อิฐซึ่งตกแต่งด้วยลวดลายจากนิ้วมือของช่างสมัยทวารวดี
อิฐซึ่งตกแต่งด้วยลวดลายจากนิ้วมือของช่างสมัยทวารวดี
พบจากโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) เมืองโบราณอู่ทอง
อิฐมีการตกแต่งด้วยรอยลูบจากนิ้วมือ พบจากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี จัดแสดงอาคารจัดแสดง ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ก้อนอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๒๑ เซนติเมตร ยาว ๓๑.๕ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร เนื้ออิฐมีรูพรุน เห็นร่องรอยแกลบข้าวในเนื้ออิฐ บนผิวหน้าอิฐมีการตกแต่งด้วยรอยลูบจากนิ้วมือ ส่วนปลายทั้งสองด้านตกแต่งด้วยเทคนิคเดียวกันโดยทำเป็นร่องยาว ๒ เส้นขนานกันตามด้านกว้างของหน้าอิฐ และมีรอยลูบเป็นร่องโค้งคล้ายเกือกม้า ๓ เส้นขนานกัน โดยมีส่วนปลายทั้งสองเชื่อมติดกับรอยลูบที่เป็นร่องยาว ๒ เส้นขนานกัน กำหนดอายุสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
อิฐที่ตกแต่งลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๔ (บ้านศรีสรรเพชญ์ ๓) จำนวนหลายชิ้น แต่จะมีรอยลูบบนผิวหน้าอิฐในลักษณะแตกต่างกัน พบทั้งลวดลายที่เป็นเส้นตรง เส้นทแยง เส้นโค้ง เส้นคลื่น รอยเหล่านี้เกิดจากการลูบด้วยนิ้วมือในขณะที่อิฐยังไม่แห้งก่อนนำไปเผาให้สุก นอกจากพบที่เมืองโบราณอู่ทองแล้ว ยังพบอิฐที่ตกแต่งแบบนี้ตามเมืองโบราณในสมัยทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และยังพบตามเมืองโบราณในวัฒนธรรมปยู-มอญ ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับทวารวดี เช่น เมือง ไบร์ถาโนก์ เมืองศรีเกษตร เมืองฮาลิน เมืองสะเทิม และเมืองพะโค ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในปัจจุบัน แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนจากทั้งสองวัฒนธรรม หรืออาจเกิดจากการรับรูปแบบมาจากแหล่งเดียวกันคืออินเดียก็เป็นได้
นักวิชาการสันนิษฐานว่าการตกแต่งผิวหน้าของอิฐด้วยการลูบด้วยนิ้วมือ อาจเพื่อช่วยในการยึดติดกันระหว่างอิฐแต่ละก้อน หรืออาจใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคนผู้ผลิตอิฐหรือเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ทั้งยังอาจใช้เป็นสัญลักษณ์ในการนับจำนวนอิฐก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๙.
วิภาดา อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 620 ครั้ง)