...

จากทองคำสู่ทองคำเปลว

จากทองคำสู่ทองคำเปลว

นายเสกสรรค์ ญาณพิทักษ์ นักวิชาการช่างศิลป์ ปฏิบัติการ: ผู้เรียบเรียง

          ทองคำเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกโลหะที่มีเนื้ออ่อนที่สุด มีความมันวาว มีอุณหภูมิในการหลอม ละลายที่ ๑,๐๖๓ องศาเซลเซียส สามารถยึดและตีให้เป็นแผ่นบาง ๆได้สูงสุดถึง ๐.๐๐๐๑ มิลลิเมตร หรือที่เรียกกันว่า “ทองคำเปลว” จากคุณสมบัติของทองคำที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีเนื้อสีเหลืองสุกปลั่งเป็นประกาย ไม่เป็นสนิม ไม่หมอง ไม่มีคราบไคล จึงดูสะอาดตาและนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมนุษย์รู้จักนำทองคำมาเป็นเครื่องใช้เครื่อง ประดับมากกว่า ๕,๐๐๐ ปี

          ทองคำเป็นแร่ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานกันตามธรรมชาติ ซึ่งทางวิชาการของกรมทรัพยากรธรณีได้แบ่ง แหล่งกำเนิดทองคำ เป็นสองชนิดคือ ทองคำที่เกิดจากแหล่งปฐมภูมิ (Primary deposit) และแหล่งทุติยภูมิ (Secondary deposit) ซึ่งมีใจความพอสรุปได้ดังนี้

 

          ทองคำที่เกิดจากแหล่งปฐมภูมิ เป็นแหล่งแร่อยู่ในสายหรือทางแร่ทองคำ (gold bearing vien) ซึ่งเกิดร่วมกับ หินอัคนี เช่น เกิดร่วมในสายแร่ควอตซ์ปนกับแร่ไพไรต์ แร่คาลโดไพไรต์ แร่กาลีนา

          ทองคำที่เกิดจากแหล่งทุติยภูมิ เป็นแหล่งแร่บนลานแร่ (placer deposit) ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มักปนกับแร่หนัก ชนิดอื่น ๆ ที่ทนกับการสึกกร่อน เช่น แร่แมกนี้ไทต์ แร่อิลเมในต์ แร่การ์เนต

          ทองคำขาว โดยมีชั้นดินหรือกรวดทราย ปิดทับชั้นที่มีแร่ไว้ การเกิดแบบนี้ หินต้นกำเนิดมักอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหรือพื้นที่ลาดชัน เมื่อเกิดการผสลาย ตัวไปตามธรรมชาติ ก็ถูกธารน้ำไหลพัดพาไปจากแหล่งเดิม

          แต่ทองคำและแร่อื่นที่หนักและทนต่อการสึกกร่อนผุพัง มักจะแยกตัวออกจากเศษหินดินทรายอื่น ๆ และสะสมมากขึ้นตรงบริเวณที่เป็นแหล่งลานแร่ซึ่งถ้าเป็น แหล่งแร่ท้องน้ำ (streamdeposit) แร่จะสะสมรวมตัวกันมากขึ้นบริเวณท้องน้ำจนกลายเป็นแหล่งแร่ ส่วนการสะสมของแร่ที่มีอยู่ตาม ไหล่เขา หรือที่ลาดชันใกล้กับหินต้นกำเนิด หรือสายแร่เดิม จะเป็นแหล่งแร่พลัด (eluvial deposit) ซึ่งจะมีตะกอน ของดิน ทราย กรวดมาทับถมกันเป็นชั้นหนา จนเกิดเป็นลานหรือแหล่งแร่ทองคำ

          คุณลักษณะของทองคำและการนำมาใช้ประโยชน์ คุณลักษณะของเนื้อทองคำเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพ ของทอง เป็นคำกล่าวที่พิจารณาเนื้อทอง โดยตั้งพิกัดราคาทองตามคุณลักษณะของเนื้อทองนั้น ๆ มีตั้งแต่เนื้อสี่ถึง เนื้อเก้า ตามประกาศของรัชกาลที่ ๔ เช่น ทองเนื้อหกคือ ทองหนัก ๑ บาท ราคา 5 บาท ทองเนื้อเก้าคือ ทอง หนัก ๑ บาท ราคา ๙ บาท ทองเนื้อเก้าเป็นทองที่มีความบริสุทธิ์มาก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื้อทองจะสุกปลั่ง สีเหลือง อมแดงเป็นทองธรรมชาติ บางครั้งเรียกว่า “ทองชมพูนุท” หรือ “ทองเนื้อแท้” นอกจากนี้ในรัชกาลที่ ๔ ยังกำหนด อัตราแลกเปลี่ยนทอง (เหรียญทองกษาปณ์) ไว้ด้วย คือ

- ทองทศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่ง หรือเท่ากับ ๘ บาท (๑ ชั่ง = ๘๐ บาท)

- ทองพิศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๒๐ ของชั่ง หรือเท่ากับ ๔ บาท

 - ทองพัดดึงส์ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๓๒ ของชั่ง หรือเท่ากับ ๒.๕๐ บาท

นอกจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ทองคำตามมูลค่าที่กำหนดโดยความบริสุทธิ์ของเนื้อทองแล้ว ยังได้ กำหนดคุณสมบัติของเนื้อทอง โดยพิจารณาจากรูปลักษณ์ สี และวิธีที่จะนำทองนั้นมาใช้งาน หรือแปรรูปให้เหมาะ กับงาน ที่นิยมเรียกกันคือ

          ๑.ทองดอกบวบ หรือทองคำที่มีสีดอกบวบ เป็นทองเนื้อหก มีสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกบวบ ซึ่งเรียกกันมา ตามความรู้สึก ของคนโบราณ นิยมนำมาทำเป็นภาชนะต่าง ๆ และพระพุทธรูป

          ๒.ทองนพคุณ เป็นทองคำแท้ ทองคำบริสุทธิ์ หรือทองเนื้อเก้า

          ๓.ทองแล่ง เป็นทองคำที่นำมาแล่งหรือทำเป็นเส้นลวดเล็ก ๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแตกต่างกันหลายขนาด แล้วแต่จะนำไปใช้งานลักษณะใด เช่น สาน ขัด หรือทอเป็นผืนผ้า หรือใช้ตกแต่งเป็นเครื่อง นุ่งห่มประกอบพระราชพิธี หรือใช้จักสานเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ มงกุฏ อาจใช้เป็นส่วนย่อยของเครื่องประดับ ชนิดต่าง ๆ หรือใช้คาดรัดร้อยยอดเจดีย์ที่ห่อหุ้มปลียอดด้วยทองคำ เป็นต้น

         ๔.ทองแป คือ เหรียญทองในสมัยโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าตามมูลค่าได้

         ๕.ทองใบ เป็นทองคำที่ตีแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ขนาดหรือความหนาขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน จากนั้นนำไปตัด เป็นชิ้นๆเพื่อนำไปพับหรือม้วน บางครั้งก็เรียกว่า“ทองม้วน” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่นำไปใช้

          ๖.ทองเค เดิมเป็นชื่อใช้เรียกทองคำเพื่อเป็นเกณฑ์วัดความบริสุทธิ์ โดยทอง ๒๔ กะรัต หรือ ๒๔ เค ถือเป็นทองคำแท้ ส่วนทอง ๑๔ เค หมายถึง ทองที่มีจำนวนเนื้อทองคำ ๔ กะรัต ที่เหลือ ๑๐ กะรัตจะมีเนื้อโลหะ อื่นเจือปน ปัจจุบันคำนี้มักหมายถึง ทองที่มีเนื้อโลหะอื่นเจือปนอยู่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทองนอก”

          ๗.ทองรูปพรรณ คือ ทองคำที่นำมาเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู กำไล และแหวน ทองรูปพรรณนี้ยังใช้เป็นเครื่องสินสอดทองหมั้น เพื่อสู่ขอในพิธีแต่งงานของหญิงชายตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน จนมีคำเรียกกันระหว่างคู่สมรสว่า“เป็นทองแผ่นเดียวกัน”

          ๔.ทองคำเปลว เป็นทองคำที่ตีออกเป็นแผ่นบาง ๆ ชาวไทยรู้จักทองชนิดนี้เป็นอย่างดี ใช้สำหรับปิดองค์ พระพุทธรูป งานหัตถกรรมชั้นสูงอื่น ๆ เช่น ตู้พระธรรม งานไม้แกะสลักลาย มีการลงรักแล้วนำทองไปปิด จนเรียก กันต่อมาว่า“ลงรักปิดทอง” อันหมายถึงกระบวนการปิดทองที่ต้องการให้เนื้อทองติดบนวัตถุตามลวดลายที่ต้องการ

          การทำทองคำเปลวหรือการตีทอง เป็นงานศิลปหัตถกรรมของคนไทยมาแต่โบราณกาล น่าจะมีใช้ในงานศิลปะ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วแพร่หลายในสมัยอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานทั้งจากเอกสารต่าง ๆ และศิลปะโบราณวัตถุที่ยังคง ให้เห็นทุกวันนี้ เมื่อสิ้นสุดยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านที่มีอาชีพตีทองก็ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพนี้ ในบริเวณที่เรียกว่า บ้านช่างทอง ณ บริเวณที่เรียกกันว่า ถนนตีทองถึงสี่แยกคอกวัวในปัจจุบัน

          การทำทองคำเปลวเนื้อทองที่ใช้ต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์ ถ้าทองที่ใช้มีส่วนผสมมาก จะทำให้ตียากและเนื้อทอง ที่ได้สีไม่สวย กรรมวิธีการทำทองคำเปลวนั้นช่างจะนำทองคำแท่งที่มีน้ำหนักตามต้องการ ไปทำการรีดทองให้เป็นแผ่น บาง ๆ เสียก่อน เมื่อรีดเสร็จแล้วนำแผ่นทอง นั้นมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ภาษาช่างเรียกว่า “ การรอนทอง ”

          นำกระดาษที่มีความมันและลื่นคล้ายกับกระดาษแก้วมาลูบด้วยแป้งหิน“กวาดสอ” ซึ่งมีลักษณะคล้าย ดินสอพองเนื้อละเอียด เพื่อไม่ให้ทองติดกระดาษเวลาตี นำกระดาษที่มีความมันและลื่นคล้ายกับกระดาษแก้วมาตัด ขนาด ๔ X ๔ นิ้ว มาทำการ ซัดร้อนกระดาษก่อน โดยนำกระดาษแก้วใส่ซองหนังแล้วตีกระดาษเปล่าประมาณ ๑ ชั่วโมง นำทองที่ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ มาวางบนกระดาษแก้ว หนึ่งชิ้นต่อหนึ่งแผ่น แล้วนำมา วางซ้อนกันประมาณ ๑, ๑๐๐ - ๑,๒๐๐ แผ่น ใส่ในซองหนังวัว “กบ” ซึ่งมีขนาดเท่ากับกระดาษ (๔ X 4นิ้ว) กุบนี้มีลักษณะเหมือนกลักไม้ขีดไฟ รูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นที่บรรจุกระดาษเหมือนลิ้นชัก อีกชิ้นเป็นซองสำหรับสวมเพื่อทำให้กระดาษแก้ว ถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิด เพื่อจะช่วยให้เกิดความร้อนได้มากพอที่จะทำให้ทองขยายตัวได้ขณะตี ใช้เวลาตีประมาณ ๑ ชั่วโมง

 

          การตีทองนั้นต้องมีจังหวะในการตีคล้ายๆ กับการตีเหล็ก โดยวางซองหนัง กุบ วางลงบนแท่นหินแกรนิตหรือ หินอ่อน ผิวหน้าเรียบ ที่ขอบทั้ง ๔ ด้าน จะมีไม้ประกบเป็นกรอบ เพื่อไม่ให้ดิ้น ส่วนบนแท่นหินจะมีไม้อีกชิ้นยึดติดอยู่ นำไม้แหลมเล็กเรียกว่า“ไม้กลัด” สอดยึดซอง ไปยึดติดกับไม้ชิ้นบนและล่าง เพื่อประกบกันให้อยู่ ไม่ให้ซองหนังหรือ กุบเคลื่อนที่เวลาตี โดยส่วนมากแล้วแท่นหินที่รองรับนั้นจะแบ่งออกเป็นสองฝั่งเท่าๆ กัน เพื่อใช้สำหรับตีซองหนังกับ ดังกล่าวแล้ว อีกฝั่งหนึ่งจะทำการตีซองหนังฝักทอง ไปพร้อม ๆ กัน

          ค้อนที่ใช้ในการตีทองนั้นจะทำมาจากทองเหลือง มีสองแบบคือ ค้อนที่ใช้ตีทองจะมีน้ำหนักประมาณ ๔ กิโลกรัม หน้าร้อนจะเล็ก ส่วนต้อนที่ตีฝักทองจะมีส่วนหน้ากว้าง การตีทอง คนตีทองต้องมีความชำนาญและศิลปะในการตี การตีกุบนั้นจะเริ่มตีอย่างเบา ๆ เพื่อให้ทองค่อย ๆ ขยายตัวก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักในการตีให้แรงขึ้น จน ทองแผ่ขยายตัวออกไปจนมีรูปร่างกลมกว้างประมาณ ๒ นิ้วเศษ แล้วจึงนำแผ่นทองที่ได้นั้นมาเปลี่ยนใส่กระดาษที่มีขนาดใหญ่ ขึ้น ประมาณ 5x5 นิ้ว เรียกว่า “ ฝักทอง” แล้วนำไปเรียง ใส่ใน กุบอีกชุดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เท่ากับกระดาษ

          การตีฝักทองนี้จะตีติดต่อกันไปประมาณ ๔ ชั่วโมง ช่างตีทอง จึงต้องมีสมาธิและมีความชำนาญ เมื่อเสร็จแล้วแผ่นทองที่ได้จะมี รูปร่างกลม และขนาดที่ใหญ่ขึ้น ประมาณ ๕-๖ นิ้ว ในการตีทองนั้นกรรมวิธีที่จะทำให้แผ่นทองขยายตัวได้ทั่วทั้งแผ่นนั้น ช่างต้องตีให้ได้ทั้งน้ำหนัก จังหวะจะต้องตีทั้งหนักและเบาไปเรื่อย ๆ ในการตีทองนั้นจะต้องวางน้ำหนักและตำแหน่งลูกค้อนลงไปบนซองหนังหรือกุบ ซึ่งจะขึ้น อยู่กับคนที่แต่ละคน แต่โดยมากมักจะตีวนจากซ้ายไปขวา จากขวาไปซ้าย จากบนลงล่าง และวกขึ้นบน ต้องควบคุมน้ำหนักหน้าค้อนให้กระทบ ซองหนังอย่างเต็มๆ จนกว่าแผ่นทองจะมีความบางได้ที่

          นำแผ่นทองจากการตีทองครั้งที่ ๒ เสร็จแล้วก็จะนำมาเปลี่ยน ถ่ายไปยังฝักทองอีกอันหนึ่ง ด้วยกระดาษข่อย (ปัจจุบันใช้การดาษสา) เรียกว่า“ กระดาษดาม” แล้วจึงนำมาทำการตัดแผ่นทองให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม กรรมวิธีการตัดทองนี้ , การถ่ายทองจากกุบไปยังฝักทอง และถ่ายจากฝักทองลงกระดาษดามขั้นตอนเหล่านี้ต้องทำด้วยความ ระมัดระวังเพราะทองที่ได้นั้นเป็นแผ่นบางและเบา จะต้องทำในที่อับลม

          เวลาตัดทองต้องนำมาวางลงบนวัสดุคล้ายหมอนที่ไม่นิ่ม และแข็งจนเกินไป แล้วใช้คมของไม้รวก หรือไม้ไผ่ หรือไม้เลี้ยะ ตัดทอง โดยให้ทางยาวของคมไม้รวกกดไปบนแผ่นทองไม่แรงนัก แล้วลากลงเล็กน้อยเพียงให้แผ่นทองขาดเท่านั้น เมื่อได้แผ่นทอง คำเปลวแล้วก็ใช้ไม้รวกนั้นแซะแผ่นทองมาวางลงบนกระดาษ ห่อทอง ซึ่งเป็นกระดาษฟางชนิดบาง โดยให้แผ่นทองวางลงบน ด้านที่สากของกระดาษ เพื่อกันไม่ให้แผ่นทองเลื่อยไหล ซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาด ๔ X ๔ เซนติเมตร ส่วนเศษทองที่เหลือจากการตัดจะนำมาหลอมเป็นก้อนแล้วนำไปตีใหม่ แผ่นทองคำเปลว ที่ได้จากการที่นั้นถ้าสังเกตดูดี ๆ จะมีสีที่ต่างกันคือสีของทองออก ทางเหลืองอมเขียว ภาษาช่างตีทองจะเรียกว่า “ทองเขียว” เพราะ เนื้อทองคำที่นำมาตีนั้นมีส่วนผสมมากเป็นทองที่ความบริสุทธิ์ ๙๗ % ส่วนทองคำเปลวเนื้อที่ดีนั้นจะมีสีเหลืองอร่ามอมแดง เพราะ เป็นทองที่มีความบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ % ภาษาช่างตีทองจะเรียกว่า “ทองซัว”

          ทองคำเปลวที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตนี้เราสามารถแบ่ง แยกแผ่นทองคำเปลวออกเป็น ๒ แบบด้วยกันคือ

          - ทองคำเปลวแบบที่เรียกว่า ทองคัด หมายถึง ทองคำ เปลว ที่ตัดออกมาตามขนาดที่กำหนดเป็นทองแผ่นเดียวกันทั้งแผ่น

         -ทองคำเปลวแบบที่เรียกว่า ทองต่อ หมายถึง เศษที่เหลือของทองคำเปลวทั้งสี่ด้านนำมาเรียงต่อกันให้เป็น แผ่นใหม่ แล้วตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมในขนาดที่ต้องการ

         ปัจจุบันนี้ราคาทองคำเปลวมีราคาค่อนข้างแพงขึ้นอยู่กับราคาทองคำในท้องตลาด ซึ่งคาดว่าในอนาคตงาน ประณีตศิลป์ที่ต้องใช้ทองคำเปลวในการสร้างสรรค์งาน อาจจะขาดช่วงหรือสูญหายจากสังคมไทยเนื่องจากตัวช่าง ผู้สร้างสรรค์งานและผู้จ้างทนสู้กับราคาที่แพงขึ้นของทองคำไม่ไหว เหมือนงานช่างอื่น ๆ ที่สูญหายไปจากสังคมนี้

 

 

บรรณานุกรม
ทวีศักดิ์ เกษปทุม. “การผลิตทองรูปพรรณ,” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้, เล่มที่ ๔. กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรม

ไทยสำหรับเยาวชน, ๒๕๕๐. กรมศิลปากร. ภูมิปัญญาไทยในงานศิลป์ : ถิ่นเมืองกรุง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๓ ประภาพร ตราชูชาติ, โครงการสร้างต้นแบบเพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ความรู้ด้านการปิดทองทึบ. นครปฐม : โครงการสร้างต้นแบบ

เพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ประจำปี ๒๕๕๒ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, ๒๕๕๒ ที่มาภาพ : http://www siamwoodcarving .comองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ความรู้ด้านการปิดทองทึบ. นครปฐม : โครงการสร้างต้นแบบ

เพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ประจำปี ๒๕๕๒ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, ๒๕๕๒ ที่มาภาพ : http://www siamwoodcarving .com

(จำนวนผู้เข้าชม 10292 ครั้ง)