กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม จากเจดีย์หมายเลข ๑ (วัดปราสาทร้าง) เมืองโบราณอู่ทอง
กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม จากเจดีย์หมายเลข ๑ (วัดปราสาทร้าง) เมืองโบราณอู่ทอง
กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม พบที่เจดีย์หมายเลข ๑ (วัดปราสาทร้าง) เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
กระเบื้องเชิงชายรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภายในมีรูปเทพนมครึ่งองค์ สวมมงกุฎยอดสูง ประดับกรรเจียกจร ประนมมืออยู่ระดับกลางอุระ รองรับด้วยลายพรรณพฤกษาก้านยาวและซ้อนกันหลายชั้น ลวดลายเหล่านี้อยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยมจำนวน ๓ ชั้น โดยเส้นตรงกลางมีความหนาและหยักเล็กน้อย
กระเบื้องเชิงชายใช้ประดับอยู่บริเวณส่วนปลายหลังคาของอาคารประเภทวิหาร อุโบสถ หรือปราสาท ทำหน้าที่อุดช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้อง ป้องกันไม่ให้นกหรือสัตว์ชนิดอื่นเข้าไปภายใน จึงเรียกอีกอย่างได้ว่ากระเบื้องหน้าอุด ส่วนรูปเทพนมหรือเทวดา ที่ปรากฏบนกระเบื้องเชิงชาย น่าจะหมายถึงผู้ปกปักษ์รักษา การประดับกระเบื้องเชิงชายบนหลังคาอาจจะทำให้ตีความได้ว่า ศาสนสถานนั้นๆ มีความสำคัญ ถือเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่มีเทวดารายล้อม หรืออีกความหมายหนึ่งคือเทพนมแทนการเคารพบูชาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีการสร้างรูปแทนพระพุทธองค์ ด้วยพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในอาคารก็เป็นได้
กระเบื้องเชิงชายนี้พบที่เจดีย์หมายเลข ๑ (วัดปราสาทร้าง) ซึ่งพบหลักฐานการก่อสร้าง ๓ ระยะ ในระยะที่ ๑ และ ๒ พบฐานเจดีย์กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยทวารวดี ส่วนระยะสุดท้ายมีการสร้างเจดีย์ในสมัยอยุธยา เหนือฐานเจดีย์ในสมัยทวารวดี กำหนดอายุสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ หรือประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว และยังพบโบราณวัตถุในสมัยอยุธยา เช่น พระพุทธรูปหินทราย และภาชนะสำริด ซึ่งมีรูปแบบที่สามารถกำหนดอายุสอดคล้องกระเบื้องเชิงชายคือในสมัยอยุธยา แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของผู้คนยุคหลังจากสมัยทวารวดี
เอกสารอ้างอิง
ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี. พระนคร : ศิวพร, ๒๕๐๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 971 ครั้ง)