...

เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง

         เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องจัดแสดงเมืองโบราณอู่ทอง อาคารจัดแสดง ๒ ชั้น ๑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         ชิ้นส่วนเศียรรูปเคารพสำริด มีพระเกศาทรงชฎามกุฎ เป็นผมเกล้าทรงสูงโดยถักเป็นมวย และปล่อยเส้นผมตกลงมาบางส่วน ด้านหน้าของมวยผมมีรูปบุคคลนั่งอยู่ในท่าสมาธิแต่รายละเอียดค่อนข้างลบเลือน พระพักตร์ยาว พระขนงต่อเป็นเส้นคล้ายปีกกา พระเนตรทั้ง ๒ เหลือบต่ำ พระนาสิกยาว โด่งเป็นสัน พระโอษฐ์อวบอิ่ม พระหนุสั้น พระกรรณทั้ง ๒ ยาว รูปแบบทางศิลปกรรมของเศียรพระโพธิสัตว์นี้ มีความสัมพันธ์กับรูปแบบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในศิลปะศรีวิชัย ที่เจริญอยู่บริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕  หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว

         เศียรประติมกรรมชิ้นดังกล่าวนี้ มีพระเกศาทรงทรงชฎามกุฎ ซึ่งมักปรากฏกับประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายาน และรูปนักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบกับรูปบุคคลที่อยู่ในท่านั่งสมาธิน่าจะหมายถึง พระพุทธเจ้าอมิตาภะ ซึ่งเป็น ๑ ในพระธยานิพุทธ ๕ พระองค์ ตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน โดยพระพุทธเจ้าอมิตาภะจะปรากฏในรูปของพระพุทธเจ้าทำปางสมาธิ ดังนั้นสันนิษฐานว่าเศียรประติมากรรมชิ้นดังกล่าวคือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เช่นเดียวกับประติมากรรมพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งพบในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนั้นยังมีการพบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ในเมืองโบราณวัฒนธรรมทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา การะเกตุ. “พระโพธิสัตว์ที่พบในเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก.” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาศิลปาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์  ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.. ศิลปะไทย ภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 382 ครั้ง)


Messenger