...

ประติมากรรมดินเผารูปบุคคลต่อสู้กัน

      พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 

      จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

     ประติมากรรมดินเผา ขนาดกว้าง ๔.๕ เซนติเมตร สูง ๖ เซนติเมตร เป็นรูปบุคคล ๒ คน รองรับด้วยฐานบัวทรงกลมที่มีลายกลีบบัวหงาย หากประติมากรรมชิ้นนี้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นรูปบุคคล ๒ คน หันหน้าสลับกัน ซึ่งเมื่อพิจารณามีรายละเอียด ดังนี้

     รูปบุคคลที่ ๑ อยู่ด้านล่างในท่าโก้งโค้ง ปลายเท้าอยู่สูงจากพื้น ลำตัวเอนลงมาด้านหน้า คางแนบกับพื้น มีใบหน้ากลม คิ้วต่อกันเป็นปีกกา ตาโปน จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา อมยิ้ม ใบหูยาวเจาะติ่งหูเป็นร่องยาว รายละเอียดส่วนลำตัวกะเทาะหักหายไป สวมโจงกระเบนสั้นมีเข็มขัดผ้าขมวดเป็นเกลียวคาดอยู่ที่เอว ด้านหลังมีลวดลายคล้ายเปลวไฟ 

     รูปบุคคลที่ ๒ ยืนคร่อมอยู่ด้านบนบุคคลที่ ๑ รายละเอียดส่วนใหญ่ชำรุดหักหายไป เหลือเฉพาะส่วนปลายเท้าทั้งสองข้างเหยียบอยู่ที่พื้น ปลายเท้าชี้สลับด้านกับบุคคลที่ ๑ มีแนวรอยแตกของส่วนลำตัวอยู่กลางหลังบุคคลที่ ๑ และยังปรากฏมือทั้งสองข้างสอดไปจับบั้นท้ายเพื่อยกลำตัวของบุคคลที่ ๑ ให้ลอยขึ้น

     ประติมากรรมดินเผาชิ้นนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพบุคคลกำลังทำโยคะ หรือเป็นเป็นรูปบุคคลกำลังต่อสู้กัน ซึ่งน่าจะหมายถึงการเล่นมวยปล้ำ โดยประติมากรรมรูปบุคคลเล่นมวยปล้ำพบมาแล้วในศิลปะอินเดีย ซึ่งมักทำเป็นประติมากรรมดินเผาหรือภาพสลักหินเพื่อประดับศาสนสถาน โดยทำเป็นภาพบุคคล ๒ คนกอดรัดต่อสู้กัน ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีพบประติมากรรมรูปบุคคลต่อสู้กันไม่มากนัก นอกจากประติมากรรมที่พบจากเมืองโบราณอู่ทองชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปบุคคล ๒ คน อยู่ในท่ากอดรัดคล้ายกำลังต่อสู้กัน มีบุคคลหนึ่งสวมโจงกระเบนสั้นมีเข็มขัดผ้าขมวดเป็นเกลียวและมีฐานบัวรองรับ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี

     ประติมากรรมรูปบุคคลกำลังต่อสู้กันชิ้นนี้ผลิตขึ้นด้วยฝีมือประณีต การทำฐานบัวรองรับ ทำให้นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา และการทำประติมากรรมดินเผาบนฐานลักษณะเช่นนี้ มีความคล้ายคลึงกับประติมากรรมดินเผาประดับจุกสำหรับปิดภาชนะปากแคบหรือขวดที่มีความสำคัญ ซึ่งอาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือความเชื่อ ซึ่งพบหลากหลายรูปแบบในเมืองโบราณอู่ทอง กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว   

 
   

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

อนุสรณ์ คุณประกิจ. “การศึกษาคติและรูปแบบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดีที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 829 ครั้ง)


Messenger