แผ่นดินเผามีจารึกคาถาทางพระพุทธศาสนา จากเมืองโบราณอู่ทอง
แผ่นดินเผามีจารึกคาถาทางพระพุทธศาสนา จากเมืองโบราณอู่ทอง
แผ่นดินเผามีจารึกคาถาทางพระพุทธศาสนา พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
แผ่นดินเผาทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๕ เซนติเมตร ยาว ๖ เซนติเมตร ชำรุดหักหายไปครึ่งหนึ่ง มีจารึกทั้ง ๒ ด้าน เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว อ่านและแปลโดยนายประสาร บุญประคอง ด้านที่ ๑ มีจารึก ๔ บรรทัด ดังนี้
บรรทัดที่ ๑ เย ธมฺมา เห
บรรทัดที่ ๒ เตสํ เหตุํ
บรรทัดที่ ๓ เตสญฺจ โย
บรรทัดที่ ๔ เอวํ วาที ม
ข้อความจารึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของคาถาเย ธมฺมา ความว่า “เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เยสํ เหตุํ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ” แปลว่า “ธรรมะคือสิ่งทั้งหลาย เกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมะคือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และความดับของธรรมะคือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้”
ด้านที่ ๒ มีจารึก ๓ บรรทัด ดังนี้
บรรทัดที่ ๑ ทุกฺขํ ทุกฺขสมุ
บรรทัดที่ ๒ กกฺมํ อริย
บรรทัดที่ ๓ ทุกฺขูปสม
ข้อความจารึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของคาถาในพระพุทธศาสนาความว่า “ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ” แปลว่า “ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางดับทุกข์”
แผ่นดินเผามีจารึกนี้ สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อเผยแผ่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา พบจารึกคาถาทางพระพุทธศาสนาบทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนโบราณวัตถุ ตามเมืองโบราณสมัยทวารวดีจำนวนมาก ในจำนวนนี้คาถาที่พบมากคือ คาถาเย ธมฺมา พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น โดยพบทั้งบนสถูปจำลองดินเผา ยอดสถูปศิลา พระพิมพ์ดินเผา และแผ่นอิฐ
แผ่นดินเผานี้ แม้จะอยู่ในสภาพชำรุด ทำให้ข้อความจารึกไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้กับผู้คนบริเวณเมืองโบราณอู่ทองเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔). กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙.
ประสาร บุญประคอง “จารึกบนแผ่นดินเผา และที่ฐานพระพุทธรูป ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี” ศิลปากร ๑๐, ๑ (พฤษภาคม ๒๕๑๙) : ๘๑ – ๘๓.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 693 ครั้ง)