ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุคคล สมัยทวารวดี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุคคล พบบริเวณศาลเจ้าพ่อพระยาจักร อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ อาคารจัดแสดง ๒ ชั้นที่ ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมปูนปั้นรูปศีรษะบุคคล กว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๓๑ เซนติเมตร เป็นประติมากรรมลอยตัว พบเพียงส่วนศีรษะ ลักษณะใบหน้าค่อนข้างเหลี่ยม หน้าผากกว้าง คิ้วเป็นสันนูน ยาวต่อกันเป็นทรงปีกกา ดวงตาโปนกลมโต คล้ายกำลังถลึงตา จมูกใหญ่ ปากหยักกว้าง ริมฝีปากหนา มีเส้นขอบปาก และเหนือริมฝีปากบนปรากฏหนวด คางค่อนข้างสั้น ปลายคางหยัก บริเวณศีรษะปรากฏเส้นกรอบกระบังหน้าโค้งแสดงถึงการประดับศิราภรณ์บนศีรษะ
ลักษณะใบหน้าของประติมากรรมรูปศีรษะบุคคลนี้ แสดงถึงสุนทรียภาพและความนิยมแบบพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดี ได้แก่ การทำคิ้วต่อเป็นเส้นปีกกา ตาโปน จมูกใหญ่ ปากหนา นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลศิลปะเขมรร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ มีหนวดเหนือริมฝีปาก ซึ่งเป็นลักษณะที่มักพบในเทวรูป และประติมากรรมรูปยักษ์ ปรากฏในศิลปะเขมรตั้งแต่สมัยไพรกเมง-กำพงพระ (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) และปรากฏในประติมากรรม ศิลปะทวารวดี เช่น พระพุทธรูปสำริด พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง จึงกำหนดอายุประติมากรรมชิ้นนี้ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว
สันนิษฐานว่าประติมากรรมรูปศีรษะบุคคลนี้ จัดอยู่ในกลุ่มทวารบาล อาจเป็นยักษ์หรืออสูร ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์ศาสนสถาน เนื่องจากมีใบหน้าที่ถมึงทึงน่าเกรงขาม มีการประดับศิราภรณ์บนศีรษะซึ่งแสดงถึงการเป็นบุคคลสำคัญ อีกทั้งเป็นประติมากรรมลอยตัวสามารถตั้งบริเวณประตูหรือทางเข้าของศาสนาสถานได้ นอกจากประติมากรรมชิ้นนี้แล้ว ในวัฒนธรรมทวารวดียังพบทวารบาลดินเผารูปยักษ์ ที่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๖๔.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรงเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 657 ครั้ง)