...

ระฆังสำริดสมัยอยุธยา ที่พบในจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนที่ ๒ (ระฆังจากวัดป่าพฤกษ์)

        ระฆังสำริดมีจารึก 

        ศิลปะอยุธยา พุทธศักราช ๒๒๔๐

        ปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดป่าพฤกษ์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

        ระฆังทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๐ ซม. สูง ๗๒ ซม. มีห่วงกลมสำหรับแขวน ตกแต่งเป็น

        รูปเศียรนาค ๔ เศียร ตัวระฆังมีแถบคาดทั้งแนวตั้งและแนวนอน จุดตัดขอบแถบคาดทำเป็นปุ่มกลม 

        ปากระฆังผายออก มีตัวอักษรหล่อนูนระบุประวัติและศักราชการสร้างเป็นอักษรไทยอยุธยา ภาษาไทย บริเวณแถบแนวนอน จำนวน ๓ บรรทัด อ่านโดยนายบุญนาค สะแกนอก นักภาษาโบราณ ๕ ตรวจสอบ อ่าน แปลโดยนางสาวเอมอร เชาว์สวน นักภาษาโบราณเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔ 

        คำจารึก “๑. พุทะสักราด ๒๒๔๐ปีเสดสังขะหยา ๗ เดีอนกับวัน ๑ มะหาสี วิเชียนไดสางรํคังไวกับไนพระ

                      ๒. สาดห้นาเปนทองเจดสิบชัง หีมนพิจีดนิระมํนยูตำบํนละ ชองลํมไดหํลอๆวันสุกเดีอน อายแรมคำนีงปีชํหุลนัพะสํก

                      ๓. ไดเรีก ๓๒ ชัน”

       คำอ่าน “๑. พุทธศักราช ๒๒๔๐ ปี เศษสังขยา ๗ เดือน กับวัน ๑ มหาศรี วิเชียรได้สร้างระฆังไว้กับในพระ

                    ๒. ศาสนา เป็นทองเจ็ดสิบชั่ง หมื่นพิจิดนิระมนอยู่ตำบลละ ชองลมได้หล่อ หล่อวันศุกร์ เดือน อ้าย แรมค่ำหนึ่ง ปีฉลู นพศก

                    ๓. ได้ฤกษ์ ๓๒ ชั้น” 

        เนื้อความจารึกบนระฆังจากวัดป่าพฤกษ์สามารถให้ข้อมูลได้ว่า ระฆังใบนี้สร้างโดยขุนนางและพระเถระผู้ใหญ่ในปีพุทธศักราช ๒๒๔๐ ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ระฆังใบนี้จึงเป็นตัวอย่างรูปแบบระฆังสำริดที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการช่างในการหล่อระฆังและการจารึกข้อความเป็นตัวอักษรนูนต่ำ 

        นอกจากนี้ยังพบระฆังซึ่งมีจารึกระบุศักราชชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีกสองแห่ง อันได้แก่ วัดโพธิ์คลาน และวัดพระรูป อาจสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการสร้างระฆังเพื่อถวายในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูป และสะท้อนให้เห็นว่าเมืองสุพรรณบุรียังคงเป็นเมืองที่ค่อนข้างมีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย

(จำนวนผู้เข้าชม 646 ครั้ง)


Messenger