ประติมากรรมรูปคนแคระ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมรูปคนแคระ สมัยทวารวดี
ประติมากรรมรูปคนแคระ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปคนแคระ กว้าง ๑๘ เซนติเมตร สูง ๒๓ เซนติเมตร มีใบหน้ากลมแบน คิ้วเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา ตาโปนเหลือบต่ำ จมูกแบนใหญ่ ปากกว้างอมยิ้ม ผมเรียบ สวมตุ้มหูทรงกลมแบนขนาดใหญ่ ซึ่งลักษณะใบหน้าและการสวมตุ้มหูรูปแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่พบในประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นรูปบุคคล ยักษ์ และคนแคระในสมัยทวารวดี ลำตัวอวบอ้วนมีหน้าท้องใหญ่ อยู่ในท่านั่งชันเข่า แยกขา วางมือบนหัวเข่า แขนขวาและขวาขวาหักหายไป กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
ประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม โดยประดับอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมบริเวณส่วนฐานของอาคาร ตามคติผู้พิทักษ์และค้ำจุนศาสนา จึงนิยมเรียกว่า “คนแคระแบก” การประดับประติมากรรมรูปคนแคระที่ส่วนฐานหรือส่วนอื่น ๆ ของสถาปัตยกรรมปรากฏมาแล้วในศิลปะอินเดีย และส่งอิทธิพลทางด้านรูปแบบ และคติการสร้างให้งานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น
นอกจากประติมากรรมชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปคนแคระได้ทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี โดยพบทั้งประติมากรรมปูนปั้นและดินเผา มีลักษณะร่วมกันคือเป็นบุคคลมีรูปร่างอวบอ้วน สวมตุ้มหูทรงกลมขนาดใหญ่ นั่งชันเข่า แยกขา แสดงท่าแบกโดยมีทั้งแบบที่ยกมือทั้งสองข้างขึ้นแบก และวางมือทั้งสองข้างบนเข่าโดยใช้ไหล่แบกรับน้ำหนัก ส่วนมากมีศีรษะเป็นคน พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี และเมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นสัตว์ เช่น สิงห์ ลิง วัว ด้วย แต่มีจำนวนไม่มากนัก พบที่โบราณสถานเขาคลังใน เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
วรพงศ์ อภินันทเวช. “ประติมากรรมคนแคระในวัฒนธรรมทวารวดี: รูปแบบและความหมาย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 1632 ครั้ง)