...

โบราณวัตถุที่พบจากกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง

       โบราณวัตถุที่พบจากกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน  เมืองโบราณอู่ทอง 

       กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน ตั้งอยู่เชิงเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคอก นอกคูเมืองโบราณอู่ทอง ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร พบโบราณสถานทั้งหมด ๒๐ กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยโบราณสถานที่สร้างเป็นคันดิน และโบราณสถานที่สร้างด้วยโครงสร้างอิฐ 

ศิลาแลง และหิน

       กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินที่สร้างเป็นคันดินมีทั้งหมด ๔ แห่ง ลักษณะเป็นคันดินคล้ายอ่างเก็บน้ำ  เดิมเชื่อว่าเป็นคอกขังช้างหรือเพนียดคล้องช้าง แต่ปัจจุบันพบหลักฐานจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พบว่าสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากเขาคอกทางทิศเหนือ 

       โบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ ศิลาแลง และอิฐ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาคอก ปัจจุบันปรากฏเป็นเนินดิน แบ่งเป็นกลุ่มได้ ๑๖ กลุ่ม ส่วนมากยังไม่ได้ขุดศึกษา โบราณสถานคอกช้างดินที่สร้างด้วยอิฐ ศิลาแลง และอิฐ 

       ซึ่งผ่านการดำเนินงานทางโบราณคดีมาแล้วและพบหลักฐานที่สำคัญ มีดังนี้

         • โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๕ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เอกมุขลึงค์ 

         • โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ขันสำริด เชิงเทียนสำริด ตุ้มเหล็ก และแท่งเหล็ก เป็นต้น 

         • โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๗ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ภาชนะดินเผาบรรจุแท่งเงินตัด เหรียญเงินมีจารึก "ศรีทวารดี ศวรปุณยะ" เหรียญเงินมีสัญลักษณ์มงคล (รูปหอยสังข์ รูปศรีวัตสะ รูปพระอาทิตย์) ชิ้นส่วนหัวงูดินเผา เครื่องถ้วยจีน เคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์ถัง เป็นต้น 

         • โบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ แผ่นเหล็กคล้าย ใบมีดเหล็ก แหวนสำริด แม่พิมพ์หรือเบ้าหลอมดินเผา เป็นต้น 

         • โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๑๘ ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ กระปุกดินเผาบรรจุเหรียญเงิน เป็นต้น

       โบราณวัตถุที่สำคัญมี ดังนี้

         o ชิ้นส่วนภาชนะมีพวย เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินส่วนปาก คอ และบ่า มีพวยหนึ่งข้าง สันนิษฐานว่าป็นภาชนะสำหรับใช้สรงน้ำในพิธีกรรม โบราณวัตถุชิ้นนี้พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๓

         o ศิวลึงค์ เป็นศิวลึงค์ที่ทำจากหินขนาดสูง เพียง ๑๘.๕ เซนติเมตร ส่วนฐานเป็น แท่งสี่เหลี่ยมส่วนปลายเป็นแท่งกลมมน เนื่องจากเป็นศิวลึงค์ขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานว่าอาจไม่ใช่ศิวลึงค์ประจำ ศาสนสถาน แต่สามารถพกพาเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมหรือบูชาได้

         o ภาชนะดินเผาบรรจุเหรียญเงินตราสังข์ เป็นภาชนะดินเผา ส่วนลำตัวคล้ายบาตรพระ ส่วนคอแคบสูง ภายในบรรจุเหรียญ เงินตราสังข์เต็มกระปุก พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๘

         o ขัน เป็นขันสำริดทรงกระบอก เนื้อหนาผิวไม่สม่ำเสมอ สันนิษฐานว่าขึ้นรูปด้วยการตี และเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรม โบราณวัตถุชิ้นนี้พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖

         o เชิงเทียน เป็นเชิงเทียนสำริด สันนิษฐานว่าขึ้น รูปด้วยการตี และเป็นเครื่องใช้ ในพิธีกรรม พบจากโบราณสถาน คอกช้างดิน หมายเลข ๖

         o ตุ้มเหล็กเป็นตุ้มเหล็กรูปสี่เหลี่ยมคางหมู สภาพไม่สมบูรณ์ มีสนิมกินทั้งชิ้น ไม่ทราบลักษณะการใช้งาน แต่สันนิษฐานว่าเป็นตุ้มถ่วงชั่งน้ำหนัก พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖

         o แท่งเหล็ก เป็นแท่งเหล็กเรียวยาวสภาพไม่สมบูรณ์ มีสนิม ไม่ทราบลักษณะ การใช้งานแต่สันนิษฐานว่าเป็นคานที่ใช้กับเครื่องชั่งน้ำหนัก เนื่องจากพบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๖ ใกล้กับตุ้มเหล็ก

         o ใบมีด เป็นแผ่นเหล็กแบนยาว ด้านหนึ่งบางกว่าอีกด้าน คล้ายกับใบมีด มีสนิมเกาะทั้งแผ่น พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓

         o แหวน เป็นเส้นลวดขดเกลียวเป็นเส้น และขดเป็นวงแหวน ไม่ทราบ ลักษณะการใช้งานที่แท้จริง สันนิษฐานว่าอาจเป็นของใช้ในพิธีกรรม พบจากโบราณสถานคอกช้างดิน หมายเลข ๑๓

         o เบ้าหลอมเป็นแผ่นดินเผา มีหลุมตรงกลาง สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมหรือ แม่พิมพ์ พบจากโบราณสถาน คอกช้างดิน หมายเลข ๑๓

       โบราณสถานคอกช้างดิน มีทั้งส่วนที่คันดินสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และส่วนที่เป็นอาคารศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจากพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย สัมพันธ์กับการเลือกใช้ภูเขาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเปรียบเสมือนเขาไกรลาศ ที่ประทับของพระศิวะ พื้นที่บริเวณคอกช้างดินจึงน่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำพิธีกรรมของพราหมณ์ในไศวนิกาย

 

ที่มาข้อมูล 

กรมศิลปากร. โบราณคดีคอกช้างดิน. กรุงเทพฯ : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 362 ครั้ง)


Messenger