...

แผ่นดินเผารูปกินรี พบจากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง

       แผ่นดินเผารูปกินรี พบจากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง

       แผ่นดินเผารูปสัตว์ผสม พบจากเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงห้องโบราณคดีเมืองอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

       แผ่นดินเผาขนาดกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๒๓.๕ เซนติเมตร ประติมากรรมมีสภาพชำรุด ชิ้นส่วนหักหายและรายละเอียดลบเลือนบางส่วน ด้านหน้าเป็นภาพนูนต่ำ นักวิชาการส่วนใหญ่ตีความว่า หมายถึงรูปกินรี ซึ่งเป็นอมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นสัตว์ผสมระหว่างคนกับนก โดยมีใบหน้าเป็นคนสวมเครื่องประดับศีรษะ อยู่ในท่าเคลื่อนไหว เอียงศีรษะ แขนขวากางออกไปทางด้านหลัง มีผ้าคล้องคอและแขน ลำตัวโค้ง ยกขาซ้ายเหยียดไปด้านหลัง ส่วนหางหรืออาจเป็นปีกแผ่ไปทางด้านหลัง ด้านหลังของแผ่นดินเผาแบนเรียบ มีร่องรอยแกลบข้าวในเนื้อดิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐ หรือประติมากรรมดินเผาที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว  

       เนื่องจากประติมากรรมดินเผาชิ้นนี้มีรายละเอียดลบเลือนบางส่วน ทำให้นักวิชาการบางท่านเสนอว่า เมื่อพิจารณาจากส่วนล่าง ลำตัวและขา พบว่าน่าจะเป็นลักษณะของสิงห์มากกว่านก ดังนั้นแผ่นดินเผาชิ้นนี้อาจเป็นรูปนรสิงห์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสิงห์ที่มีใบหน้าเป็นคน ก็เป็นได้ 

       สันนิษฐานว่าแผ่นดินเผานี้ใช้สำหรับประดับส่วนฐานของเจดีย์ ในลักษณะเดียวกับประติมากรรมรูปคนแคระแบกที่พบทั่วไปตามศาสนสถานในเมืองโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งอาจใช้ประกอบอยู่กับภาพเล่าเรื่อง หรือใช้ประดับฐานเจดีย์ก็เป็นได้ 

       นอกจากแผ่นดินเผารูปกินรีชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปกินรีและกินนร ทำจากดินเผาหรือปูนปั้นสำหรับประดับศาสนสถานตามเมืองโบราณอื่น ๆ สมัยทวารวดี ด้วย เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนรกำลังเล่นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายพิณเปี๊ยะ พบจากเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินรี พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และยังพบเครื่องประดับทองคำรูปกินรีที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕.

ดวงกมล  อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 274 ครั้ง)


Messenger