...

พระพิมพ์ดินเผาปางประทานพร จากเมืองโบราณอู่ทอง

         พระพิมพ์ดินเผาจำนวน ๒ ชิ้น พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

         พระพิมพ์ดินเผารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีภาพพระพุทธรูปยืนตริภังค์ โดยการยืนเอียงสะโพกไปทางด้านซ้าย หย่อนพระบาทขวา พระเศียรมีร่อยรอยนูนของอุษณีษะ รายละเอียดบนพระพักตร์ลบเลือน พระกรรณยาว เอียงพระศอเล็กน้อย รอบพระเศียรมีกรอบประภามณฑลเรียบ พระพุทธรูปทรงครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา จีวรเรียบแนบพระวรกาย พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับพระอุระ หันเข้าหาลำตัวอยู่ในท่าจับชายจีวร  พระหัตถ์ขวาทอดลง หงายฝ่าพระหัตถ์บริเวณพระโสณี ชายจีวรที่ตกลงมาจากพระกรซ้ายมีลักษณะเป็นแถบหนาและรอยยับย่นเสมือนจริง นอกจากนั้นบริเวณข้อพระบาทมีขอบสบงที่ยาวลงมากว่าชายจีวรเล็กน้อย บริเวณพระบาทมีฐานคล้ายกลีบบัวมารองรับ 

         รูปแบบศิลปกรรมของพระพิมพ์ดินเผาที่ปรากฏข้างต้น มีลักษณะที่สัมพันธ์กับรูปแบบของพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบหลังคุปะ เช่น พระพุทธรูปที่ถ้ำอชันตาหมายเลข ๑๙ ประเทศอินเดีย คือ การยืนตริภังค์เอียงสะโพก หย่อนพระบาทข้างหนึ่ง และเอียงพระศอเล็กน้อย พระพุทธรูปครองจีวรเรียบและไม่มีริ้ว สืบมาจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ สกุลช่างสารนาถ ส่วนการทำพระพุทธรูปยืนครองจีวรเฉียงนิยมในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ 

         การแสดงปางของพระพุทธรูปสันนิษฐานว่าแสดงปางประทานพร โดยพิจารณาจากพระหัตถ์ซ้ายที่ยกขึ้นมีจีวรคลุมตามรูปแบบที่นิยมในศิลปะอินเดีย พระหัตถ์ดังกล่าวนิยมจับชายจีวรไม่แสดงปาง ดังนั้นสันนิษฐานว่า พระหัตถ์ขวาที่วางทอดลง และหงายพระหัตถ์แสดงถึงปางประทานพร ซึ่งลักษณะการจับชายจีวรและการแสดงปางในแนวตรงข้ามเช่นนี้สืบมาจากอินเดียเหนือ โดยปรากฏต่อเนื่องมาจนถึงศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ ถือได้ว่าพระพิมพ์ดินเผาซึ่งพบที่เมืองโบราณอู่ทองชิ้นนี้มีความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปกรรมกับศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปยืนตริภังค์แสดงปางประทานพร ในศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร สะท้อนถึงรูปแบบพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะที่แพร่กระจายในพื้นที่วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรก่อนเมืองพระนคร จากรูปแบบพระพิมพ์ดินเผาที่ปรากฏสามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ - ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. พระพุทธรูปอินเดีย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.   

ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่า จีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 345 ครั้ง)