ตราประทับรูปกระต่าย
นายผดุง เปลี่ยนดี ปลัดอำเภอโท อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มอบให้เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
จัดแสดงห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ตราประทับดินเผารูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีด้ามจับเป็นทรงกรวยแหลม ยาวประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร ส่วนปลายเจาะรูกลม สันนิษฐานว่าใช้สำหรับสำหรับร้อยเชือกเพื่อพกพานำติดตัว ผิวหน้าเป็นภาพกระต่ายมองเห็นด้านข้าง โดยกระต่ายหันหน้าไปทางด้านขวา กระต่ายมีหูยาว ตากลม หางกลมสั้น อยู่ในท่าหมอบ ประกอบอยู่กับลวดลายคล้ายพรรณพฤกษาหรืออาจเป็นลายเปลวไฟภายในกรอบวงกลมที่มีล้อมรอบด้วยลายเม็ดประคำ ลวดลายทั้งหมดนี้เป็นร่องลึกลงไป สำหรับนำไปกดประทับบนวัสดุ เช่น ดินเหนียว เพื่อให้เกิดรอยประทับนูนขึ้นมาบนผิววัสดุนั้น
กระต่าย เป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเนื่องในพุทธศาสนา โดยปรากฏในชาดกเรื่อง “สสปัณฑิตชาดก” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคุณธรรมของกระต่ายที่เสียสละชีวิตเป็นอาหารให้เป็นทานแก่ผู้อื่น กระต่ายจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรม นอกจากนี้ในวัฒนธรรมอินเดียกระต่ายยังเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการเมืองหรือประชาชนด้วย
ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีพบรูปกระต่ายไม่มากนัก นอกจากตราประทับชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปกระต่ายบนฐานบัวซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นส่วนประดับบนจุกภาชนะดินเผา จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ประติมากรรมปูนปั้นรูปกระต่าย ใช้ประดับ ศาสนสถาน พบจากตำบลโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และยังพบเหรียญเงินซึ่งด้านหนึ่งมีรูปกระต่ายบนฐานบัวส่วนอีกด้านเป็นรูปศรีวัตสะด้วย
ตราประทับรูปกระต่ายนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตราประทับที่พ่อค้า หรือนักเดินทาง พกติดตัวเข้ามาหรืออาจผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคลหรือกลุ่มคน อาจเกี่ยวข้องกับศาสนา หรือใช้เป็นเครื่องรางก็เป็นได้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
เอกสารอ้างอิง
ณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด. (๒๕๖๑). สัตว์สัญลักษณ์บนเหรียญเงินทวารวดี. สืบค้น ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ จาก http ://coinmuseum.treasury.go.th /news_view.php?nid=149.
ดวงกมล อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.
อนุสรณ์ คุณประกิจ. “การศึกษาคติและรูปแบบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดีที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 1167 ครั้ง)