...

ประติมากรรมดินเผารูปช้าง

      พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 

     จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     ประติมากรรมดินเผารูปช้าง ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร สูง ๗ เซนติเมตร ช้างมีหน้าผากกว้าง ใบหูลู่ลง งวงยาวม้วนงอ งาทั้งสองข้างหักหายไป ส่วนหลังโค้ง หางยาวจรดพื้น ช้างอยู่ในท่าหมอบ ขาหน้าและขาหลังย่อลง ส่วนฐานทรงกลมตกแต่งเป็นรอยขีดลงบนรูปทรงฐานแบบบัวคว่ำบัวหงาย ระหว่างขาหน้าและขาหลังทั้งสองด้านเจาะรูกลมทะลุถึงกัน อาจใช้สำหรับร้อยเชือก ประติมากรรมรูปช้างชิ้นนี้แสดงลักษณะทางกายวิภาคและท่าทางที่ค่อนข้างสมจริงตามธรรมชาติ

     ช้างเป็นสัตว์มงคลที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ – ฮินดู ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีผิวกายสีเทาเหมือนเมฆฝน จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม ประติมากรรมรูปช้างพบมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณโดยประกอบอยู่กับประติมากรรมรูปคชลักษมี ประดับที่ประตูและรั้วล้อมรอบศาสนสถาน ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีพบประติมากรรมรูปช้างจำนวนมาก ทั้งประติมากรรมปูนปั้นประดับ     ฐานศาสนสถาน ตราดินเผา ลวดลายประทับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และยังพบประกอบอยู่กับประติมากรรมรูปคชลักษมีด้วย 

     นอกจากประติมากรรมดินเผารูปช้างชิ้นนี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบประติมากรรมรูปสัตว์อื่น ๆ เช่น สิงห์ เต่า รวมถึงประติมากรรมรูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ ประติมากรรมรูปคชลักษมีและราชยลักษมี ซึ่งมีฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับ และมีการเจาะรูกลมทะลุถึงกัน บางชิ้นมีส่วนเดือยทรงกระบอกกลมรองรับส่วนฐานบัวอีกชั้นด้วย สันนิษฐานว่าส่วนเดือยใต้ฐานประติมากรรมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุกภาชนะ และประติมากรรมดินเผาเหล่านี้ประดับอยู่บนจุกดินเผา ซึ่งใช้อุดปากภาชนะประเภทปากแคบหรือขวดที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูงก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.

ดวงกมล  อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.

ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 958 ครั้ง)