ประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑ สมัยทวารวดี จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปครุฑ กว้าง ๑๗ เซนติเมตร สูง ๑๔ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุด มีเพียงส่วนศีรษะและลำตัวท่อนบน ส่วนลำตัวท่อนล่าง ปีก และแขนขาหักหายไป ด้านหลังแบนเรียบมีอิฐติดอยู่ เนื้ออิฐมีรูพรุนที่เกิดจากการผสมแกลบข้าว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอิฐในสมัยทวารวดี ประติมากรรมมีลำตัวอวบอ้วน หน้าท้องใหญ่ ใบหน้ากลมแบน คิ้วเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา ตาโปนเหลือบต่ำ จมูกและปากแหลมยื่นยาวออกมาด้านหน้าคล้ายจะงอยปากนก ผมเรียบ สวมตุ้มหูที่มีลักษณะเป็นห่วงกลม มีส่วนบนเรียวเล็ก ส่วนล่างใหญ่และหนาซึ่งเป็นลักษณะตุ้มหูที่พบเป็นจำนวนมากตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี โดยพบเป็นตุ้มหูหล่อด้วยโลหะ และยังปรากฏในประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นรูปบุคคลในสมัยทวารวดีด้วย กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
สันนิษฐานว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นส่วนประกอบสำหรับตกแต่งสถาปัตยกรรม เนื่องจากเป็นประติมากรรมนูนสูงมีด้านหลังแบนเรียบ และมีอิฐติดอยู่ สอดคล้องกับเทคนิคการก่อสร้างสถาปัตยกรรมของช่างพื้นเมืองสมัยทวารวดีที่มักสร้างสถาปัตยกรรมด้วยอิฐ และนำประติมากรรมปูนปั้นหรือดินเผาที่เป็นภาพนูนสูงตกมาแต่งพื้นผิวภายนอก โดยประติมากรรมชิ้นนี้อาจประกอบเป็นภาพเล่าเรื่องของสถาปัตยกรรม หรืออาจประดับในช่องสี่เหลี่ยมบริเวณส่วนฐานของสถาปัตยกรรม ตามคติผู้พิทักษ์และค้ำจุนศาสนา ในลักษณะเดียวกับประติมากรรมรูปคนแคระแบกที่มีศีรษะเป็นสัตว์ ซึ่งพบที่โบราณสถานเขาคลังใน เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เป็นได้
นอกจากประติมากรรมชิ้นนี้ ยังพบประติมากรรมรูปครุฑสำหรับประดับสถาปัตยกรรมตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีแห่งอื่น เช่น ประติมากรรมดินเผารูปครุฑจากเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี และประติมากรรรมปูนปั้นรูปครุฑ พบที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
วรพงศ์ อภินันทเวช. “ประติมากรรมคนแคระในวัฒนธรรมทวารวดี: รูปแบบและความหมาย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 413 ครั้ง)