ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา สมัยทวารวดี
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา สมัยทวารวดี
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา จัดแสดง ณ อาคารจัดแสดง ๒ ชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา มีขนาดกว้าง ๑๐ เซนติเมตร สูง ๘.๒ เซนติเมตร พบเฉพาะส่วนเศียร ส่วนองค์พระชำรุดหักหายไป ชิ้นส่วนที่ปรากฏเป็นภาพพระเศียรของพระพุทธเจ้า ด้านหลังมีกรอบประภามณฑลรอบล้อมพระเศียร โดยพระพักตร์แสดงเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ได้แก่ อุษณีษะนูน พระเกศาขมวดเป็นเม็ดกลม พระพักตร์กลม พระนลาฏแคบ พระขนงทั้ง ๒ เชื่อมต่อกันเป็นเส้นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและเปลือกพระเนตรโปลน พระนาสิกค่อนข้างใหญ่ ริมพระโอษฐ์หนา มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างยกขึ้นแย้มพระสรวล ปลายพระกรรณทั้งสองยาว
รอบพระเศียรมีกรอบประภามณฑลรูปครึ่งวงกลม ภายในกรอบประภามณฑลมีการลงสีแดงอมส้ม ซึ่งพบพระพิมพ์ที่มีการลงสีลักษณะดังกล่าวที่เมืองฟ้าแดงสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ กรอบประภามณฑลมีลวดลายกนกสามเหลี่ยม น่าจะหมายถึงเปลวไฟ การทำกรอบประภามณฑลมีลวดลายเปลวไฟรอบพระเศียรของพระพุทธเจ้าในสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยปาละ ด้วยพระพักตร์ที่มีรูปแบบเฉพาะของศิลปะทวารวดี ประกอบกับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียที่ปรากฏ จึงกำหนดอายุในสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่เมืองคันธารวิสัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และบริเวณเมืองลพบุรี เป็นต้น พระพิมพ์ดังกล่าวหากมีสภาพสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ มีกลีบบัวมารองรับ และรอบพระเศียรมีประภามณฑลเปลวไฟ เป็นลักษณะพิมพ์ที่พบมากในเมืองโบราณแถบลุ่มแม่น้ำชี การพบพระพิมพ์รูปแบบคล้ายกันกระจายในเมืองโบราณที่ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดี น่าจะเกิดจากการเดินทางติดต่อระหว่างชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “พระพุทธรูปและพระพิมพ์ทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ไทย บัณฑิตวิทยาลัย ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
วิริยา อุทธิเสน. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำชีตอนกลาง กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ บันฑิตวิทยาลัย ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1049 ครั้ง)