ชิ้นส่วนเสาธรรมจักร
เหรียญรูปปูรณฆฏะและศรีวัตสะ สมัยทวารวดี
เหรียญรูปปูรณฆฏะและศรีวัตสะ จัดแสดงอาคารจัดแสดง ๒ ชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
เหรียญเงินกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕ เซนติเมตร มีรูปสัญลักษณ์มงคลทั้ง ๒ ด้าน แต่ละด้านมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านที่ ๑ มีรูปปูรณฆฏะขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ตรงกึ่งกลางเหรียญ โดยมีลักษณะเป็นหม้อทรงกลม ป่องกลาง คอคอด ปากกว้างผายออก มีลายพันธุ์พฤกษาห้อยลงมาทั้งสองข้าง ใต้หม้อมีสิ่งรองรับอาจเป็นใบไม้หรือดอกไม้ ขอบด้านนอกตกแต่งด้วยลายจุดกลมโดยรอบ
ด้านที่ ๒ มีรูปศรีวัตสะ และสัญลักษณ์มงคลอื่นๆ ประกอบ โดยมีศรีวัตสะอยู่ตรงกึ่งกลาง ลักษณะเป็นโครงลายเส้น โดยเส้นฐานล่างเป็นเส้นตรง เส้นด้านข้างทั้งสองด้านเชื่อมกับเส้นฐานล่าง ส่วนด้านบนตรงกึ่งกลางมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านในมีรูปวัชระ ลักษณะเป็นอาวุธมีปลายแฉกทั้ง ๒ ด้าน ส่วนบนด้านขวาเป็นรูปพระอาทิตย์ และด้านซ้ายเป็นรูปพระจันทร์ ถัดลงมาด้านขวามีรูปอังกุศ (ขอสับช้าง) ลักษณะเป็นแท่งยาวมีปลายแหลมยื่นออกมาที่ด้านข้าง ส่วนด้านซ้ายสันนิษฐานว่าเป็นภาพจามร (แส้) ลักษณะเป็นแท่งยาวมีพู่ ใต้ศรีวัตสะมีรูปปลาหันไปทางขวา
ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญเป็นสัญลักษณ์มงคลที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และความอุดมสมบูรณ์ พบเหรียญตราในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี แต่มีรายละเอียดสัญลักษณ์มงคลบางประการแตกต่างกันออกไป ได้แก่ เหรียญรูปสังข์และศรีวัตสะ เหรียญรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ เหรียญรูปภัทรบิฐและศรีวัตสะ เหรียญรูปสัตว์และศรีวัตสะ เป็นต้น
นอกจากเหรียญตราชิ้นนี้แล้ว ยังพบเหรียญรูปปูรณฆฏะและศรีวัตสะที่มีรายละเอียดของลวดลายแตกต่างกันบางประการอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทิน จังหวัดลพบุรี กำหนดอายุเหรียญตราชิ้นนี้ในสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 850 ครั้ง)