแบบนิยมในสมัยการสร้างพุทธสถานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 ตั้งอยู่ระหว่างปรางค์องค์ทิศใต้กับซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก
3. กำแพงสร้างด้วยศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบปรางค์ไว้ มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งสร้างด้วยอิฐ
อายุสมัย : จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 และได้มีการต่อเติมในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18
ประโยชน์ใช้สอย : เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน :
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 95 วันที่ 8 มีนาคม 2478
การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน :
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่-งาน 63 ตารางวา
ผู้เรียบเรียง : #นางสาวเมษา ครุปิติ
บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
อ้างอิง :
กรมศิลปากร.(2536.) ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม2. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 1727 ครั้ง)